ไม่พบผลการค้นหา
หากใครมีแผนที่อยากจะย้ายประเทศ และควิเบกของแคนาดากำลังเป็นเป้าหมายปลายทาง คุณอาจจะต้องพิจารณาความคิดนั้นใหม่อีกครั้ง ถ้าคุณไม่มีพื้นฐานภาษาฝรั่งเศสเลย เนื่องจากรัฐบาลรัฐควิเบกเพิ่งออกกฎอนุรักษ์ภาษาฝรั่งเศส ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการใช้ชีวิตในรัฐที่มีภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการแห่งนี้

ร่างพระราชบัญญัติ 96 ซึ่งผ่านการลงมติของรัฐสภาของรัฐควิเบก จะบังคับให้ผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยใหม่ที่เดินทางเข้ามายังรัฐควิเบก ต้องติดต่อหน่วยงานราชการในภาษาฝรั่งเศสเท่านั้น หลังจากการเดินทางมาถึงพื้นที่ในระยะเวลา 6 เดือน โดยถ้าหากไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาฝรั่งเศสได้ พวกเขาอาจเสี่ยงต่อการไม่ได้รับบริการจากภาครัฐ

นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวจะควบคุมการใช้ภาษาอังกฤษในระบบกฎหมาย รวมถึงลงทะเบียนเรียนในโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษในรัฐด้วย

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสมาชิกสภาของรัฐบาลผสมอย่าง อเวเนียร์ เกเบ็ก ตลอดจนพรรคฝ่ายซ้ายอย่างเกเบ็กโซลิแดร์ ในการลงคะแนนเสียงผ่านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวด้วยคะแนน 78 ต่อ 29 ท่ามกลางเสียงค้านของพรรคลิเบอรัลที่ระบุว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวสุดโต่งจนเกินไป ในขณะที่พรรคซึ่งต้องการประกาศเอกราชตนเองอย่าง ปาร์ตี เกเบ็กกัวส์ ระบุว่า ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังสุดโต่งไม่พอ

ฟรองซัวส์ เลโกต์ นายกเทศมนตรีควิเบกออกมาเฉลิมฉลอง หลังจากร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวได้รับอนุมัติจากรัฐสภาประจำรัฐ เพื่อเอื้อให้ควิเบกสามารถอนุรักษ์และคุ้มครองการใช้ภาษาฝรั่งเศษภายในรัฐของตนได้ ทั้งนี้ เลโกต์ปฏิเสธว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวจะไม่เป็นตัวบ่อนทำลายสิทธิ์ของชนกลุ่มน้อยทางภาษาในควิเบก

“ผมทราบดีว่าไม่มีชนกลุ่มน้อยทางภาษาใด ที่จะใช้ภาษาของตัวเองได้ดีกว่าชุมชนคนพูดภาษาอังกฤษในควิเบก” เลโกต์กล่าว “รวมภูมิใจกับมัน และเราภูมิใจกับการเป็นชาติพูดภาษาฝรั่งเศสในอเมริกาเหนือ นี่คือภารกิจของเราในการพิทักษ์ภาษากลางของพวกเรา”

“เราให้คำมั่นสัญญาว่าจะปกป้องการเข้าถึงระบบสาธารณสุขในภาษาอังกฤษ มันคือคำสัญญาทางประวัติศาสตร์ที่เราจะดำรงต่อไป และคุณจะยังสามารถพูดภาษาอังกฤษในโรงพยาบาล โรงเรียน… และมหาวิทยาลัย” นายกเทศมนตรีควิเบกกล่าว เพื่อปฏิเสธความกังวลว่าผู้ที่พูดได้แต่ภาษาอังกฤษอาจเจอกับกำแพงภาษาขณะเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล

ในทางตรงกันข้าม มาร์ลีน เจนนิงส์ หัวหน้าเครือข่ายกลุ่มชุมชนควิเบก ซึ่งส่งเสริมสิทธิของผู้พูดภาษาอังกฤษในควิเบกระบุว่า “ร่างพระราชบัญญัติ 96 เป็นความเสื่อมคลายของสิทธิมนุษยชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของควิเบกและแคนาดา” เธอย้ำอีกว่า “กฎหมายฉบับดังกล่าวจะเพิกถอนสิทธิ์ในการเข้าถึงบริการด้วยภาษาอังกฤษ ต่อชาวควิเบกที่พูดภาษาอังกฤษราว 300,000 ถึง 500,000 คน”

เช่นเดียวกันกับ จูเลียส เกรย์ นักกฎหมายที่ออกมาต่อต้านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ได้ออกมาระบุว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็น “การใช้อำนาจอย่างไร้เหตุผลที่สุดที่ผมเคยเห็นมา” จากการสัมภาษณ์กับทาง CTV News เกรย์ระบุว่า ตนพร้อมนักกฎหมายคนอื่นๆ จะนำเรื่องดังกล่าวขึ้นฟ้องร้อง และจะต่อสู้ไปจนถึงบนชั้นสหประชาชาติ นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังถูกวิจารณ์จากชนพื้นเมืองที่ออกมาโจมตีว่า ร่างกฎหมายบังคับพูดภาษาฝรั่งเศสกำลังทำร้ายทำลายภาษาของชนพื้นเมืองแคนาดา ก่อนการเข้ามาของชาติตะวันตกในระบอบอาณานิคม

ทั้งนี้ จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ซึ่งได้รับเลือกตั้งจากเขตของควิเบกได้ออกมาแสดงความเห็นอย่างระมัดระวัง ถึงการวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายฉบับดังกล่าว โดยนายกรัฐมนตรีแคนาดา ที่พูดได้ทั้งภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษ ระบุกับสื่อมวลชนว่า ตนมี “ความกังวล” เกี่ยวกับเนื้อหาของกฎหมายฉบับดังกล่าวเช่นกัน

การอนุรักษ์ภาษาฝรั่งเศสของควิเบกเคยเป็นข่าวใหญ่มาแล้วหนึ่งครั้งเมื่อปี 2562 หลังจากหญิงชาวฝรั่งเศสรายหนึ่ง ถูกปฏิเสธการมอบสถานะผู้อยู่อาศัยในควิเบก โดยข้ออ้างของทางการควิเบกว่าหญิงชาวฝรั่งเศสไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเธอสามารถพูดภาษาฝรั่งเศสได้หรือไม่ รัฐบาลควิเบกยังได้ประกาศแบนการพูดคำทักทายว่า “บอนชัวร์ ไฮ” ในภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษพร้อมๆ กัน นอกจากนี้ เคยมีหัวหน้าสายการบินที่ใหญ่ที่สุดของแคนาดา ถูกกล่าวหาว่าไม่เคยเรียนภาษาฝรั่งเศสมาก่อน แม้จะอาศัยอยู่ที่เมืองมอนทรีออลของควิเบกมานานถึง 14 ปีแล้วก็ตาม


ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2022/may/25/quebec-french-language-protection-law-english?CMP=Share_iOSApp_Other&fbclid=IwAR2mQzIUsz3-BH-h6FFXJuk9sFOOo7zw2SavwCPg5tjoEapR4SbJjCLvuFo