ที่รัฐสภา (เกียกกาย) น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปราย พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก. อุ้มตราสารหนี้ฯ ซึ่งจะมีการตั้ง "กองทุนรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้" หรือ BSF (Bond Stabilization Fund)
โดยกล่าวในเรื่องธรรมาภิบาลกับการช่วยเหลือของรัฐว่า ในการพยุงหุ้นกู้ให้นายทุนและการพยุงประชาชน นอกจากจำนวนเงินและจำนวนผู้คนที่ได้รับจะแตกต่างกันแล้ว ทั้งระยะเวลาและเงื่อนไขยังแตกต่างกันอีกด้วย ตัวอย่าง กองทุน BSF จัดตั้ง 19 เม.ย. 2563 ได้รับการช่วยเหลือภายในวันที่ 29 เดือนเดียวกัน
แต่ขณะที่เงินกู้จาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของวงเงินช่วยเหลือเยียวยาแรงงานอิสระ วงเงิน 5.5 แสนล้านบาทที่ใช้เยียวยาประชาชนกลับใช้ระยะเวลานานมาก และยังมีขั้นตอนกรอกยื่นสิทธิ, ทบทวนสิทธิ, รอเงินเข้า มากมายเต็มไปหมด นี่ยังไม่พูดถึงการพิสูจน์ความจนของประชาชนอีกนานับประการ ดังนั้น ตนจึงต้องการตั้งคำถามไปยังรัฐบาลว่า มีความจำเป็นมากน้อยเพียงใด ที่รัฐต้องเข้าไปโอบอุ้มหุ้นกู้เหล่านี้และจะมีความเป็นกลาง รวมถึงตรวจสอบได้หรือไม่
น.ส.วรรณวิภา กล่าวอีกว่า จากรายชื่อบริษัทที่ได้รับผลประโยชน์จากมาตรการใน พ.ร.ก. นี้ พบว่ามีทรัพย์สินรวมกันแล้วมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งประเทศ ครอบครองที่ดินรวมกันแล้วเท่ากับประชาชนถึง 30 ล้านคน เข้าถึงแหล่งทุนแหล่งเงินได้มากกว่าธุรกิจขนาดเล็ก เป็นคนกลุ่มเดียวกันเองที่ได้รับสิทธิพิเศษมากมายหลายอย่างจากรัฐบาลอยู่แล้ว แต่กลับยังได้รับสิทธิการช่วยเหลือพยุงหุ้นกู้จากรัฐบาลในครั้งนี้อีก
อนุสาวรีย์ของความเหลื่อมล้ำ
นอกจากนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งในรายชื่อดังกล่าว มีลักษณะเป็นตัวแทนของความเหลื่อมล้ำในการจ้างงานและการสร้างงานที่ไม่มั่นคง เช่น การเลิกจ้างลูกจ้างประจำแล้วจ้างเอาต์ซอร์สหรือซับคอนแทรกต์แทน คือ หน้างาน การทำงานไม่ต่างกัน แต่ได้รับสวัสดิการที่ต่ำกว่าเดิม บางบริษัทโยกย้ายควบรวม แต่ไม่ทำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน คือไม่ให้ค่าจ้างสวัสดิการเท่าเดิมและไม่นับอายุการทำงานต่อจากเดิม
"หนึ่งในบริษัทที่มีรายชื่อนี้เคยเลิกจ้างพนักงาน ที่เป็นแกนนำรวมตัวกันก่อตั้งสหภาพแรงงาน บางที่ไม่เคยตรวจสอบการจ้างงานในห่วงโซ่ของตัวเองว่าทำตามกฎหมายแรงงานหรือไม่ และที่กำลังทำกันอย่างแพร่หลายอยู่ในขณะนี้คือ หลายที่เรียกลูกจ้างมาคุย เกลี้ยกล่อม ข่มขู่ ให้เซ็นใบลาออกเอง ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิค่าชดเชยตามกฎหมายและยังเสียสิทธิว่างงานจากประกันสังคมอีกด้วย" น.ส.วรรณวิภา กล่าว
