นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจกับการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 1,223 ตัวอย่าง คาดว่าจะมีเงินสะพัดจากการใช้จ่ายทั่วประเทศราว 137,809 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันจากปีก่อนร้อยละ 1.9 นับเป็นตัวเลขที่ขยายตัวต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี ตั้งแต่มีการสำรวจปีในปี 2550
สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่ายสำหรับตนเองในช่วงปีใหม่ พบว่า อันดับ 1 คือ จะนำไปเงินไปทำบุญทางศาสนา ร้อยละ 91.1 รองลงมา คือ สังสรรค์/จัดเลี้ยง ร้อยละ 90.7 % ท่องเที่ยว ร้อยละ 76.8 ตามลำดับ โดยการทำบุญทางศาสนา และการสังสรรค์/จัดเลี้ยง ประชาชนตอบว่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
โดยของขวัญยอดนิยมในช่วงปีใหม่ พบว่า คือ ของรับประทาน ร้อยละ 20 รองลงมาคือสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องเรือนต่างๆ ร้อยละ 17.3 ตามมาด้วย เครื่องดื่มบำรุงร่างกาย กระเช้าของขวัญ สินค้าฟุ่มเฟือย กระเช้าผลไม้ จัดเลี้ยง สังสรรค์และเสื้อผ้าตามลำดับ
ส่วนการเดินทางออกไปเที่ยวในช่วงเทศกาลปีใหม่ พบว่าประชาชนจะมีการท่องเที่ยวในประเทศร้อยละ 84.7 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 15,615 บาทต่อคน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่อยู่ที่ 14,448 บาทต่อคน ส่วนการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 15.3 มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 58,842 บาท ลดลงจากปี 2562 ที่ 61,939 บาท
นอกจากนี้ในการสำรวจยังได้สอบถามถึงพฤติกรรมการใช้จ่ายว่ามีการใช้ผ่านมาตรการ “ชิมช้อปใช้” มากน้อยเพียงใด กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 83 ตอบว่าไม่ใช้ มีเพียงร้อยละ 17 ตอบว่าใช้เงินผ่านมาตรการนี้
ด้านนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้ตัวเลขการใช้จ่ายจะมากขึ้น แต่อัตราการขยายตัวถือว่าต่ำ สอดคล้องกับเศรษฐกิจปี 2562 ที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.6 นับเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ไม่กระฉูด เนื่องจากคนยังใช้อย่างระมัดระวังมากขึ้น เพราะสิ่งที่คนคาดการณ์เศรษฐกิจในปี 2563 ยังรู้สึกว่าเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย หรือขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 2.5