เมื่อเวลา 20.00 น. วันที่ 21 มิ.ย. 2565 ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือ โทนี่ วู้ดซัม (Tony Woodsome) แสดงทัศนะผ่านรายการ CareTalk x CareClubHouse ภายใต้หัวข้อ ‘เศรษฐกิจพังยับ ประยุทธ์รับมือไม่ไหว’ โดยในช่วงต้นระบุถึงวันนี้ (21 มิ.ย.) ที่ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งบังเอิญตรงกับวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวนานที่สุด "ภาษาอังกฤษเรียกกันว่า Solstice หรือบ้านเราเรียก อะไรนะ ครีษมายัน ผมก็เรียกภาษาพวกนี้ไม่ค่อยถูก ภาษาอังกฤษก็ไม่ดี ภาษาไทยก็เริ่มเสีย อยู่เมืองนอกนาน กลับบ้านดีกว่านะ”
โทนี่ อ้างผลสำรวจจาก สถาบันจัดอันดับศักยภาพในการแข่งขัน (IMD) ปีนี้ไทยหล่นลงมา 5 อันดับ จากอันดับที่ 28 มาเป็นอันดับที่ 33 ขณะที่หลายประเทศไต่อันดับสูงขึ้น เช่น สิงคโปร์ อยู่ที่อันดับ 3 และไต้หวัน อยู่ที่อันดับ 5 สะท้อนว่าประเทศไทยมีปัญหา โดยเฉพาะระบบราชการ เป็นสิ่งที่ฝ่ายประชาธิปไตยต้องแก้ไข หลังจากจมกับระบอบเผด็จการมานาน สิ่งสำคัญคือควรเร่งเตรียมความพร้อมเยาวชนให้มีทักษะทัดเทียมกับในหลายประเทศ
โทนี่ ยังได้อ้างคำกล่าวของ Adena Friedman ผู้บริหาร Nasdaq ตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ซึ่งให้ทัศนะว่า อีก 30 ปีข้างหน้า ระบบการซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ของโลกจะเปลี่ยนสู่ดิจิทัล สินทรัพย์ทั้งหมดจะถูกทำให้เป็นดิจิทัล การแลกเปลี่ยนจะเป็นโลกาภิวัฒน์ มีตลาดกลางของโลก เป็นความสำคัญที่ต้องสอนเยาวชนให้รู้จัก Digitize Assets คล้ายกับที่ตนเคยทำครั้งเป็นนายกฯ คือเปลี่ยนสินทรัพย์ให้เป็นทุน ซึ่งเป็นแนวคิดในยุคอนาล็อก แต่โลกปัจจุบันรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว
สำหรับปัญหาเงินเฟ้อที่สืบเนื่องมาจากวิกฤตพลังงานและอาหาร สร้างความกังวลไปทั่วโลก สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน อาจยืดเยื้อยาวนานหลายปี นักลงทุนต่างเก็บสินทรัพย์ไว้กับตัว ส่งผลให้หุ้นดิ่งตก โทนี่ แนะนำว่า ไม่ขายไม่ขาดทุน ควรเก็บไว้ก่อน แม้ราคาหุ้นกำลังต่ำก็อย่าเพิ่งรีบร้อนซื้อ เพราะราคาจะยังไม่ขึ้นอย่างพรวดพราด ตราบที่สถานการณ์สงครามยังทรงตัว แต่ที่แน่นอนคือน่าจะสไลด์ลงมากกว่าขึ้น แต่โดยสรุปคือ กอดเงินสดเอาไว้ เพราะ “Cash is King now. (ตอนนี้เงินสดคือพระราชา)”
ธปท.กดดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ กลางปีส่ออันตราย
ด้าน ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร อธิบายถึงภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทย โดยชี้ว่าในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ตัวเลขจีดีพีของไทยยังไม่ขยายตัว จะเห็นได้ว่ารัฐบาลกู้เงินในอนาคตมาอุ้มให้เศรษฐกิจทรงตัวได้ เท่ากับเศรษฐกิจไทยอ่อนแอมาตั้งแต่ก่อนช่วงโควิด-19 แล้ว ขณะที่ปัจจุบันก็ประสบปัญหาค่าเงินบาทอ่อนตัว เพียงเดือนนี้ก็อ่อนตัวลงแล้ว 3% เหตุจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่กล้าขึ้นดอกเบี้ย จนดอกเบี้ยของไทยห่างจากสหรัฐฯ มาก ซึ่งจะส่งผลกระทบตามมา เนื่องจากทำให้เงินไหลออกจากประเทศอย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด ธปท.ต้องยอมขึ้นดอกเบี้ย
“พอขึ้นดอกเบี้ยก็ผีซ้ำกรรมซัด เพราะเงินเฟ้อก็ยังไม่ได้แก้ เงินบาทก็ยังอ่อน แต่ต้องขึ้นดอกเบี้ยไปด้วย ก็เรียนตรงๆ ว่าเป็นห่วง มองไปประมาณกลางปีหน้าเศรษฐกิจไทยน่าจะสาหัสไม่น้อย เพราะตอนปลายปีนี้กับต้นปีหน้าเรายังหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่หลังจากนั้นเป็นหน้าแล้ว จะไม่มีตัวขับเคลื่อนอะไร ผลกระทบต่างๆ จากราคาอาหารแพง ราคาสินค้าที่ปรับขึ้นเต็มที่ และค่าดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นไป 1% จากตอนนี้หรือมากกว่า จะประดังเข้ามาพร้อมๆ กัน” ศุภวุฒิ กล่าว
ขณะที่ โทนี่ มองว่า สถานการณ์นี้ตรงข้ามกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ช่วงปี 2541 ซึ่งตอนนั้นไทยคงดอกเบี้ยในประเทศสูงกว่าสหรัฐฯ ค่าเงินบาทจึงแข็งตัว ส่งผลให้นักลงทุนหลายประเทศเทเงินมาฝากในไทยเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการเก็งกำไรมากเข้า เงินจึงไหลออก ทำให้เศรษฐกิจไทยพังทลาย ส่วนวันนี้ตรงกันข้าม เพราะสกุลเงินสำคัญขึ้นดอกเบี้ย แต่เงินบาทดอกเบี้ยต่ำ และมีแนวโน้มจะอ่อนลงอีกเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดี
แนะทำท่องเที่ยวบูมดึงเงินต่างชาติ
โทนี่ เสนอว่า ช่วงนี้ควรส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มาฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งมีสภาพเหมือนสปริงที่ถูกกดไว้หลังช่วงโควิด-19 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้า ดังนั้นควรขจัดทุกอุปสรรคที่ขัดขวางการท่องเที่ยวให้หมด เพื่อนำเม็ดเงินเข้ามาสู่ประเทศ และให้รายได้ไหลไปสู่ภาคประชาชน เช่น ร้านอาหาร สถานบันเทิง โดยรัฐบาลจะมีบทบาทเข้าไปอุดหนุนผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อเยียวยาสภาพคล่องที่เสียไปในช่วงโควิด-19
ขณะที่ ศุภวุฒิ เห็นด้วยว่าประเทศไทยควรส่งเสริมให้เงินจากต่างประเทศเข้ามาในไทย เพราะขณะนี้นักลงทุนและเศรษฐีหลายคนเริ่มย้ายออกจากจีน และฮ่องกง เนื่องจากเจอการล็อกดาวน์จนทำธุรกิจไม่ไหว หลายคนพยายามไปที่สิงคโปร์มากจนต้องขึ้นภาษี แต่ไทยควรเป็นที่ซึ่งเหมาะให้พวกเขาเข้ามาอยู่ เป็นวิธีฟื้นเศรษฐกิจง่ายที่สุด และง่ายกว่าท่องเที่ยวด้วย เพราะเข้ามาอยู่นาน
ปรับภาพลักษณ์ ก.ม.ไทย ยุเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
โทนี่ จึงเสริมว่า ไทยควรกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มีกฏหมายควบคุมเฉพาะ เช่นที่ดูไบจะมี Dubai International Financial Center ที่เมื่อเกิดข้อพิพาท จะใช้กฏหมายของอังกฤษมาเป็นหลักในการพิจารณา เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับชาวต่างชาติ และสร้างความมั่นใจ ความน่าเชื่อถือต่อกฏหมายว่าจะไม่กลั่นแกล้ง จึงเป็นเรื่องที่ไทยควรศึกษาเพื่อเตรียมรับมือปรับภาพลักษณ์ในทางกฏหมายเสียใหม่
“จะทำอย่างไรให้คนเชื่อถือ วันนี้ไทยต้องเริ่มต้นใหม่ เรียกว่าต้องอาบน้ำประแป้งใหม่อย่างดี พรมน้ำหอมเป็นปี๊บเลย กว่าคนจะเชื่อถือ เพราะเราทำเละมากตั้งแต่ปฏิวัติมา Rule of Law หายหมด เหลือแต่ Rule of กู ทำให้คนไม่เชื่อถือ และอย่างวันนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังไม่เลิกอีก ไม่รู้มีไว้ทำอะไร”
“วันนี้รัฐบาลกลัวเสถียรภาพตัวเองมากกว่าเสถียรภาพของประเทศ รัฐบาลกับประเทศคนละเรื่องกัน ประเทศอยู่ระดับสูงกว่าเพราะรวมกับประชาชน แต่ตัวรัฐบาลมาแล้วก็ไป เปลี่ยนใหม่ได้ ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย รัฐบาลนี้ไม่ดี ประชาชนก็เลือกใหม่ เป็นแบบนั้นไม่ดีหรือ ไม่ต้องหวง วันนี้ที่หวงเก้าอี้ไว้ ไม่ได้หวงเพื่อชาติหรอก หวงเพื่อตัวเองเนี่ยมันไม่ได้หรอก”