อีกทั้งบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งที่มีคนงานเสียชีวิตเยอะๆ บริษัทนี้จ้างลูกจ้างทั้งในประเทศและส่งไปทำงานต่างประเทศ บริษัทนี้เป็นเหมือนอนุสาวรีย์ของความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากมีการจ้างงานแบบเหมาช่วงเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งบริษัทซับคอนแทรคนั้นไม่มีการฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยที่เพียงพอ ไม่ได้มีการรัดกุมในการควบคุมมาตรฐานด้านความปลอดภัยในสถานประกอบการณ์ ไม่มีการจัดอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยให้กับพนักงานอย่างเพียงพอ การทำสิ่งต่างๆ ที่ดิฉันพูดไปทั้งหมดนี้มันคือ การกินกำไร เพราะถ้าพวกเขาไม่ทำเช่นนี้ กำไรก็จะน้อยลง ดังนั้น จึงปล่อยให้พนักงานี่เป็นพนักงานซับคอนแทรคเสี่ยงกับภัยในสถานประกอบการ เพื่อปกป้องกำไรของตัวเอง
"อีกกรณีเป็นบริษัทในเครือโรงแรมชื่อดัง ในช่วงสถานการณ์โควิดนี้ออกประกาศให้ลูกจ้างหยุดงานโดยสมัครใจแบบไม่ได้รับค่าจ้าง ย้ำนะคะไม่ได้รับค่าจ้าง ถึงแม้ในประกาศใช้คำว่าสมัครใจ แถมมีโปรโมชั่นมากมายยกตัวอย่าง เช่น ลา 5 วันขึ้นไปจะได้รับส่วนลดพิเศษ คือลา 5 วันได้รับค่าจ้าง 1 วัน ในประกาศเป็นประกาศเพื่อให้คนสมัครใจเข้ามาใช้สิทธิ แต่ในความเป็นจริงอ้างประกาศฉบับนี้แต่ขอร้อง ข่มขู่ คุกคาม ให้พนักงานต้องลาหยุดโดยใช้สิทธินี้ ทั้งๆ ที่พวกเขาไม่ได้เต็มใจ เพราะถ้าเขาไม่ทำงานไม่ได้รับค่าจ้างจะเอาเงินที่ไหนกินจะเอาเงินที่ไหนใช้จ่ายในครอบครัว เขามาปรึกษาดิฉันในฐานะที่ดิฉันเป็นที่ปรึกษาประธานกรรมาธิการแรงงาน แต่ท้ายที่สุดพวกเขาก็ไม่ต้องการเป็นข่าว ไม่ต้องการเผชิญหน้ากับนายจ้าง เนื่องจากอำนาจการต่อรองมันเหลื่อมล้ำเกินไป" น.ส.วรรณวิภา กล่าว
โดยพรรคก้าวไกลมีข้อเสนอ 4 ข้อ สำหรับกลุ่มทุนใหญ่ หากกลุ่มทุนไหนหรือบริษัทไหนต้องการมาใช้เงินพยุงหุ้นกู้ 4 แสนล้านบาทตัวนี้ ต้องมีเงื่อนไขดังนี้
1.ต้องไม่เลิกจ้างลูกจ้างจนกว่าจะไถ่ถอนหุ้นกู้คืนจากธนาคารแห่งประเทศไทย ในระหว่างที่ยังได้รับการสนับสนุนโอบอุ้มจากภาครัฐต้องไม่เลิกจ้าง
2.นอกจากมีความน่าเชื่อถือด้านเครดิตการเงินที่ดีแล้ว ต้องมีความน่าเชื่อถือหรือเครดิตด้านแรงงานที่ดี ไม่มีการกดขี่ ไม่มีการละเมิดสิทธิแรงงานในอดีตด้วย
3.หากบริษัทไหนมีประวัติไม่ดีดังกล่าวต้องเสนอแผนแก้ไข เช่น หากมีคดีความที่ฟ้องร้องแรงงานที่มีลักษณะละเมิดสิทธิ หรือการฟ้องเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองบริษัทอยู่ ให้ถอนฟ้องให้หมด หรือหากมีกรณีที่ยังคั่งค้าง ยังไม่ได้จ่ายค่าจ้าง ยังไม่ได้จ่ายค่าชดเชยให้จ่ายคืนให้หมดในช่วงระยะเวลาที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐ
4. ตลอดระยะเวลาที่ได้รับการช่วยเหลือนี้ หากมีพฤติกรรมที่กดขี่ มีพฤติกรรมที่ละเมิดสิทธิแรงงาน รัฐมีสิทธิที่จะบังคับให้บริษัทเหล่านี้ซื้อตราสารหนี้คืนจากรัฐได้โดยทันที วรรณวิภากล่าว
ความลำเอียงในการเลือกตราสารหนี้ อุ้มทุนใหญ่ ทอดทิ้งเอสเอ็มอี
น.ส.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่าพ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน วงเงิน 4 แสนล้านบาทหรือที่เรียกว่า พ.ร.ก.อุ้มตราสารหนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อตั้งกองทุนรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตราสารหนี้ สามารถอุ้มคนรวยได้เกือบทั้งหมด แสดงให้เห็นความลำเอียงของรัฐบาลเลือกช่วยเหลือทุนใหญ่มากกว่าประชาชนและเอสเอ็มอี จากการค้นข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) พบว่ามีบริษัทเข้าหลักเกณฑ์การช่วยเหลือจากพ.ร.ก.ฉบับนี้ 125 บริษัท
เมื่อเทียบกับวงเงิน 4 แสนล้านบาท สามารถช่วยเหลือได้บริษัทละ 3,200 ล้านบาท ขณะที่พ.ร.ก.ซอฟต์โลน วงเงิน 5 แสนล้านบาท มีเอสเอ็มอีเข้าหลักเกณฑ์ช่วยเหลือได้ 1.9 ล้านราย หรือเฉลี่ยได้รับการช่วยเหลือรายละ 263,158 บาท ต่างกันถึง 12,167 เท่า บ่งบอกว่ารัฐบาลลำเอียงเข้าข้างทุนใหญ่ชัดเจน ที่สำคัญหน้าตาของทุนใหญ่ 125 บริษัท มีมูลค่าตราสารหนี้รวม 8.9 แสนล้านบาท
พบว่าทุนเกือบครึ่งหนึ่งเป็นของทุนใหญ่จาก 4 บริษัท ได้แก่ เครือซีพี 1.8 แสนล้านบาท เครือไทยเบฟฯ 9 หมื่นล้านบาท เครือเอสซีจี 7.5 หมื่นล้านบาท และช.การช่าง 1.5 หมื่นล้านบาท ถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องอุ้มเศรษฐี กลัวเศรษฐีไม่มีเงินใช้หนี้ ทุนใหญ่เหล่านี้ล้วนใกล้ชิดรัฐบาล ดังนั้นจึงอยากให้ทุนใหญ่ประกาศว่า จะไม่ใช้ผลประโยชน์จากกองทุนนี้ เพื่อให้กันวงเงิน 4 แสนล้านบาทของพ.ร.ก.ฉบับนี้ไปช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี
ช่องโหว่ทางกฎหมาย ส่อขัดรธน.
น.ส.ณธีภัสร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดการเอื้อประโยชน์คือ คณะกรรมการชุดต่างๆ ในพ.ร.ก.เต็มไปด้วยคนกระทรวงการคลัง และธปท. เป็นการชงเองกินเอง รวมทั้งมีตัวแทนกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ร่วมเป็นคณะกรรมการลงทุนด้วย
ทั้งที่ กบข.เป็นผู้ลงทุนในตราสารหนี้รายใหญ่ 1.1 แสนล้านบาท จึงขอถามว่า มีอะไรรับประกันว่า จะไม่เกิดความลำเอียงในการเลือกตราสารหนี้ที่จะได้รับการช่วยเหลือ
เมื่อกบข.ได้เปรียบมีข้อมูลวงในจะเอาเปรียบหรือไม่ และผิดหลักขัดกันแห่งผลประโยชน์ ขณะเดียวกันมาตรา 19 ของพ.ร.ก.ฉบับนี้ เปิดช่องให้รมว.คลังใช้อำนาจซื้อตราสารหนี้ในตลาดรอง โดยไม่จำกัดขอบเขตจำนวนเงิน เท่ากับตีเช็คเปล่าให้รมว.คลัง สั่งซื้อตราสารหนี้ตัวไหน จำนวนเท่าไรก็ได้ ทั้งที่ตราสารหนี้ในตลาดรองมีความเสี่ยงสูงกว่า และอาจขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 วรรคสามที่ให้รัฐบาลพึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินการต่างๆ การทำเช่นนี้ให้อำนาจคนๆ เดียวมากไป ถ้าเกิดความเสียหายขึ้นมา กระทรวงการคลังต้องเข้าไปชดใช้สูงสุดถึง 4 หมื่นล้านบาท เป็นการเฉือนเนื้อคนจนไปอุ้มคนรวยหรือไม่
อ่านเพิ่มเติม