นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 ว่า ตามนโยบายของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าและสินค้าไม่มีใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างเข้มงวด เพี่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อเด็ก เยาวชน และประชาชน
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากรเข้มงวดกวดขันเรื่องดังกล่าว โดยนายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร ได้ขานรับนโยบายและกำชับให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเร่งกวดขันการป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดสินค้าดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อหยุดการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า และสินค้าที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ และวัตถุอันตรายที่ใช้ในครัวเรือน ซึ่งจะต้องได้รับการอนุญาตหรือตรวจสอบก่อนเข้าสู่ประเทศไทย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้ตรวจสอบตู้สินค้านำเข้า โดยมีประเทศกำเนิดจาก CHINA สําแดงสินค้า 11 รายการ จำนวน 613 CARTONS น้ำหนัก 9,579.30 KGM ผลการตรวจสอบ พบบุหรี่ไฟฟ้า M ZERO จำนวน 17,640 ชิ้น เป็นความผิดตามมาตรา 202 244 ประกอบมาตรา 252 และมาตรา 243 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และเป็นของต้องห้ามตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 นอกจากนั้นยังพบสินค้าไม่มีใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้แก่ เครื่องนวด จำนวน 32,000 ชิ้น เข็มฉีดยา จำนวน 600,000 ชิ้น และหัวปรับสายน้ำเกลือ จำนวน 90,000 ชิ้น กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 และ 246 ประกอบมาตรา 166 และ มาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสินค้าทั้งหมดมีมูลค่ารวมกว่า 11 ล้านบาท
ในวันเดียวกัน กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ได้มีการขอหมายศาลเพื่อเข้าตรวจค้นร้านค้าในเขตจตุจักร เขตดินแดง เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร และอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี รวม 7 แห่ง เนื่องจากได้รับการข่าวว่ามีการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ผลการตรวจค้นพบ บุหรี่ไฟฟ้าชนิดใช้แล้วทิ้ง บุหรี่ไฟฟ้าแบบหัวพ็อด และน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 5,602 ชิ้น มูลค่ากว่า 1.2 ล้านบาท โดยไม่พบหลักฐานในการนำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง กรณีนี้เป็นความผิดตามมาตรา 242 246 และมาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และ 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ กรมศุลกากรจะเพิ่มมาตรการในการป้องกันและปราบปรามอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้บุหรี่ไฟฟ้าและสินค้าที่ไม่มีใบอนุญาต เข้ามาทำอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเยาวชนและประชาชนไทย สำหรับในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 30 กันยายน 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุม บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 393 คดี ปริมาณ 1.4 ล้านชิ้น มูลค่า 145.63 ล้านบาท และสถิติการจับกุมสินค้าที่ไม่มีใบอนุญาตต่าง ๆ จำนวน 3,483 คดี ปริมาณ 36 ล้านชิ้น มูลค่า 710.4 ล้านบาท