ไม่พบผลการค้นหา
ผ่านวิกฤตโควิดมา 2 ปี อาชีพหนึ่งที่กระทบหนักกว่าใคร แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือใดๆ คือ Sex Worker

“พื้นที่ที่เราทำงาน ไม่ว่าพัทยา พัฒน์พงษ์ ตอนนี้กลางคืนเต็มไปด้วย Sex Worker ที่นอนตามท้องถนนหรือตามชายหาด มันน่าสะท้อนใจมาก พวกเขาจำนวนมากกลายเป็น homeless”

“โควิดระลอกที่สอง เราเก็บข้อมูลจากพนักงานบริการ 1,000 กว่าคนทั้งในกรุงเทพฯ และพัทยาเจอว่า เดือนมกราคมมีประมาณ 40% ที่ยังชีพด้วยเงินกู้นอกระบบ ตอนนี้เดือน ธ.ค.แล้วน่าจะใกล้เคียง 100% ที่ใช้เงินกู้นอกระบบ การปล่อยให้เขาดิ้นรนแบบนี้ใจร้ายกันไปหน่อยไหม สองปีแล้ว ไม่มีการเยียวยาถึงพวกเขาเลย ทั้งที่รายได้หลักของประเทศมาจากการท่องเที่ยว เรายอมรับความจริงไหมว่าเขามาท่องเที่ยวอะไรในพัทยา รายได้หลักมาจากพวกเขา แต่พอเกิดวิกฤตไม่เคยมีใครนึกถึงเขา”

สุรางค์ จันทร์แย้ม ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ Swing Thailand กล่าวในเวทีเสวนาที่จัดโดยพรรคเพื่อไทย

เวทีเสวนาดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อหาทางออกว่าเราจะแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายกันอย่างไร ควรทำให้อาชีพนี้ถูกกฎหมายไปเลยหรือไม่ เพราะไม่ว่าประเทศไทยจะปฏิเสธ รังเกียจ กีดกันอาชีพอย่างไร ความเป็นจริงก็คือ มีผู้คนนับแสนๆ คนที่อยู่ในอาชีพนี้ และพนักงานบริการทางเพศก็เผชิญความรุนแรงทั้งทางตรง เช่น การทำร้ายร่างกาย และยังเผชิญกับความรุนแรงทางวัฒนธรรมที่เป็นเรื่องจารีต ค่านิยม ศีลธรรม ที่กดพวกเขาไว้ ทำให้เป็นเรื่องผิดบาป น่ารังเกียจ ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ จากรัฐทั้งที่เป็นอาชีพที่ต้องใช้แรงกายและอารมณ์เช่นเดียวกับพนักงานบริการในอาชีพอื่น

เสวนา sex worker

ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย เริ่มเสวนาด้วยการรำลึกถึงวันที่ 17 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันยุติความรุนแรงผู้ค้าบริการทางเพศสากล กำหนดขึ้นโดยกลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศ เพื่อน ครอบครัว พันธมิตร และกลุ่มผู้สนับสนุนต่างๆ เพื่อรำลึกถึงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อฆาตกรรมของ ‘นักฆ่าแห่งกรีนริเวอร์’ ในปี ค.ศ.1982 ที่ซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยฆาตกรต่อเนื่องได้สังหารหญิงสาวโสเภณีจำนวน 4 รายโดยการรัดคออย่างเหี้ยมโหดและนำศพมาทิ้งไว้ที่แม่น้ำกรีน จนสื่อตั้งสมญานามให้ว่า ‘นักฆ่าแห่งแม่น้ำกรีน’ (The Green River Killer) โดยตลอด 4 ปีที่ผ่านมาหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถจับกุมฆาตกรได้ และยอดผู้เสียชีวิตยังพุ่งสูงถึง 48 ศพ

