ในวันที่ 30 มิถุนายน ชาวซูดานหลายหมื่นคนชุมนุมประท้วงทั่วประเทศ โดยมีศูนย์กลางการชุมนุมใหญ่ในกรุงคาร์ทูม เมืองหลวงของซูดาน ผู้ประท้วงเรียกร้องให้สภาทหารเพื่อการเปลี่ยนผ่าน (Transitional Military Council: TMC) รัฐบาลทหารชั่วคราวที่เข้ามาจากการรัฐประหารซ้อน คืนอำนาจให้พลเรือน ทางกองกำลังรักษาความปลอดภัยได้ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม
"เรามาชุมนุมอีกครั้งเพื่อปฏิวัติ และเราจะไม่ถอยจนกว่าทหารจะคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือน" ฮัสซัน อาหมัด หนึ่งในผู้ประท้วงกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ส
สุไลมาน อับดุล-จาบาร์ รักษาการปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยว่าในคืนวันที่ 30 มิถุนายน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย มีผู้บาดเจ็บ 181 ราย โดยเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยกระสุนจริง 27 ราย
นายพลโมฮัมเหม็ด ฮัมดัน ดากาโล หรือรู้จักในนามเฮเมดติ รองหัวหน้าสภาทหาร อ้างว่ามีมือสไนเปอร์ระบุตัวตนไม่ได้ ซุ่มยิงทั้งพลเรือนและทหาร
ทางการซูดานระบุว่ามีทหารประจำการถูกยิง 10 นาย โดย 3 นายเป็นกองหนุนเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งอยู่ภายใต้เฮเมดติด้วย ทางด้านคณะกรรมการกลางแพทย์ซูดาน ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลระบุว่ามีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 5 รายถูกสังหาร และมีผู้บาดเจ็บอีกหลายสิบคนในหลายเมือง
ซูดานอยู่ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหารของโอมาร์ อัล-บาเชียร์ ซึ่งมาจากการรัฐประหารนับตั้งแต่ 30 มิถุนายน 1986 ทว่าในปลายปี 2018 ประชาชนชาวซูดานได้รวมตัวประท้วงขับไล่อย่างต่อเนื่อง กระทั่งเดือนเมษายน 2019 ผู้นำ 4 เหล่าทัพของซูดานได้ทำการรัฐประหารซ้อน และตั้งสภาทหารระยะเปลี่ยนผ่านขึ้น พร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เคอร์ฟิว และขัดขวางการชุมนุมของประชาชน โดยทางสภาทหารอ้างว่าจะจัดการเลือกตั้งและถ่ายโอนอำนาจคืนสู่รัฐบาลพลเรือนเต็มคณะภายใน 3 ปี อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังคงปักหลักชุมนุมเรียกร้องให้คืนอำนาจแก่พลเรือนต่อไป
ก่อนรุ่งสางวันที่ 3 มิถุนายน กองกำลังสนับสนุนฉับไวของสภาทหาร ได้ใช้กระสุนปืนและแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิตที่ระบุได้ 128 ราย ทางคณะกรรมการกลางแพทย์ซูดานชี้ว่ามีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้แต่ไม่สามารถระบุตัวตนได้
ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 30 ปีที่โอมาร์ อัล-บาเชียร์ ทำการรัฐประหารขึ้นสู่อำนาจ รวมถึงเป็นกำหนดเส้นตายที่สหภาพแอฟริกาเรียกร้องให้สภาทหารซูดานคืนอำนาจให้รัฐบาลพลเรือน มิเช่นนั้นจะทำการคว่ำบาตรหนักขึ้น ชาวซูดานหลายหมื่นชีวิตจึงออกมาชุมนุมประท้วงใหญ่อีกครั้ง ส่งผลให้ล่าสุดมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต
แม้การชุมนุมประท้วงจะเป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลทหารได้ตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้ผู้ชุมนุมไม่สามารถใช้โซเชียลมีเดียกระจายข่าวสารได้ อย่างไรก็ตามบรรดาแกนนำยังคงรักษาการชุมนุมเคลื่อนไหวต่อไป
ที่มา: The Guardian / Reuters
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: