ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติเรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้นอีกในอนาคตที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่และคณะเป็นผู้เสนอ
นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ขออภิปรายตามมติวิปรัฐบาลคือ ไม่สนับสนุนให้ตั้งคณะกมธ.เพื่อศึกษาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดรัฐประหารอีกในอนาคต เป็นความจริง รัฐธรรมนูญทุกฉบับบของประเทศไทยป้องกันการรัฐประหารทั้งสิ้น มีบทลงโทษชัดเจนทุกฉบับ ใครรัฐประหาร ใครล้มล้างรัฐธรรมนูญ มีโทษประหารชีวิต แต่ถ้าดูประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่ 2475 มีการปฏิวัติทั้งหมด 13 ครั้ง ในขณะเดียวกันไปดูประวัติศาสตร์การเป็นกบฎการปฏิวัติไม่สำเร็จ 13 ครั้งเช่นเดียวกัน ตนคิดว่าการที่เราจะเขียนหรือตั้งญัติที่ทำให้ไม่เกิดรัฐประหารคิดว่าเสียเวลาเปล่า เพราะการรัฐประหารเป็นดีเอ็นเอของประเทศไทยจะเขียนอย่างไรก็มีคนฉีก ฉีกแล้วก็สถาปนาเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แล้วก็นิรโทษกรรมตัวเอง และไม่สามารถที่จะลงโทษหรือให้ใครตรวจสอบได้ คนที่ปฏิวัติไม่สำเร็จรัฐประหาร แม้แต่ปฏิวัติไม่สำเร็จไม่สำเร็จแล้วมาเป็นกบฎ 13 ครั้งไม่มีเลยที่ถูกลงโทษตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่เป็นฝ่ายแพ้ ส่วนใหญ่ก็นิรโทษกรรมภายหลัง รัฐบาลก็นริโทษกรรมให้ หรือบางส่วนก็หนีไปต่างประเทศสุดท้ายก็กลับมา
นายเทพไท ย้ำว่า การหนีไปต่างประเทศในขณะนั้นรัฐบาลเป็นฝ่ายอำนวยความสะดวกให้ด้วยซ้ำไป มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่กบฏถูกประหารชีวิต คือกบฏเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2520 พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ เป็นหัวหน้าคณะ ทำไมต้องประหารชีวิต เหตุการณ์ในขณะนั้นมีการยิงพล.ต.อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ถ้าครั้งนั้นไม่มีเหตุการณ์แบบนี้ ก็เชื่อว่าก็คงไม่มีการประหารชีวิต ดังนั้น ตนไม่เห็นด้วยที่มีญัตตินี้ขึ้นมา เพราะมันเปล่าประโยชน์สำหรับการป้องกันรัฐประหาร ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ยก 4 เหตุปฏิวัติโทษนักการเมืองเป็นจำเลย
นายเทพไท ระบุว่า สาเหตุของการปฏิวัติ มีอยู่ 4 สาเหตุใหญ่ 1. อ้างนักการเมือง ซึ่งเป็นจำเลยของการปฏิวัติ ทุกยุคทุกสมัย ทั้งที่ในสังคมนักการเมืองมีทั้งนักการเมืองดี นักการเมืองเลว นักการเมืองที่ลุอำนาจ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้รัฐธรรมนูญ ปี2540 ต้องยอมรับว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ก็เคยใช้ขณะเป็นนายกฯ
ถ้าตนจำไม่ผิดเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ) ก็ถูกข้อหาคดีซุกหุ้น คดีแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสิน 5 ปี พอมีนายกฯหลังนายชวน ก็มีคดีทรัพย์สิน คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต่อมาเป็นคดีซุกหุ้นก็มีการวิ่งเต้นแทรกแซงองค์กรอิสระ 2.ประชาชน เรียกร้องให้มีการรัฐประหาร จนถึงยุคนี้ก็ยังมีคนคิดถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกฯ เมื่อวุ่นวายก็อยากให้หวนยุคจอมพลสฤษดิ์กลับคืนมา วันปฎิวัติบางครั้งประชาชนเอากุหลาบแดงไปให้กับนายทหารบนรถถัง
3.นายทหารบางช่วง พอมีการโยกย้ายที่ไม่ได้ดั่งใจ หรือนายทหารที่อยากได้อำนาจ ก็เข้ามาคุมอำนาจ 4.หลายคนก็โทษถึงดวงเมือง ดวงเมืองประเทศไทยคู่กับการรัฐประหาร เป็นสาเหตุ เพราะหากว่าจะดูรูปแบบของการปฏวัติที่ผ่านมา 1.การปฏิวัติโดยใช้กำลัง ใช้รถถัง 2.ปฏิวัติเงียบ คือการจี้ให้รัฐมนตรียุคนั้นออกจากตำแหน่ง มี 2 ครั้ง ปี 2491 คณะนายทหารบังคับให้ นายควง อภัยวงศ์ ออกจากนายกรัฐมนตรี
ครั้งที่ 2 ปี 2523 กลุ่มยังเติร์กบังคับให้พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากนายกรัฐมนตรี 3.ปฏิวัติตัวเอง มี 3 ครั้ง คือจอมพล ป พิบูลสงคราม จอมพลถนอม กิตติขจร และพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ปฏิวัติรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ถือเป็นการปฏิวัติตัวเอง รัฐบาลธานินทร์มาจากการปฏิวัติของพลร.อ.สงัด ส่วนการปฏิวัติไม่ใช้กำลังคือปฏิวัติของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่าทันสมัยมาก เรียกแกนนำทั้ง กปปส. เรียกแกนนำ นปช. เรียกแกนนำกลุ่มพรรคการเมืองทั้งหมด เข้าไปอยู่ในสโมสรทหารบก ปิดประตูแล้วประกาศยึดอำนาจ การปฏิวัติประเทศไทยพัฒนาถึงขนาดว่าปฏิวัติโดยไม่ต้องใช้กำลังแล้ว
"จริงๆสาเหตุของการปฏิวัติที่ชัดเจนที่สุดในสมัย คมช. ผมคิดว่ามันจะหมดแล้วตั้งแต่ รสช.ปี 2535 เราห่างเหินมา 14 ปี พอปี 2549 คณะปฏิวัติรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลในยุคนั้นท่านให้เหตุผล 4 ข้อ 1.เกิดความแตกแยกในหมู่ประชาชน เพราะประชาชนแบ่งเป็นฝั่งเป็นฝ่าย มีสีเสื้อ 2.จาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง มีการเผยแพร่ข่าวในลักษณะเช่นนี้ 3.แทรกแซงองค์กรอิสระ 4.มีการทุจริตคอลัปชั่นเกิดขึ้นในรัฐบาล เพราะฉะนั้นการปฏิวัติทุกยุคทุกสมัยมีอยู่ 2 เรื่องเท่านั้นที่เป็นประเด็นหลัก นอกนั้นเป็นประเด็นรอง คือ การทุจริต และปัญหาปากท้อง ข้าวยากหมากแพง นี่ก็เป็นสาเหตุของการปฏิวัติในอดีต"
นายเทพไท อภิปรายต่อว่า ถ้าถามว่าจะป้องกันการปฏิวัติได้อย่างไร 1.ปฏิรูปกองทัพ ต้องลดโครงสร้างของกองทัพ ถ้าดูการปฏิวัติทั้งหมด 13 ครั้ง เป็นกองทัพบกทั้งสิ้น ในบางยุคบางสมัย ผบ.ทบ.มีอำนาจมากกว่านายกฯ ด้วยซ้ำไป ต้องลดให้เล็กลง ในการศึกษากับทหารเรื่องจิตสำนึกประชาธิไตยควรจะมีหลักสูตรในโรงเรียนเตรียมทหาร 2.นักการเมือง เพราะนักการเมืองเป็นเหยื่อของการปฏิวัติก็ต้องปรับตัว 3.ปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนต่อต้านไม่เห็นดีเห็นงามกับการปฏิวัติรัฐประหาร ดังนั้น ทั้งหมด ตนคิดว่าการรัฐประหารที่เกิดขึ้นมันเกิดผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนทั้งเรื่องสิทธิเสรีภาพ วันที่ไม่มีผู้แทนราษฎรประชาชนเดือดร้อนจะพึ่งใคร เรื่องเศรษฐกิจการลงทุน ต่างชาติความเชื่อมั่นไม่มี เรื่องทางสังคมการตรวจสอบไม่มีเลยในยุคปฏิวัติอันนี้ชัดมา
"ผมไม่เห็นด้วยกับการตั้ง กมธ.ชุดนี้ เพราะผมเชื่อมั่นว่าระบอบประชาธิปไตยย่อมดีกว่าเผด็จการทุกรูปแบบและไม่มีประเทศไหนที่เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ด้วยการปกครองรูปแบบเผด็จการมีแต่ประชาธิปไตยเท่านั้น การป้องกันรัฐประหาร ผมจึงไม่ควรเห็นว่าจะตั้ง กมธ. เพราะผมเชื่อว่ารัฐประหารเป็นเรื่องของคนบ้าอำนาจ ภาษาการเมืองเขาบอกว่าเป็นวงจรอุบาทว์ ภาษาอังกฤษบอกว่า Vicious cycle ภาษาราชการบอกว่าเป็นนิสัยอันถาวร ภาษาชาวบ้านบอกว่าเป็นสันดาน"
ข่าวที่เกีี่ยวข้อง