พิธีประกาศรางวัลออสการ์ปีนี้มีภาพยนตร์จากเกาหลีใต้ถูกจับตามองอย่างมาก
หนึ่ง คือ Parasite ในฐานะที่เป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงหลายรางวัล รวมถึงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม
สอง คือ In the absence ภาพยนตร์สารคดีความยาวแค่ 28 นาทีเศษๆ แต่หนักอึ้งไปด้วยความรู้สึก เพราะพูดถึงเหตุการณ์ที่เรือข้ามฟาก 'เอ็มวี เซวอล' ล่มในทะเลไม่ไกลจากเมืองจินโดของเกาหลีใต้ และมีผู้เสียชีวิต 304 ราย ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นมัธยม
ผู้กำกับ 'ยีซึงจุน' ไล่เรียงเรื่องราวเหตุการณ์ 'เรือเซวอลล่ม' ผ่านบทสัมภาษณ์ครอบครัวผู้เสียชีวิต รวมถึงคำบอกเล่าของนักประดาน้ำรายแรกๆ ที่ไปช่วยกู้ร่างผู้ที่ติดอยู่ในซากเรือใต้น้ำ สลับกับภาพเหตุการณ์จริงจากคลิปวิดีโอที่ผู้เสียชีวิตบางรายเผยแพร่ช่วงก่อนเรือจม รวมถึงภาพกระบวนการพิจารณาไต่สวนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อสรุปข้อเท็จจริง ทำให้สารคดีเรื่องนี้เป็นการ 'รื้อฟื้นความตายในเรือเซวอล' ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบในการช่วยเหลือ กู้ภัย และเยียวยา
หลายคนในบ้านเราคงยังจำเหตุการณ์นี้ได้ เพราะเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก เป็นโศกนาฏกรรมทางน้ำครั้งร้ายแรงของเกาหลีใต้ช่วงหลังสงคราม และเป็นชนวนเหตุให้คนจำนวนมากออกมาชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดี 'พัคกึนฮเย' โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลของเธอตอบสนองต่อเหตุการณ์นี้ล่าช้า เจ้าหน้าที่ติดต่อถึงเธอโดยตรงไม่ได้ในช่วงแรกๆ ที่เกิดเหตุ สะท้อนความไม่เอาใจใส่ต่อประชาชน
การชุมนุมขับไล่พัคกึนฮเย นำไปสู่กระบวนการพิจารณาถอดถอนพ้นตำแหน่ง ปธน. รวมถึงการตั้งข้อหาทุจริต-ใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ผู้เกี่ยวข้องกับเธอหลายคนถูกจับกุมและตัดสินโทษในคดีทุจริตและเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง
ฟังดูเหมือนจะเป็นความสำเร็จของเหล่าผู้ประท้วง แต่สำหรับผู้ปกครองของเด็กนักเรียนที่เสียชีวิตบนเรือเซวอล พวกเขายังไม่ได้รับคำตอบว่าผู้เกี่ยวข้องกับเรือเซวอลอับปางจะได้รับบทลงโทษอย่างไร
***บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาที่สำคัญของภาพยนตร์***
สารคดี In the absence เริ่มต้นจากการปล่อยเสียงบันทึกข้อมูลการสื่อสารของหน่วยงานที่รับผิดชอบชายฝั่งทะเลตัดสลับคลิปวิดีโอจากสื่อสังคมออนไลน์ของเหล่านักเรียนที่ได้รับคำบอกเล่าจากเจ้าหน้าที่บนเรือว่าให้อยู่อย่างสงบ และ "อย่าตื่นตระหนก" แม้ขณะนั้นเรือจะค่อยๆ เสียหลักเอียงข้างจมน้ำอยู่ก็ตาม
นักเรียนหญิงบางคนตั้งคำถามถึงคำสั่งที่ได้ยินว่า "เหมือนกับเวลาเกิดอุบัติเหตุที่สถานีรถไฟ" เจ้าหน้าที่มักจะบอกว่าทุกอย่างจะคลี่คลายและให้อยู่นิ่งๆ แต่คนที่ไม่ฟังคำสั่งเท่านั้นที่จะรอด...