โทนี่ ยังมองว่า รัฐบาลชุดนี้หาคนมาร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ยากมาก กว่าจะได้รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง หรือกระทรวงพลังงาน ก็ต้องหาคนกันเองมารับตำแหน่ง จึงหาคนที่อยากช่วยประเทศเต็มที่มาร่วมได้ยาก เพราะรัฐบาลสร้างความกลัว เช่นเดียวกับรัฐมนตรีจากพรรคร่วมรัฐบาล ก็ยังไม่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหา เช่น รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ก็ไม่มีความสามารถที่เหมาะสม
“ครม. เป็นแบบนี้ มันไปไม่รอดจริงๆ เรื่องมันยากกว่าที่คิด มันไม่ใช่สภาวะปกติ เหมือนที่ผมบอกว่าทะเลกำลังบ้าคลั่ง เอากัปตันแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ มาพายไป แบบนี้ไปไม่ได้” โทนี่ กล่าว
เปลี่ยน 'หยาดเหงื่อและน้ำตา' เป็น 'หยาดเหงื่อและทักษะ'
โทนี่ ยังกล่าวถึงการสร้างเสริมทักษะของประชาชน โดยมองว่า เราไม่ยอมให้คนใช้ Sweat and Skills (หยาดเหงื่อและทักษะ) หรือ Sweat and Brains (หยาดเหงื่อและสมอง) ตรงกันข้ามกลับใช้แรงงานแบบ Sweat and Tears (หยาดเหงื่อและน้ำตา) ทำงานไป เหนื่อยไป ร้องไห้ไป เพราะได้เงินไม่พอใช้ รัฐบาลต้องมีเมตตาธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยการบริหารที่มีคุณภาพกว่านี้ คือต้องให้ประชาชนเหนื่อย แต่ยังได้ใช้สมองหรือทักษะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริม หากคุณภาพของคนแย่ คุณภาพของผลผลิตก็ต่ำ ดังนั้น ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่
สร้างเงินใหม่ ผ่าหนี้เก่า เพิ่มกำลังซื้อประชาชน
จากนั้น โทนี่ ตั้งคำถามว่า ในปัจจุบันที่หนี้ครัวเรือนกำลังค้ำคอประชาชน จะเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนอย่างไรในช่วงที่กำลังขาดรายได้เช่นนี้ เช่นเดียวกับหนึ้ครูที่สูงเพราะต้องรับภาระจากคุรุสภา เป็นปัญหาที่พยายามปรับกันมาหลายรัฐบาลแล้ว เวลานี้จะทำอย่างไรให้ประชาชนกลับมามีกำลังซื้ออีกครั้ง
ศุภวุฒิ มองว่า ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว นอกจากเร่งหารายได้เอาข้างหน้า เพื่อนำเงินมาใช้หนี้เก่า เช่น ลองเสี่ยงขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยรัฐบาลช่วยส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานให้ พร้อมหวังว่าจะนำรายได้ใหม่มาใช้หนี้เก่าได้ ตนเห็นด้วยกับการแก้หนี้ แต่ตอนนี้ไม่ทันแล้ว สถานการณ์ในตอนนี้เปลี่ยน และเราต้องพลิกตามไป
ขณะที่ โทนี่ เผยว่า ตนได้หารือกับ แพทองธาร ชินวัตร หรือ ‘อุ๊งอิ๊งค์’ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย ว่าควรเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนอย่างไร โดย แพทองธาร คิดว่า ต้องหาเงินใหม่ให้ประชาชน ให้นำมาทำมาหากิน และไม่ให้เงินเก่ามารัดคอ ต้องหาเงินใหม่มาเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เดินหน้าต่อได้ แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกับการลงทุนในสินทรัพย์คริปโต เพราะถือเป็นการเก็งกำไรหวังรวย ซึ่งขณะนี้ทางคณะทำงานของ แพทองธาร กำลังขบคิดอยู่ ซึ่งทำให้ตนมีความหวัง
“วันนี้หวยขายดิบขายดี เป็นสินค้าที่ราคาดีพอๆ กับยาเสพติด เพราะคนไม่มีความหวังอะไร เงินก็น้อย ลองไปซื้อหวยสักร้อย เผื่อจะได้เงินสัก 3-4 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เปอร์เซ็นของการปันผล (Payout Ratio) ของกองสลากต่ำมาก ต่ำกว่าบ่อนเสียอีก” โทนี่ ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง