ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการยูเอ็นเตือนว่า แม้จะมีโควิด-19 ระบาดอยู่ แต่โลกก็ไม่ควรหลงลืม ‘สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมที่ลึกซึ้งกว่า’ อย่างปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

อันตอนิอู กูแตร์รีช เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในโอกาสครบรอบ 50 ปีวันคุ้มครองโลก (22 เม.ย.) ว่า แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจะส่งผลกระทบกับโลกอย่างฉับพลันและร้ายแรง ถือเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่วิกฤตนี้ก็เป็นเหมือนสัญญาณเตือนให้ทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่ออนาคต โลกต้องไม่ลืม “สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมที่ลึกซึ้งกว่า” 

กูแตร์รีชกล่าวว่า สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงถึงจุดที่ไม่อาจย้อนกลับได้อีกแล้ว ส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงอย่างรวดเร็ว “ทุกฝ่ายต้องลงมืออย่างเฉียบขาดในการปกป้องโลกจากทั้งไวรัสโคโรนาและภัยคุกคามจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง”

กูแตร์รีชได้ยื่นแผนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง 6 ข้อสำหรับฟื้นฟูโลกหลังจากการระบาดของโควิด-19 จบลง เขาย้ำว่า “นี่เป็นโอกาสในการฟื้นฟูโลกไปสู่อนาคตที่ถูกต้อง” โลกจะต้องสร้างงานและธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั่วโลกต้องร่วมมือกัน นำความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศเข้าไปคิดรวมในระบบการเงิน และให้เป็นหัวใจของนโยบายสาธารณะทั้งหมด

เลขาธิการยูเอ็นยังกล่าวว่า รัฐบาลต่างๆ จำเป็นต้องตั้งเป้าหมายว่า เงินของผู้เสียภาษีจะถูกนำไปใช้สร้างงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน เงินจะต้องถูกนำไปฟื้นฟูประชาชนและสังคมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “งบประมาณจะต้องนำไปลงทุนในอนาคตไม่ใช่ในอดีต” เขาย้ำว่า รัฐบาลต้องหยุดให้เงินช่วยเหลือพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และผู้สร้างมลพิษจะต้องจ่ายเงินชดเชยด้วย

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างไวรัสโคโรนากับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง โดย แอนดรูว์ นอร์ตัน ผู้อำนวยการสถาบันนานาชาติเพื่อสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา หรือ IIED กล่าวว่า ในขณะที่โรคระบาดจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกลดลง แต่ก็ไม่ควรเบี่ยงเบนความสนใจของทุกคนไปจากความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานอย่างรวดเร็วในระบบโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน การใช้ที่ดิน และอุตสาหกรรม เพื่อไปสู่โลกที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050

นอร์ตันกล่าวต่อว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและการทำลายป่าเป็นปัจจัยหลักในการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคระบาดมากขึ้น เพราะคนก็จะสัมผัสกับภัยคุกคามใหม่ๆ เช่น ไวรัสโคโรนา สัตว์ทุกสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่อาจย้อนไปแก้ไขอะไรได้อีก ธรรมชาติก็จะฟื้นฟูได้ยากขึ้น 

ดร.คาเรน โอ นีล จากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์สของสหรัฐฯ กล่าวว่า การแพร่ะระบาดของโควิด-19 เป็นเครื่องเตือนว่า การดำรงชีวิตของมนุษย์บนโลกนี้เปราะบางมาก แนวคิดสิ่งแวดล้อมนิยมนับตั้งแต่มีการกำหนดวันคุ้มครองโลกปีแรกได้ขยายไปสู่การรับรู้ความเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพมนุษย์กับระบบนิเวศแล้ว สิ่งแวดล้อมที่ถดถอยและมลพิษทำให้มนุษย์มีแนวโน้มจะเผชิญกับไวรัสต่างๆ มากขึ้น และจะยิ่งอ่อนแอลงเมื่อไวรัสเริ่มระบาดจากคนสู่คน


ที่มา : UN, BBC