วันนี้จึงเป็นวันที่ควรกลับมาทบทวนและพูดถึงการทำให้ ‘โสเภณีไม่ผิดกฎหมาย’ เพราะทุกอาชีพมีคุณค่าและศักดิ์ศรี แต่เงื่อนไขทางกฎหมายบางประการที่ทำให้คนทำงานในอาชีพนี้ยังอยู่ในพื้นที่มืด นอกจากนี้ยังควรทำความเข้าใจเรื่อง ‘ความรุนแรง’ ที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำให้อาชีพนี้ผิดกฎหมายด้วย

ชานันท์อธิบายถึง ‘ความรุนแรง’ ไว้ 3 นิยามใหญ่คือ ความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงทางอ้อม และความรุนแรงในเชิงวัฒนธรรม

1) ความรุนแรงทางตรง (direct violence) : คือความรุนแรงในเชิงกายภาพที่มีผลในเชิงการทำร้ายร่างกาย อาจปรากฏเห็นได้ชัดเจน เช่น บาดแผลจากการต่อสู้ ร่องรอยการข่มขืน รอยกระสุนปืน ความพิการจากอาวุธหรือระเบิด การตายจากการลอบสังหาร ความรุนแรงทางตรงเน้นที่อวัยวะร่างกายตัวบุคคลและจิตใจ สร้างปัญหาในทางจิตวิทยา แม้จะไม่ปรากฏบาดแผลแต่ก็ถือว่าเป็นความรุนแรงทางตรงเช่นกัน เช่นกักขัง หน่วงเหนี่ยว ลวนลาม ล้อเลียน ด่าทอ ใช้สายตาอากัปกิริยาดูแคลน

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ง่ายดายที่สุด บ่อยที่สุด และดูเป็นเรื่องธรรมดาที่สุด คือการใช้คำพูดที่สร้างความเกลียดชัง หรือ Hate speech Hate speech ที่ถูกผลิตซ้ำอย่างยาวนาน ต่อเนื่อง ก็สามารถถูกทำให้กลายเป็นเรื่องคุ้นชินในชีวิตประจำวัน กลายเป็นเรื่องธรรมดาที่ยอมรับได้ ซึ่งแม้ผู้พูดจะไม่ได้ออกไปทำร้ายร่างกายหรือลุกไปฆ่าผู้อื่น หากแต่มันกำลังสนับสนุนให้เกิดความรุนแรงทางร่างกายได้ในท้ายที่สุด

เช่น การนำอาชีพ “กะหรี่” เป็นคำด่า หรือคำว่า “อีตัว” ความรุนแรงประเภทนี้กลับมีองค์กรและอุดมการณ์เข้ามารองรับ เช่นองค์กรทหาร หรืออุดมการณ์ชาตินิยม แบ่งแยกกลุ่มตนออกจากฝ่ายตรงข้ามชัดเจน หรืออ้างระเบียบสังคมชุดหนึ่งไปครอบงำอีกชุดด้วยกองกำลังทหาร

2) ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (structural violence) นั่นคือสถาบันทางสังคมต่างๆ ที่กดทับศักยภาพ เป็นการเอาเปรียบทางสังคมที่ส่งผลต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ทำให้เกิดการเอาเปรียบ ทำให้คุณค่าความเป็นคนไม่เท่ากัน เกิดความลำเอียงและการเลือกปฏิบัติต่างๆ โดยการเลือกปฏิบัติหลายอย่างนำไปสู่การจำกัดทำลายศักยภาพของมนุษย์ การเข้าถึงทรัพยากรทางสังคม การกระจายรายได้ ทรัพยากร เช่นความยากจน โรคระบาด การศึกษา อันเกิดจากการระบบสังคมไปจนถึงระบอบทางการเมือง

โดยความรุนแรงทั้งทางตรงและเชิงโครงสร้าง ได้สร้างความชอบธรรมในการกระทำนั้นๆ จนนำไปสู่อีกหนึ่งความรุนแรง นั่นคือความรุนแรงทางวัฒนธรรม และยิ่งทำให้ sex worker ยังถูกลดทอนศักดิ์ศรีลดลงไป

