ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโรของเวเนซุเอลาประกาศเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (23 ม.ค.) ว่า เขาจะตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐฯ และให้นักการทูตสหรัฐฯ เดินทางออกจากเวเนซุเอลาภายใน 72 ชม. หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนนายฮวน กวัยโด ผู้นำฝ่ายค้านของเวนเซุเอลาเป็นรักษาการประธานาธิบดีของประเทศ และเตือนประธานาธิบดีมาดูโรให้เข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย
ประธานาธิบดีมาดูโรกล่าวว่า ทางสหรัฐฯ พยายามที่จะเข้าแทรกแซงเวเนซุเอลา และยังกล่าวว่าฝ่ายค้านมีความพยายามในการทำรัฐประหารรัฐบาลของตน
"พวกเราจะไม่ยอมย้อนกลับไปอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่มีการแทรกแซงทางการเมืองจากต่างชาติและเกิดการรัฐประหารอีก"
ขณะที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ กล่าวชื่นชมคนเวเนซุเอลาที่ออกมาประท้วงต่อต้านนายมาดูโร และระบอบการปกครองของเขาและเรียกร้องให้นายมาดูโรคืนเสรีภาพให้กับประชาชนและกลับเข้าสู่กระบวนการทางนิติรัฐอีกครั้ง
(นายฮวน กวัยโด ผู้นำฝ่ายค้านของเวเนซุเอลา)
การประท้วงรัฐบาลนายมาดูโรของประชาชนเวเนซุเอลาเกิดขึ้นเมื่อสองสัปดาห์ก่อน หลังจากที่ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย จนกระทั่งในช่วงเช้าวันพุธที่ผ่านมานี้นายกวัยโด ผู้นำฝ่ายค้านได้ประกาศต่อหน้าผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลว่า ตนเป็นผู้นำคนใหม่ของเวเนซุเอลา และการชุมนุมประท้วงครั้งนี้จะมีขึ้นจนกว่าประธานาธิบดีมาดูโรจะลาออกจากตำแหน่งและเวเนซุเอลาจะเข้าสู่สังคมประชาธิปไตยเสรี
ทั้งนี้ การประกาศตนของนายกวัยโดนั้นได้รับการสนับสนุนจากประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้อย่างบราซิล โคลัมเบีย เปรู และสหรัฐฯ ในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ของเวเนซุเอลาด้วยเช่นกัน
นายมาดูโรเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเวเนซุเอลามานับตั้งแต่ปี 2558 ต่อจากประธานาธิบดีฮูโก ชาเวซ ซึ่งถึงแก่อสัญกรรมโดยไม่ทันได้แต่งตั้งทายาททางการเมือง ที่ผ่านมา รัฐบาลของนายมาดูโรต่างถูกนานาชาติประณามเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการจัดการปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศที่ทำให้เวเนซุเอลาต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในขั้นวิกฤติจนทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถจัดหาสิ่งจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิตได้ จำนวนมากต้องออกไปหางานทำในต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่คือประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ทั้งบราซิล เปรู และเอกวาดอร์ต้องแบกรับภาระเหล่านี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง