ทว่ากระแสข่าว ‘รัฐประหาร’ ถูกสยบลง หลัง ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง (รมว.) กลาโหม กล่าวถึงกระแสข่าวว่า “เลอะเทอะ”
ส่วน ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ก็รับลูก พล.อ.ประยุทธ์ โดยบอกสื่อว่าเป็นไปตามที่ นายกฯ พูด โดย พล.อ.ประยุทธ์ เป็น รมว.กลาโหม ด้วย
ซึ่งส่วนตัว พล.อ.อภิรัชต์ เตรียมนับถอยหลังเกษียณอายุราชการในใจตลอด เพราะเมื่อเดือน ก.ค. 2563 ก็มีกระแสข่าวว่าจะต่ออายุราชการ ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ ต้องออกมาปฏิเสธ พร้อมย้ำว่าตนเองเตรียมเกษียณฯ โดยวันที่ 30 ก.ย.นี้ จะส่งมอบธงให้กับ ผบ.ทบ.คนใหม่ รวมทั้งจะเซ็ตซีโร่ตัวเอง ให้ติดตามว่าจะไปทำอะไรต่อ
สะท้อนว่า พล.อ.อภิรัชต์ ทราบว่าตนเองมีภารกิจสำคัญในอนาคต
ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ และ ‘ดร.เอ’ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายโอนจากข้าราชการทหาร และ ข้าราชการพลเรือน เป็นข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือน และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นพิเศษเฉพาะรายในตำแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ระดับ 11
การเปลี่ยน ผบ.เหล่าทัพ ชุดใหม่ จึงเป็นการ ‘ผลัดใบ’ ในช่วง ‘รอยต่อสำคัญ’ ทางการเมือง เปรียบได้กับการ ‘เปลี่ยนม้ากลางศึก’ โดยมี ‘บิ๊กบี้’ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ขึ้นแท่นเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ ตท.22-จปร.34 เกษียณฯ ปี 2566 ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองระอุ โดยเฉพาะการ ‘ขยับเพดาน’ ของการชุมนุมจนเป็นที่มาของ ‘1ความฝัน’ หรือ 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบัน
โดย พล.อ.ณรงค์พันธ์ มีตำแหน่งในขณะนี้เป็น รองผบ.ฉก.ทม.รอ.904 และเป็น นายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ด้วย
ทั้งนี้มีการประเมินตัวเลขผู้ร่วมชุมนุมใหญ่วันที่ 19 ก.ย.นี้ หลักหมื่นคน โดยใช้กำลัง ตร. เป็นหลักในการดูแลสถานการณ์ต่างๆ ในส่วนของทหารจะดูแลเพียงพื้นที่หน่วยทหาร เพราะพื้นที่เคลื่อนขบวนและชุมนุมอยู่ใกล้เคียงพื้นที่ บก.ทบ.ราชดำเนิน และ บก.กองทัพภาคที่ 1 รวมทั้งใกล้เขตพระราชฐาน โดยรูปแบบการรับมือจะคล้ายกับช่วงกลุ่มคนอยากเลือกตั้งชุมนุมช่วงครบ 4 ปี คสช. ที่สุดท้ายแล้วการชุมนุมหยุดอยู่ที่สะพานมัฆวานฯ เท่านั้น
อย่างไรก็ตามมีการเตรียมแผน ‘กรกฎ 52’ ออกมาเพื่อรับมือด้วย โดยแผนดังกล่าวเป็น ‘แผนปฏิบัติการหลัก’ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการรับมือการชุมนุม-การก่อความไม่สงบ โดยมี 4 ขั้นตอน ในการทำงาน ได้แก่
1.ขั้นเตรียมการ เช่น การตั้งหน่วย การเตรียมกำลัง การซักซ้อม เป็นต้น
2.การเผชิญเหตุเมื่อมีการชุมนุม คือ การดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่การชุมนุม
3.เมื่อสถานการณ์วิกฤต และจำเป็นต้องใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์ โดยดำเนินการตามกฎการใช้กำลัง การประกาศใช้กฎหมายต่างๆ เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กฎอัยการศึก
4.การฟื้นฟู คือ การสอบสวน-ดำเนินคดี และ ซ่อมบำรุงความเสียหายสถานที่
ทั้งนี้ห้วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่เอกสารออกมา ได้แก่ กระดาษเขียนข่าว เรื่องการซักซ้อมการรักษาความปลอดภัยพื้นที่ ทภ.1 ซึ่งมีรายงานว่าเป็นเพียงการดูแผนงานของ ตร. ในการรักษาความปลอดภัยเท่านั้น ไม่ได้ซักซ้อมการใช้กำลังของทหาร - ตร. แต่อย่างใด
ทว่าเอกสารอีกฉบับ คือ เอกสารการเตรียมกำลังและอุปกรณ์รับมือการชุมนุม เช่น โล่ กระบอง แก๊สน้ำตา รถน้ำ ปืนลูกซอง กระสุนยาง เป็นต้น
ทาง พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก ทบ. ออกมาชี้แจงว่าเป็น ‘เอกสารปลอม’ โดย 2 จุดสังเกต คือ ไม่มีการลงชื่อผู้บังคับบัญชาท้ายคำสั่ง และ ไม่มีการลงวันที่ออกหนังสือ
ทั้งนี้มีรายงานว่าการชุมนุม 19 ก.ย.นี้ ทาง มธ. อาจอนุญาตให้ใช้สถานที่ โดยจะมีกระบวนการเจรจาขอใช้พื้นที่อีกครั้ง ทั้งนี้ทาง มธ. ได้ประกาศงดการเรียนการสอน 19-20 ก.ย.นี้แล้ว รวมทั้งมีรายงานว่าอาจมีการอนุญาตให้ใช้พื้นที่สนามหลวงฝั่งติดกับสะพานพระปิ่นเกล้าด้วย
สำหรับกิจกรรมในการชุมนุมเบื้องต้นจะมีการตั้งเวทีปราศรัย รวมทั้งมีการเตรียมจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ที่สนามหลวงด้วย รวมทั้งการเดินขบวนจะเดินมายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีปลายทางคือทำเนียบฯ ซึ่งการ ‘เคลื่อนขบวน’ โดยแกนนำการชุมนุมจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง เพราะต้องดูจำนวนผู้ชุมนุมในช่วงดึก 19 ก.ย.นี้ ซึ่งการชุมนุมใหญ่ครั้งนี้มี ‘กลุ่มคนเสื้อแดง-นปช.’ มาร่วมชุมนุมด้วย
ซึ่งได้ก็ติดตามการเดินทาง ‘เข้ากรุง’ ของคนเสื้อแดงที่จะมาสมทบจากพื้นที่ต่างจังหวัดด้วย โดยมีการประเมินไว้ที่หลักพันคน ถือเป็นกำลังหลักในการพักค้างแรม ซึ่งกรณีนี้ ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ระบุว่า ตนรู้ว่าจะมีการนำคนเสื้อแดงร่วมชุมนุม ว่ามาจากจังหวัดใดและพอรับมือได้ รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่เตรียมสกัดอาวุธ ที่อาจจะเข้ามาด้วย
ที่สำคัญในการชุมนุมครั้งนี้ ‘คณะก้าวหน้า’ ก็ออกตัวชัดเจนในการเชิญชวนมาร่วมชุมนุม โดย ‘ช่อ’พรรณิการ์ วานิช แกนนำคณะก้าวหน้า ได้เฟซบุ๊กไลฟ์นั่งรถสามล้อจากถนนหน้าลานพระราชวังดุสิต มายังสนามหลวงด้วย
ทั้งนี้การชุมนุมครั้งนี้จึงมีการประเมินว่าเป้าหมายปลายทางการชุมนุมอาจไม่ใช่ทำเนียบฯก็เป็นได้ รวมทั้งจำนวนผู้ชุมนุมที่มาจำนวนมากอาจทำให้เลยจากพื้นที่รอบทำเนียบฯ ดังนั้นทำให้ฝ่ายความมั่นคงจำกัดการชุมนุมให้สุดที่สะพานมัฆวานฯ เท่านั้น
อย่างไรก็ตามการชุมนุมใหญ่ 19 ก.ย.นี้ เปรียบเป็นการ ‘ซ้อมใหญ่’ ก่อนจะมีชุมนุมใหญ่ เดือน ต.ค.นี้ ท่ามกลาง ‘ข้อเรียกร้อง’ ที่ไปเกินกว่า ‘รัฐบาล’ แล้ว รวมทั้งผู้ร่วมชุมนุมเป็น ‘เยาวชน-คนรุ่นใหม่’ จึงทำให้ การชุมนุมนับจากนี้ ไม่เหมือนอดีตที่ผ่านมา
หนังม้วนนี้ จะจบไม่เหมือนเดิม ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง