ย้อนไปปี 2558 หลัง คสช.ทำรัฐประหารมาไม่นาน กระทรงคมนาคมเป็นเจ้าภาพในการทำให้ "คลองแสนแสบสะอาดภายใน 2 ปี ตามดำริของ คสช."
ครม.ได้อนุมัติแผนงานไปเมื่อเดือน พฤศจิกายน 2558 วงเงินรวม 6,989 ล้านบาท
แต่คลองแสนแสบก็ยังคงเป็น "คลองแสนแสบ" อย่างที่เห็น
ต่อมา ปี 2560 คสช.ได้ยกระดับ คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่ตั้งขึ้นสมัยรัฐบาลรัฐประหารรุ่นพี่ สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งดูแลนโยบายน้ำทั่วประเทศ โดยให้มีสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ คนที่นั่งหัวโต๊ะก็คือ ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปี 2560 เช่นกัน แผนทำคลองแสนแสบให้ใส จาก 2 ปี ถูกปรับปรุงใหม่ให้ทำเป็นระยะ 2 ปี 5 ปี 20 ปี ด้วยเหตุอันใดไม่ทราบแน่ชัด แน่นอนว่า งบประมาณก็เพิ่มเขึ้นด้วยและให้มีเอกชนมาร่วมลงทุนด้วยในบางส่วน วงเงินรวมทั้งหมดขยับเป็น 49,835 ล้านบาท ครม.อนุมัติบางส่วนและให้นำไปพิจารณาในรายละเอียดบางส่วน
ปรากฏว่าคณะกรรมการทรัพยากรน้ำ ประชุมและได้ผลสรุปรวมออกมาว่า
มีนาคม 2564 ทำ 84 โครงการ งบรวม 79,955.46 ล้าน ถัดมาไม่กี่เดือน ประชุมกันใหม่กันยายน 2564 งบขยับเป็น 82,565 ล้าน (ดำเนินโครงการตั้งแต่ 2564-2574) และครม.ก็อนุมัติตามนั้นเมื่อเดือนธันวาคม 2564
งบ 82,563 ล้านบาทนี้ แบ่งเป็น
เงินงบประมาณแผ่นดิน 67,205.37 ล้านบาท (81.40%)
เงินงบประมาณของ กทม. 2,890.50 ล้านบาท (3.50%)
เงินจากเอกชนร่วมลงทุน 12,468.00 ล้านบาท (15.10%)
งบประมาณจะใช้ไปกับเรื่องหลักคือ จัดการปัญหามลพิษ, ปรับปรุงทัศนียภาพ, บริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลอง, เสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำ
ส่วนที่จะใช้เงินมาที่สุดก็คือการสร้างโครงบำบัดน้ำเสีย 10 โครงการ วงเงิน 65,000 ล้าน
ทั้งนี้ คลองแสนแสบถูกขุดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2380 มีความยาวตลอดสาย ประมาณ 74 กิโลมตร เริ่มจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศไปทางทิศตะวันออกจนถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก และเชื่อมกับคลองบางขนาก ซึ่งไหลไปลงแม่น้ำบางปะกงในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา
ส่วนที่อยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราและรับผิดชอบโดยกรมชลประทาน มีความยาวประมาณ 26.5 กิโลมตร ส่วนที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร รับผิดชอบโดยสำนักการระบายน้ำ มีความยาวประมาณ 47.5 กิโลเมตร มีความกว้างประมาณ 20 - 30 เมตร
ปัจจุบัน คลองแสนแสบและคลองสาขามีปัญหาน้ำเสีย ซึ่งเกิดจาก (1) กิจกรรมครัวเรือนหรือชุมชนที่มีบริเวณติดคลองแสนแสบและคลองสาขา 70% ของน้ำเสียทั้งหมด (2) โรงงาน สถานประกอบการต่างๆ 29% (3) การเดินเรือและการสะสมของตะกอนท้องคลอง 1%
ภาพและวิดิโอ : สุภาพร ธรรมประโคน