3) ความรุนแรงทางวัฒนธรรม (cultural violence) : ความรุนแรงไม่จำเป็นต้องเป็นในรูปแบบ 2 ข้างต้นเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ‘กะหรี่’ คำที่มาพร้อมกับความรู้สึกดูถูกเหยียดหยาม สิ่งนี้คือความรุนแรงทางวัฒนธรรมในรูปแบบ ‘ภาษา’ เนื่องจากภาษา (language) เป็นสิ่งเดียวกับตรรกะ (logic) ซึ่งมีรากศัพท์มาจาก logos เช่นเดียวกับกฎหมาย (legal) ภาษาที่ถูกใช้ก็เป็นกระบวนการอย่างหนึ่งในการสร้างความรุนแรง เช่น การใช้ ‘ความรุนแรงทางวัฒนธรรม’ กับความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติ สีผิว เพศ

ณฤดี จินตวิโรจน์ สมาชิก The Change Maker เป็นคนรุ่นใหม่ที่นำเสนอนโยบาย Sex Worker ถูกกฎหมายให้กับพรรคเพื่อไทย สรุปปัญหาเรื่องนี้ไว้ว่า

1) ประเด็นการค้ามนุษย์ : ปัจจุบันยังมีการตระเวนตามหาเด็กสาวจำนวนมากจากบริเวณชายแดนเพื่อส่งไปขายตามสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นใน กทม. หรือในเมืองท่องเที่ยว รวมถึงการหลอกไปทำงานขายบริการด้วยการใช้คำพูดหว่านล้อมและอ้างว่าไปทำงานบริการอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การขายบริการทางเพศด้วยจำนวนเงินที่สูง มีการโอนเงินให้ก่อนและบังคับให้ไปทำงานใช้หนี้ในภายหลังทั้งในและนอกประเทศ

2) ประเด็นหนี้นอกระบบ : เนื่องจากการค้าบริการยังไม่ใช่อาชีพที่ถูกขึ้นทะเบียนว่าเป็น “อาชีพที่ถูกกฎหมาย” ทำให้ผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ไม่ว่าจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม เช่น การซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือแม้แต่การเปิดบัตรเครดิตกับบางธนาคาร ทำให้ผู้ประกอบอาชีพบางคนต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อให้เกิดปัญหาหนี้นอกระบบตามมาและยากจะแก้ไข

3) ประเด็นการถูกทำร้ายร่างกาย ถูกบังคับให้ทำนอกเหนือข้อต้องลง : เนื่องจากไม่ได้เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายทำให้เมื่อถูกลูกค้าเบี้ยวค่าจ้าง ทำร้ายร่างกาย หรือถูกบังคับให้ปฏิบัติเกิดข้อตกลงนั้น ผู้ค้าบริการไม่สามารถแจ้งความเอาผิดลูกค้าได้ เพราะที่ผ่านมาเมื่อมีผู้ค้าบริการไปแจ้งความก็จะถูกแจ้งความกลับและต้องเสียค่าปรับในข้อหาค้าประเวณี

4) ประเด็นสวัสดิการ : ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าผู้ที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ไม่มีสิทธิได้รับสวัสดิการใด ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม เนื่องจากที่ทราบกันว่าไม่สามารถจดทะเบียนเป็นอาชีพที่ถูกต้องได้ ทำให้เมื่อเกิดความเจ็บป่วยไม่ว่าจะเพราะจากการให้บริการหรือปัญหาสุขภาพส่วนตัวจะไม่สามารถใช้บริการจากสิทธิประกันสังคมเหมือนกับอาชีพอื่นได้ หรือเมื่อเกิดปัญหาทำให้การประกอบอาชีพต้องสะดุดหยุดลงชั่วคราว เช่น สถานการณการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ก็จะไม่ได้รับเงินเยียวยาหรือเข้าสู่กระบวนการเยียวยาเหมือนกันอาชีพอื่น นอกจากนี้ยังไม่สามารถได้รับการบริการตรวจสุขภาพประจำปีอีกด้วย

“ในฐานะที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน มีความเท่าเทียมกัน การที่คนๆหนึ่ง ได้รับสวัสดิการครบถ้วนทุกอย่างเพียงเพราะเขาทำงานอีกแบบหนึ่ง กับอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้สวัสดิการอะไรเลย ไม่สามารถเรียกร้องขอความเป็นธรรมอะไรได้ ทั้งในด้านการประกอบอาชีพและสวัสดิการ สิ่งที่เขาต้องการจากสังคมคือเขาคือมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น”

สุรางค์ ผอ.SWING ไล่เรียงประวัติศาสตร์ให้เห็นพัฒนาของเรื่องนี้ว่า ก่อนปี 2503 การค้าประเวณีไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย จนเมื่อปี 2503 จึงมีกฎหมายปรามการค้าประเวณี บรรจุโทษทางอาญา เป็นการมองคนทำงานเป็นอาชญากร ขณะที่มิติศาสนาก็มองว่า การมีอยู่ของอาชีพนี้เป็นสิ่งไม่ดี สังคมก็ไม่ยอมรับนำมาสู่การตีตรา การเลือกปฏิบัติ การสร้างความรุนแรง ผลักพวกเขาออกจากความเป็นมนุษย์ เช่นการตั้งสมญานาม ผีขนุน ผีมะขาม

ในปี 2539 มีกฎหมายใหม่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ซึ่งมองว่าปัญหาการค้าประเวณีเกิดจากสภาพเศรษฐกิจ และผู้ค้าประเวณีเป็น “ผู้ด้อยสติปัญญาและการศึกษา" จึงสมควรลดโทษ และควรต้องให้การคุ้มครองกับผู้ค้าประเวณี ซึ่งก็คือ เมื่อถูกจับจะให้ฝึกอาชีพ

“นี่เป็นสิ่งที่มีอยู่ 61 ปี ธงใหญ่ของกฎหมาคือความเชื่อที่ว่า การมีกฎหมายเอาผิดจะทำให้การค้าประเวณีหมดหรือลดน้อยลง แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ คนทำอาชีพนี้มีปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ การจับและปรับมันแก้ปัญหาได้ไหม 61 ปีสังคมไทยควรยอมรับและเรียนรู้ได้แล้วว่า ใช้วิธีนี้แก้ปัญหาไม่ได้ มันทำให้คนหลักแสนตกอยู่ในสภาพที่ต้องดิ้นรนช่วยเหลือตัวเอง ไม่ได้รับการคุ้มครองอะไรเลย”

สำหรับทางออกนั้น สุรางค์ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานเรียกร้องสิทธิให้พนักงานบริการมา 32 ปี ระบุว่า ไม่ได้ต้องการให้มีการยกร่างกฎหมายใหม่เพื่อให้อาชีพนี้ถูกกฎหมาย แต่ต้องการให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 และแก้ไขกฎหมายสถานบริการ ผับ บาร์ เลาจน์ ฯลฯ ให้คนทำงานทั้งหมดมีสถานะเป็น”ลูกจ้าง” เจ้าของมีสถานะเป็น “นายจ้าง” แล้วใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานในระบบปกติ ส่วน Sex worker ที่ไม่มีสังกัดก็จะเท่ากับเป็น ‘แรงงานนอกระบบ’ ที่ต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมแรงงานนอกระบบอื่นๆ

“จากประสบการณ์ เราซัพพอร์ตมุมของการทำให้ไม่ผิดกฎหมาย ถ้าจะทำให้ถูกกฎหมาย มันต้องเขียนกฎหมายใหม่ ขณะที่อาชีพอื่นไม่เห็นต้องมีกฎหมายรองรับเฉพาะ หากมองทุกคนคือคนเท่ากัน ก็ไม่ต้องเขียนกฎหมายมาบอกว่าการทำแบบนี้มันถูก แต่เน้นไปดูว่ามีกฎหมายอะไรที่มีอยู่แล้วใช้กับทุกคนในฐานะมนุษย์ นั่นคือ ใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงาน” สุรางค์กล่าว  

“เราคงไม่แก้ปัญหาได้ 100% แต่ก็เชื่อมั่นและอยากเห็นว่า ประเทศไทยลุกข้นมายอมรับและแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ เพราะมันก้าวไปข้างหน้าแล้วถอยหลังกลับไปที่เดิมตลอดเวลา อะไรหนอที่มันทำให้กลับไปอยู่ที่เดิม นั่นคือ มันมีคนเสียประโยชน์จากการทำให้อาชีพนี้ "ไม่" เป็นสีเทา”

“การที่คนหลายแสนคนทำอาชีพนี้ ทั้งที่รู้ว่าจะเจอการปฏิเสธจากสังคม นั่นเป็นเพราะเขาพยายามารับผิดชอบตัวเอง ไม่เป็นภาระของใคร ดังนั้น เมื่อเขาพยายามขนาดนี้แล้ว เราต้องเจอคนละครึ่งทาง ทำยังไงให้เขาได้รับความเป็นธรรม ได้รับความคุ้มครอง เขาไม่ได้เรียกร้องอะไรที่เหนือกว่าคนอื่นเลย น้องคนหนึ่งบอกว่า การที่เขาขายบริการ เขาไม่ได้ขายจิตวิญญาณ เขายังมีความเป็นคนเหมือนคนอื่น เขาแค่อยากให้มองเขาเป็นคนอย่างคนอื่น” สุรางค์กล่าว

จักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.พรรคเพื่อไทย แม้ติดภารกิจที่สภา แต่ก็ฝากข้อความมาว่า พรรคเพื่อไทยยินดีสนับสนุนการขับเคลื่อนของภาคประชาชน โดยจะเปิดพื้นที่รับฟังปัญหา ความต้องการ และพยายามขับเคลื่อนในเชิงนโยบาย นิติบัญญัติ รวมถึงความเข้าใจของสังคม เพราะเชื่อว่า การทำให้เรื่องนี้ไม่ผิดกฎหมายจะทำให้รัฐสามารถดูแลสุขภาวะคนทำงานได้มากขึ้น คุ้มครองสวัสดิภาพได้ดีขึ้น ขณะที่มิติทางเศรษฐกิจก็จะได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ การให้ความสำคัญกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ และ free will ของมนุษย์ ทุกคนมีอิสรภาพในการเลือกเส้นทางของตัวเอง

ในอดีตแม้ธุรกิจโสเภณีจะให้บริการกับคนส่วนใหญ่ในประเทศแต่ก็มีงานวิจัยชี้ว่า การบริการดังกล่าวมีไว้ให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศอีกด้วย ทำให้ในปี พ.ศ.2531 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ซึ่งการบริการดังกล่าวก็เป็นตัวแปรหลักที่ทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นของมูลค่าดังกล่าว ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในปัจจุบันก็เป็นตัวแปรหลักเช่นกัน

หากผลักดันให้ให้โสเภณีถูกกฎหมายจะทำให้มูลค่าเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ GDP ซึ่งรายได้ในช่วงปี 2536-2538 พบว่าอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท หากนำตัวเลขเหล่านี้มาพิจาณาถึงอัตราเงินเฟ้อ การเติบโตของธุรกิจ และจำนวนแรงงานที่เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันอาจจะมีค่าถึง 2-2.5% ของ GDP คือมีค่าประมาณ 3 แสนล้านถึง 3.75 แสนล้านบาท นอกจากนี้คาดการณ์ว่าในปัจจุบันอาจจะมีจำนวนโสเภณีประมาณ 2 แสน – 2.5 แสนคน ซึ่งเราจำเป็นที่จะต้องดูแลแรงงานในภาคบริการเหล่านี้

แปลว่าประเทศจะได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่หากยังมีการพิจารณาว่าการค้าประเวณีในไทยที่ผิดกฎหมาย ย่อมเป็นการปิดประตูโอกาสในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวไปโดยปริยาย นับว่าน่าเสียดายไม่น้อยเพราะอุตสาหกรรมขายบริการน่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 3 แสนล้านบาทในแต่ละปี ซึ่งตัวเลขเงินหมุนเวียนดังกล่าวมีมูลค่าถึง 10% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย