ไม่พบผลการค้นหา
'เจอโรม เพาเวลล์' ประเมิน ศก.สหรัฐฯ หดตัวหนักไตรมาสสอง แต่จะไม่ซ้ำรอยยุคเศรษฐกิจตกต่ำ

'เจอโรม เพาเวลล์' ประธานธนาคารกลางของสหรัฐฯ หรือ เฟด ให้สัมภาษณ์ในรายการ "60 นาที" (60 minutes) ชี้ว่า อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ (จีดีพี) อาจหดตัวมากกว่าร้อยละ 30 ในไตรมาสที่สองของปีนี้เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ความน่าจะเป็นที่เศรษฐกิจประเทศจะซ้ำรอยยุคเศรษฐกิจตกตกต่ำ (The Great Depression) ในช่วงปี 1930 หรือราวๆ ปี 2473 ยังต่ำอยู่ แม้ตัวเลขการวางงานอาจพุ่งขึ้นไปอยู่ระดับสูงสุดที่ร้อยละ 25 

เมื่อ 'สกอตต์ เพลเลย์' พิธีกรรายการ "60 นาที" ที่ฉายทางช่องซีบีเอส ถามย้ำว่าวิกฤตโควิด-19 ในปัจจุบันจะส่งผลให้สหรัฐฯ เผชิญหน้ากับตัวเลขการว่างงานถึงร้อยละ 25 ไหม คำตอบจากเจอโรมคือ "ผมคิดว่ามันมีช่วงของมันอยู่ แต่ตัวเลขเหล่านั้นก็ดูจะถูกต้องสำหรับกรณีว่างงานสูงสุด" ส่วนคำตอบย้ำว่าสหรัฐฯ ไม่น่าจะมีประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับยุคเศรษฐกิจตกต่ำ เจอโรม อธิบายว่า "ผมไม่คิดว่าผลลัพธ์จะออกมาแบบนั้นเลย มันมีพื้นฐานที่แตกต่างกันมากๆ"

สาเหตุหลักที่ทำให้ ประธานเฟดมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่หดตัวยาวนานเช่นนั้นเป็นเพราะธรรมชาติความกังวลใจของนักลงทุนในปัจจุบันในปัจจุบันประกอบกับความคล่องแคล่วของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และความแข็งแกร่งทางระบบการเงินจะช่วยให้การฟื้นตัวทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า จากสคริปต์ของช่องซีบีเอสในช่วงที่ไม่ได้มีการถ่ายทอด ประธานเฟดชี้ว่า อัตราการเติบโตของสหรัฐฯ อาจหดตัว "อย่างง่ายดายในช่วง 20 หรือ 30 เปอร์เซ็นต์" อย่างไรก็ตามจีดีพีจะหันหัวกลับขึ้นมาในไตรมาสสาม

"ผมคิดว่ามันมีความเป็นไปได้ที่การปรับตัวดีขึ้นจะกลับมาในไตรมาสสาม และผมคิดว่ามันเป็นการคาดหวังที่มีเหตุผลว่าเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปีจะเติบโต...ทั้งนี้ผมไม่คิดว่าเราจะกลับไปในจุดที่เราเคยยืนอยู่ได้เร็วมากนัก เราจะไม่กลับไปอยู่ในจุดที่เราเคยยืนในสิ้นปีนี้แน่ แบบนั้นดูเป็นไปได้ยาก" เจอโรม กล่าว 

ส่วนประเด็นสำคัญ ที่จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในความเชื่อของเจอโรมมาจากความแตกต่างของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปัจจุบันกับอดีต ซึ่งในยุคปัจจุบันเฟดของเจอโรมมีการพุ่งเป้าเข้าช่วยเหลือสถานการณ์ไปแล้วเกือบๆ 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 96 ล้านล้านบาท และยังวางแผนจะสนับสนุนเงินเพิ่มเติม ประกอบกับต้นเหตุหลักของวิกฤตในครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากภาวะฟองสบู่แต่เกิดจากการหยุดภาวะเศรษฐกิจเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรสายพันธุ์ใหม่ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ธนาคารกลางสหรัฐฯ จากเมืองแอตแลนตาประเมินข้อมูลว่าจีดีพีของสหรัฐฯ ในไตรมาสที่สองนี้ จะหดตัวถึงร้อยละ 42 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะเป็นระดับที่แย่ที่สุดที่สหรัฐฯ เคยพบเจอมา 

แม้เจอโรมจะไม่ได้กล่าวหนทางในการฟื้นตัวอย่างชัดเจนว่าประเทศต้องทำอย่างไรบ้าง แต่ก็ย้ำว่า "เราจะกลับไปในจุดที่เราอยู่ ณ ตอนเดือนก.พ.ที่ผ่านมาเราจะเติบโตในอัตราที่เร็วกว่าเดิมด้วย ผมมั่นใจมาก และมันจะไม่ใช้เวลานานขนาดนั้นหรอกที่จะเป็นถึงจุดนั้น"

อ้างอิง; CNBC, NYT