สิ่งที่ทำให้คนดูจุก ก็เพราะรู้ว่าคนที่พูดข้อความนั้น อยู่บนเรือลำนั้น และแม้จะตั้งคำถามอย่างนั้น พวกเธอก็ยังเลือกที่จะทำตามคำสั่งและ 'รอ'
แต่คนบนเรือหลายร้อยคนไม่ได้ขึ้นมาจากน้ำอีกเลยนับแต่วันนั้น
ในเวลาสั้นๆ ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ผู้กำกับตั้งคำถามถึงความล้มเหลวของคนในภาครัฐที่ไม่อาจตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วเพียงพอ ผนวกกับการเงียบหายไปของประธานาธิบดีในช่วงเวลาที่ผู้ปฏิบัติงานต้องการคำสั่ง และรอภาวะผู้นำที่จะตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆ อย่างเร่งด่วน
เช่นเดียวกับการบันทึกไว้ว่า 'กัปตัน' เป็นคนแรกๆ ที่สละเรือ โดยไม่แจ้งข้อมูลใดๆ กับผู้โดยสารอีกหลายร้อยคนที่ยังรออยู่บนเรือลำนั้น
แม่คนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับผู้กำกับยีซึงจุน โดยสารภาพทั้งน้ำตาว่า เธอได้คุยกับลูกสาวที่อยู่บนเรือเซวอลก่อนเรือจม ขณะนั้นเด็กๆ ยังไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่ด้านนอก เพราะเรือข้ามฟากมีขนาดใหญ่และมีหลายชั้น แต่โทรศัพท์มือถือยังสื่อสารได้ นักเรียนหลายคนจึงโทรหาผู้ปกครอง บางคนก็ส่งข้อความ และบางคนเลือกที่จะเผยแพร่วิดีโอผ่านสื่อสังคมออนไลน์
แม่คนนั้นบอกให้ลูกสาว 'เชื่อฟังคำสั่ง' ของคนที่ดูแล เพราะเธอไม่รู้ว่า 'ข้อมูลที่แท้จริง' ของสถานการณ์ขณะนั้นเป็นอย่างไร และเธอคงจะรู้สึกผิดไปตลอดชีวิต เพราะลูกสาวเธอเป็นคนหนึ่งที่จมลงไปพร้อมกับเรือ
ส่วนนักประดาน้ำชายคนหนึ่ง ซึ่งเป็นทีมแรกๆ ที่ไปช่วยสำรวจใต้น้ำ รวมถึงนำร่างผู้ที่ติดอยู่ในเรือเซวอลขึ้นมา แต่ถูกคำสั่งถอนตัวออกจากพื้นที่ในภายหลัง เนื่องจากเขาเป็นนักดำน้ำอิสระ และรัฐบาลพัคกึนฮเยสั่งให้นักดำน้ำของกองทัพเข้าไปรับช่วงต่อแทน
นักประดาน้ำคนนั้นบอกผู้กำกับว่า เขารู้สึกผิดและติดค้างที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อให้เสร็จได้ และยังรู้สึกเหมือนคนที่ติดอยู่ในเรือเซวอลยังคงร้องขอความช่วยเหลือจากเขาอยู่
นักประดาน้ำคนนั้นชื่อ 'คิมกวานฮง' และเป็นคนหนึ่งที่ได้เข้าไปให้ปากคำกับคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อสรุปเหตุการณ์เรือเซวอล ซึ่งจะนำไปสู่การนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษตามกฎหมาย แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงให้ปากคำว่า 'ไม่แน่ใจ' ในลำดับเหตุการณ์ เพราะการไต่สวนเริ่มขึ้นหลังเกิดเหตุอีกหลายเดือน คิมจึงถามเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนนั้นว่า ชนชั้นนำของสังคมลืมเหตุการณ์เลวร้ายอย่างนั้นลงได้อย่างไร?
แต่ในหนังก็ไม่ได้มีคำตอบให้ และผู้กำกับยังบอกกับเราทีหลังด้วยว่า คิมกวานฮงตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงหลังจากนั้นไม่นาน....
เหตุการณ์ที่เหลือใน In the absence เป็นคำบอกเล่าของเครือข่ายญาติผู้เสียชีวิตที่รวมตัวกันเคลื่อนไหวกดดันทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เปิดเผยข้อเท็จจริงที่ได้จากไต่สวน แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนหรือคืบหน้ามากนัก และแม้ว่าจะกู้ซากเรือขึ้นมาได้ในอีกเกือบ 3 ปีต่อมา ครอบครัวผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ที่เก็บซากเรือ
เมื่อเจ้าหน้าที่ซึ่งตั้งแถวอยู่ด้านหลังรั้วกั้น บอกให้ผู้ปกครองรอการแถลงชี้แจงอย่างเป็นทางการ แม่คนหนึ่งก็ตะโกนใส่เจ้าหน้าที่ทั้งน้ำตาว่า "พวกเด็กๆ ตายในระหว่างที่รอ"...
พวกแม่ๆ ที่สูญเสียลูกก็ไม่คิดจะรออยู่เฉยๆ เช่นกัน
จากนั้นหนังก็ลากยาวไปถึงปัญหาคอร์รัปชันอันเรื้อรัง โดยตีแผ่ว่าเรือเซวอลถูกดัดแปลงให้รับน้ำหนักมากเกินกว่าที่ตัวเรือจะรับได้ เป็นเหตุให้เรือเอียงจนไม่สามารถกู้คืน
เจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ หรือตรวจสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางเรือก็ถูกลากมาตั้งคำถามตบหน้ากันในหนังสารคดีเรื่องนี้ เหมือนจะให้คนดูช่วยตั้งคำถามซ้ำๆ อีกทีว่า พวกเขาปล่อยให้ 'เรือไม่ได้มาตรฐาน' ประกอบกิจการอยู่ได้อย่างไร และรู้สึกอะไรหรือไม่ที่มีคนจมลงไปกับเรือลำนี้ตั้งมากมาย
ไม่ว่า In the absence จะได้รางวัลออสการ์ (สาขาภาพยนตร์สารคดีสั้นยอดเยี่ยม) ในปีนี้หรือไม่ คนที่ได้ดูก็น่าจะจำฝังใจและจุกไปอีกนาน เพราะข้อความที่สื่อสารไม่ได้ให้ความหวัง ทั้งยังไม่ประนีประนอมกับความเป็นจริงใดๆ
ก็คงเหมือนกับคำให้สัมภาษณ์ของผู้กำกับที่บอกกับสื่อในประเทศตัวเองเอาไว้ว่า "สิ่งที่น่ากลัวที่สุดสำหรับผมก็คือเวลาที่มีคนบอกว่า "หยุดได้แล้ว" แต่เราจะหยุดได้ยังไง ในเมื่อแผลยังไม่หายดี"
"ถ้าเราชาชิน เรื่องแบบนี้ก็จะเกิดขึ้นอีก นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมเราถึงต้องพูดถึงมันต่อไป ไม่ว่ามันจะเจ็บปวดแค่ไหนก็ตาม..."