เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 15 มิถุนายน ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล พร้อมด้วย ส.ส.ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทรบุรี เขต 1 นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทรบุรี เขต 2 น.ส.ญาณธิชา บัวเผื่อน ส.ส.จันทบุรี เขต 3 นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 4
น.ส.กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี เขต 7 จ.ชลบุรี และ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ นายคารม พลพรกลาง และ น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ร่วมเวทีเสวนาทางออกประมงไทย ซึ่งนายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.ตราด เขต 1 พรรคอนาคตใหม่ ร่วมกับ ชาวประมงภาคตะวันออก จัดขึ้นเพื่อรับฟังปัญหาจากชาวประมงและหาทางแก้ไข โดยมี นายวิเชียร ทรัพย์เจริญ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตราด (อบจ.ตราด) ในฐานะเจ้าบ้านให้การต้อนรับ
โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ตนเองเดินทางไปรับฟังปัญหาภาคการประมงและที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง ทั้งประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน พบความเดือดร้อนของพี่น้องที่ทำอาชีพนี้ จนคิดว่า ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องทำอะไรบางอย่าง พระราชกำหนดประมง 2558 ซึ่งแก้ไข 2560 นั้น เกิดจากการที่รัฐบาลบังคับใช้มาตรฐานไอยูยู โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ซึ่งมาตรฐานนี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการประมงที่ยั่งยืน ในระยะยาว พรรคอนาคตใหม่เห็นว่าจำเป็น แต่ก็มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้ ดังนั้น เราจึงมารับฟังปัญหา เพื่อรวบรวมไปประมวลผลและผลักดัน ทำให้เกิดข้อเสนอแก้ปัญหาประมงอย่างเป็นรูปธรรม ที่จะฟื้นฟูการการประมงกลับมา เพราะถ้าเดินหน้าอย่างนี้ต่อไปภาคประมงอาจล่มสลาย พรรคอนาคตใหม่ยินดีมารับฟังปัญหา เพราะแต่ละแห่งปัญหาไม่เหมือนกัน คือ ปัญหาหลักๆ อาจเหมือนกัน ในแต่รายละเอียดต่างกัน อย่างภาคใต้ที่ตนเพิ่งกลับมา นอกจากในทะเลแล้วยังมีนักท่องเที่ยวอีกด้วย สิ่งที่ชาวประมงภาคใต้คิดคือทำอย่างไรที่เรือลำหนึ่งจะทำได้ทั้งประมงและท่องเที่ยว ดังนั้น ช่วยเล่าให้เราฟัง เพื่อจะเอาปัญหาเหล่านี้กลับไปประมวลผลแก้ไข และนำไปทำเป็นข้อเสนอต่อไป
ด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับประมงเป็นเรื่องที่พรรคอนาคตใหม่ให้ความสำคัญ เราจัดเวทีหลายครั้งทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง ปัญหาของทุกท่านไม่ได้เป็นเพียงแค่คะแนนเสียงให้ใครได้เข้าสภา หากแต่เป็นปัญหาร่วมกันของประชาชน ของสังคมไทย และพรรคการเมืองมีหน้าที่นำมตินี้ไปแปลง ไปพูดให้ปรากฏอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร และแก้ไขปัญหา นี่คือพันธกิจของพรรคอนาคตใหม่ เลือกตั้งเสร็จแล้วเราจะทำหน้าที่นี้ต่อไป ไม่ใช่ไม่ได้เป็นรัฐบาลแล้วเลิก งานในสภาผู้แทนส่วนหนึ่ง งานที่พรรคจะเดินหน้าสร้างพรรค รับฟังปัญหาต่างๆ ก็อีกส่วนหนึ่ง จะทำให้พรรคอนาคตใหม่มีชีวิตตลอดเวลา ไม่ใช่เฉพาะช่วงหาเสียง สำหรับปัญหาพี่น้องประมง เรายืนยันเสมอว่าไม่ได้ต่อต้านมาตรการไอยูยู และก็เชื่อว่าพี่น้องชาวประมงเองก็ไม่ได้ต่อต้าน ต่างเห็นร่วมกันว่าเป็นมาตรการที่รักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมเรื่องแรงงาน สร้างมาตรฐาการประมงอย่างยั่งยืน เพียงแต่ที่ไม่เห็นด้วยคือ มาตรการที่ คสช. นำมาใช้ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกกฎหมายโดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม อัตราโทษสูงไม่สมควรแก่เหตุ ระบบขอใบอนุญาตกระจัดกระจายหลายหน่วย ไม่มีช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านให้ตั้งตัว เป็นต้น เราตั้งใจว่า หลังการรับฟังปัญหาแล้ว ภายใน 1-2 เดือนนี้จะเป็นข้อเสนอเป็นรูปธรรมที่จะเอาไปผลักดันต่อไป
"ปัญหาจากเวทีแบบนี้เราจะเอาไปผลักดัน ส.ส.เอาไปพูดในสภา เราจะพยายามทำอย่างสุดความสามารถ จะใช้ทุกศักยภาพที่มี ทั้ง ส.ส. ในสภา ทั้งงานรับฟังปัญหากับภาคประชาชน เพื่อแก้ปัญหานี้ โดยยึดหลักความสมดุลย์ร่วมกันทั้งประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้าน ทั้งอนุรักษ์ธรมชาติ อนุรักษ์ชายฝั่ง และชีวิตชาวประมง ทั้งเรื่องการต่อสู้การค้าระหว่างประเทศ และการรักษาชีวิตพี่น้องประมงในประเทศ เป็นต้น ทางออกต้องเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เทไปข้างใดข้างใดข้างหนึ่ง เหมือน 5 ปีที่ผ่านมา ในยุค คสช. ดังนั้น ไม่ว่ามีเสียงเท่าไหร่ในสภา จะอยู่ในบทบาทใดฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เราสามารถทำงานได้ตลอดเวลา เสียงไม่ใช่ข้อจำกัด การเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านไม่ใช่ข้อจำกัด เวทีแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ" นายปิยบุตร กล่าว
ส่วน นายศักดินัย นุ่มหนู ส.ส.ตราด พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ตนเองเป็นคนจังหวัดตราดโดยกำเนิด ได้รับรู้รับเห็นปัญหาของพี่น้องชาวประมงมาโดยตลอด ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสเข้าไปสัมผัสพูดคุยกับพี่น้องชาวประมง ซึ่งอยากเห็นหน่วยงานหรือองค์กรที่มีศักยภาพจะเข้ามาแก้ไขปัญหาที่พวกเขาพบเจอ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ชาวประมงไม่สามารถออกหากินได้อย่างเป็นปกติ เกิดภาวะหนี้สิน สิ้นเนื้อประดาตัว หลายครอบครัวถูกคุมขัง ถูกปรับเป็นจำนวนมากจากมาตรการทางภาครัฐที่ออกมา บางคนถูกปรับจนหมดตัวและถูกยึดเรือไม่สามารถออกทะเลได้ ตามมาด้วยหนี้สินอีกมากมาย เหตุผลที่หยิบยกประเด็นพี่น้องชาวประมงมานำเสนอเป็นลำดับแรก เพราะชาวประมงจำนวนมากไม่อาจใช้ชีวิตต่อไปได้ หัวหน้าครอบครัวติดคุกตะราง ครอบครัวล่มสลาย ถ้ามองในเชิงความเป็นมนุษย์ ปัญหาของชาวประมงควรต้องได้รับการเยียวยาอย่างเร่งด่วน การบังคับใช้กฏหมายอย่างเข้มงวดโดยไม่มีช่วงระยะของการเปลี่ยนผ่านผ่อนปรน หรือบังคับใช้กฏหมายโดยไม่มีการสนใจผลที่ตามมาของการบังคับใช้นั้น เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขโดยด่วน
“เจตนาของการจัดเวทีนี้คือต้องการหาข้อตกลงร่วมกันระหว่างพี่น้องชาวประมงและหน่วยงานภาครัฐทุกส่วนว่าจะทำการประมงแบบใดที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐเองไม่ลำบากใจ และชาวประมงสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องระแวงว่าจะถูกจับเมื่อไหร่ เพราะตอนนี้ เรือประมงกว่า 70% ในจังหวัดตราด ไม่สามารถทำการประมงได้ ซึ่งส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อเศรษฐกิจภายในจังหวัดตราด ในฐานะที่เป็น ส.ส. หากตนเองไม่เป็นกระบอกเสียงให้ชาวประมง ไม่นำประเด็นปัญหานี้เข้าไปในสภา ตนเองก็ไม่สามารถพูดได้ว่าเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนได้” นายศักดินัย กล่าว