ไม่พบผลการค้นหา
นักวิชาการที่ศึกษาด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แนะผู้ต้องการปฏิรูป-เปลี่ยนโครงสร้างสังคม 'ขยายแนวร่วม' ไปให้พ้นจากขั้วขัดแย้งทางการเมืองเดิม ขณะที่สื่อออสเตรเลียชี้ กระแสกดดันในทวิตเตอร์ผ่านแฮชแท็ก #RepublicOfThailand สะท้อนว่าไทยต้องเปิดพื้นที่ถกเถียงอนาคตร่วมกัน

ศ.ดันแคน แม็กคาร์โก นักวิชาการชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลายเล่ม เผยแพร่บทความวิเคราะห์สถานการณ์การชุมนุมประท้วงต่อเนื่องของเยาวชนและประชาชนไทยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

บทความดังกล่าวชื่อว่า Can Thailand’s Protest Movement Broaden Its Appeal? เผยแพร่ครั้งแรกที่เว็บไซต์ Foreign Policy เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2563 โดยมองว่าการประท้วงในช่วงที่ผ่านมามีความพยายามอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่จะกระทบต่อสถาบันหลักของไทย ทำให้เกิดแรงต้านอย่างหนัก ประกอบกับสังคมไทยยังอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งและแบ่งฝักฝ่ายมาอย่างยาวนาน ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะคลี่คลายสถานการณ์ได้

นอกจากนี้ แม็กคาร์โกยังระบุด้วยว่า กลไกในระบอบรัฐสภาที่เป็นอยู่ เอื้อประโยชน์ให้ขั้วการเมืองที่กุมอำนาจในปัจจุบันสามารถกำหนดเกมการต่อรองได้ เห็นได้จากการโหวตของ 250 ส.ว.ที่มีจากการแต่งตั้งในการประชุมสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

บทความของแม็กคาร์โกระบุว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่มีนักเรียนนักศึกษาเป็นแกนนำ ได้รับความสนใจและเสียงสนับสนุนอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องทำขั้นต่อไปคือการหามิตรที่จะร่วมขับเคลื่อนข้อเรียกร้อง

ทั้งนี้ การเปิดพื้นที่เพื่อถกเถียงประเด็นทางการเมืองเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ถ้าจะคืบหน้าไปสู่เป้าหมาย กลุ่มผู้ชุมนุมจะต้องขยายการเจรจาและหาแนวร่วมไปยังกลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงคนช่วงวัยอื่นๆ โดยมุ่งเน้นที่การหาทางออกร่วมกันว่าจะนำพาสังคมไทยออกจากระบบการเมืองที่ไม่สมประกอบนี้ได้อย่างไร

24มิถุนา หมุดคณะราษฎร์จำลอง

แฮชแท็ก #RepublicOfThailand สะท้อนความสิ้นหวัง?

'เซบาสเตียน สแตรนจิโอ' ผู้สื่อข่าวออสเตรเลีย เป็นอีกคนหนึ่งที่สะท้อนมุมมองในฐานะสื่อต่างชาติที่มีต่อการชุมนุมประท้วงในประเทศไทย โดยเก็บข้อมูลทั้งจากการชุมนุมบนท้องถนนและการแสดงความคิดเห็นผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ทวิตเตอร์ ซึ่งหลายครั้งได้กลายเป็นดัชนีชี้วัดอุณหภูมิทางการเมืองได้เป็นอย่างดี

บทความ What Lies Behind Thailand’s Hashtag Republicanism? ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ The Diplomat เมื่อวันที่ 29 ก.ย.2563 และมองว่า แฮชแท็กพาดพิง 'สาธารณรัฐไทย' เป็นภาพสะท้อนความไม่พอใจของผู้ชุมนุมที่มีต่อสังคมไทยในปัจจุบัน เพราะเป็นแฮชแท็กยอดนิยมที่มีผู้ทวีตข้อความถึง 860,000 ครั้งในเวลาไม่กี่ชั่วโมงเมื่อวันที่ 24 ก.ย. พร้อมข้อความเรียกร้องประชาธิปไตยและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่เป็นธรรมมากกว่าเดิม

ข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการให้ปฏิรูปสถาบันหลักของไทย เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการชุมนุมประท้วงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาของไทย แต่ข้อเรียกร้องนี้จะเป็นการท้าทายเครือข่ายอำนาจที่เป็นการรวมตัวกันของทหารและชนชั้นนำผู้นิยมระบอบกษัตริย์

นอกจากนี้ แรงขับเคลื่อนอีกประการหนึ่งของกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงครั้งนี้ อาจมาจาก 'ความสิ้นหวัง' เพราะสภาพเศรษฐกิจของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันโรคโควิด-19 และสังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำสูง หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ก็เป็นเรื่องยากที่จะเงียบเสียงของผู้ชุมนุมได้

บทความของแสตรนจิโอเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนและประชาชนที่เรียกร้องการปฏิรูปการเมืองไทยว่าเป็น 'ยักษ์ในตะเกียง' ซึ่งหลุดออกมาจากที่กักขังแล้ว ก็ไม่อาจกลับไปได้อีกจนกว่าภารกิจจะลุล่วง สังคมไทยจำเป็นต้องถกเถียงอย่างเปิดกว้างเพื่อหาทางออกร่วมกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: