ไม่พบผลการค้นหา
ศบค.รายงานคืบหน้าการแพร่ระบาดโควิด-19 พบป่วยเพิ่ม 305 ราย ยอดสะสมเฉียดหมื่น เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย 'นพ.ทวีศิลป์' เตือนป่วยโควิดไม่มีแอปพลิเคชั่น 'หมอชนะ' ถือว่ามีความผิด ด้านแฮชแท็ก #หมอชนะ ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ชาวเน็ตตั้งคำถามคนไม่มีมือถือ-ไม่ใช้สมาร์ทโฟน จะมีความผิดหรือไม่

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันที่ 7 ม.ค. 2564 โดยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 305 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 9,636 ราย พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 67 ราย ผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 4,521 ราย 

สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิต รายที่ 67 เป็นชายไทย อายุ 88 ปี มีโรคประจำตัวคือโรคมะเร็ง ติดเชื้อมาจากลูกชายที่มีประวัติเสี่ยง กลับจาก จ.ระยอง มาเยี่ยมที่บ้าน 

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวตอนหนึ่งถึงการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 17 ซึ่ง ที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อยกระดับมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่ควบคุมระดับสูง 5 จังหวัด เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ว่า

" 5 จังหวัดเราเข้มมาก 'แอปหมอชนะ' ตอนนี้ทุกคนควรจะต้องมี และต่อไปถ้าท่านติดเชื้อถ้าพบว่าไม่มีก็อาจจะต้องมีข้อกำหนดในเชิงของบทลงโทษตามมา เพราะว่าเราต้องการควบคุมโรคโดยเร็ว กติกาที่เราต้องอยู่ในสังคมร่วมกันก็จะเกิดขึ้น" 


'หมอเลี้ยบ' ย้อนถามคิดได้อย่างไร

ด้าน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศลี อดีตรัฐมนตรีและอดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 รักษาทุกโรค ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ถึงการให้สัมภาษณ์โฆษก ศบค. ว่า "คิดแบบนี้ได้อย่างไร จะลงโทษผู้ติดโควิดแต่ไม่มี'หมอชนะ' จำคุก 2 ปีปรับสี่หมื่นบาท ต่อจากนี้เราจะเห็นกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย หลีกเลี่ยงไม่ตรวจโควิด เพราะกลัวติดคุกแล้วใช้ชีวิตปกติในชุมชน ไม่เปิดเผยตัว ประชาชนเจ็บมากพอแล้ว หยุดลงโทษประชาชน"

สำหรับข้อกำหนดฉบับที่ 17 มีสาระสำคัญดังนี้

  • ยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค ให้ประชาชนในพื้นที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน 'หมอชนะ' และ 'ไทยชนะ' เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลด้วยดี
  • ยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดที่จำเป็นต้องมีมาตรการเข้มงวดอย่างยิ่ง โดยให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเส้นทางคมนาคมและยานพาหนะของประชาชนเดินทางเข้าออกเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ จันทบุรี, ชลบุรี, ตราด, ระยอง และสมุทรสาคร เพื่อสกัดคัดกรองคนเข้าออกพื้นที่ โดยบุคคลที่จะอออกนอกพื้นที่ ต้องแสดงเหตุผลความจำเป็น บัตรประชาชน บัตรแสดงตนอื่นๆ ควบคู่กับเอกสารรับรองต่อเจ้าหน้าที่
  • ปราบปรามลงโทษผู้กระทำผิดเด็ดขาด จัดการบุคคลที่รู้เห็นให้มีบ่อนพนันในพื้นที่อันเป็นต้นตอของการระบาด รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และติดตามขบวนการขนย้ายแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมาย
  • ผู้ที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดย่อมเป็นความผิดซึ่งอาจต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ติดเชื้อจงใจปกปิดข้อมูลเดินทางหรือแจ้งข้อมูลเท็จ ถือว่ามีความผิดด้วย

บังคับประชาชนส่อขัด รธน.

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำวิชาสายกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตั้งข้อสังเกตุกรณีรัฐบาลออกข้อกำหนดให้ประชาชนใช้แอป 'หมอชนะ' ผ่านเฟซบุ๊กว่า มาตรการที่กำหนดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การติดตั้งระบบแอปที่ภาครัฐกำหนด" อาจเป็นมาตรการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เมื่อทางภาครัฐกำหนดให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยมีการกำหนดโทษทางอาญากรณีมีการฝ่าฝืน แต่ยังคงปรากฏข้อจำกัดของประชาชนแต่ละคนที่อยู่บนพื้นฐานที่แตกต่างกันออกไปตามที่ผมอธิบายไปข้างต้น ทั้งยังไม่ปรากฏรายละเอียดที่ภาครัฐจะเข้ามาทำให้การปฏิบัติตามมาตรการข้างต้นไม่เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน จึงย่อมถือว่า "มาตรการติดตั้งแอปพลิเคชั่น" มีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระ หรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุตาม อันเป็นการขัด หรือแย้งต่อมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ และขัด หรือแย้งต่อ มาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เป็นฐานอำนาจในการออกข้อกำหนดเองเสียด้วยซ้ำไป)

"ภาครัฐต้องไม่ลืมว่า การมีภารกิจในการดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งรวมถึงการมีหน้าที่ในการดูแลด้านสาธารณสุข หรือสุขภาวะของประชาชน (Public Health) นั้น ไม่ได้หมายความว่า เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น จะส่งผลให้รัฐสามารถออกมาตรการใดๆ ขึ้นมาก็ได้ตามอำเภอใจโดยมิได้คำนึงการเคารพและพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งก็เป็นอีกหน้าที่หลักหนึ่งของรัฐที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วยเฉกเช่นเดียวกัน"


แฮชแท็ก #หมอชนะ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แฮชแท็ก #หมอชนะ ติดอันดับ 1 เทรนด์ยอดนิยมของทวิตเตอร์ หลังจากมีผู้ทวีตข้อความพร้อมแฮชแท็กดังกล่าวกว่า 78,000 ครั้ง โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ติดแฮชแท็กดังกล่าวส่วนใหญ่ ตั้งคำถามว่า คนที่ไม่มีมือถือ หรือไม่ใช้สมาร์ทโฟน จะมีความผิดหรือไม่ 

Untitledpp.jpg


‘อนุทิน’ ย้ำ “ไม่โหลดแอปฯ 'หมอชนะ' ไม่ผิด

ล่าสุด อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กชี้แจงว่า เรียน พี่น้องประชาชน 5 จังหวัด สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด กรณีที่มีการออกคำสั่ง ให้ผู้ป่วยโควิดโหลดแอปพลิเคชั่น หมอชนะ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจ หากไม่โหลด มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นั้น

"ผมได้นำเรียนท่านนายกรัฐมนตรีแล้วว่า จะเป็นการทำให้ประชาชนมีปัญหามากขึ้น เนื่องจากประชาชนบางส่วนไม่มีโทรศัพท์ หรือมีโทรศัพท์ที่ไม่สามารถโหลดแอพพ์หมอชนะได้ ท่านนายกรัฐมนตรีเห็นด้วยตามที่ผมนำเรียน และจะให้มีการแก้ไขคำสั่ง ให้เป็นการใช้เอกสารแทน ซึ่งจะให้หน่วยงานในพื้นที่แจ้งอีกครั้งหนึ่ง

จึงขอเรียนให้พี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ 5 จังหวัด ทั้งผู้ป่วยและไม่ป่วย รวมถึงญาติผู้ป่วยทราบว่า การไม่โหลดแอพพ์หมอชนะ ไม่มีความผิดแต่อย่างใด

"คำสั่งดังกล่าวมีเจตนาจะดำเนินคดีกับผู้ปกปิดข้อมูลในการสอบสวนโรคเท่านั้น ขอความกรุณาแจ้งต่อๆ ไปด้วย ขอบคุณครับ อนุทิน ชาญวีรกูล ไม่โหลดไม่ผิด" อนุทิน ระบุ


โฆษก รบ.ยันไม่โหลด 'หมอชนะ' ไม่ผิด

ด้าน อนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการแถลงข่าว ของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศบค. ที่ระบุว่าหากผู้ติดเชื้อ ไม่มีการโหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะจะถือเป็นความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น นายอนุชาระบุว่า การที่ต้องมีแอพพลิเคชั่นหมอชนะ ขอทำความเข้าใจว่าแอปพลิเคชั่นเป็นการช่วยตรวจดูการเคลื่นที่ของประชาชน ที่ผ่านมาใช้ในการตรวจสอบว่าอยู่ที่ใดมาบ้างแล้ว หากไม่มีความสะดวกอาจใช้การบันทึกหรือแผนการเดินทางที่ด่านได้ แต่หากเจตนาปกปิดข้อมูลในเกิดการแพร่ระบาดถือเป็นความผิด แต่เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบได้ว่าหากมีสมาร์ทโฟนเจ้าหน้าที่จะช่วยในการโหลดและติดตั้ง เพื่อลดการแพร่ระบาด ไม่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาตรวจสิบและควบคุมอาจทำให้การบันทึกไทม์ไลน์เป็นไปอย่างล่าช้า แต่ยืนยันว่าไม่ถือเป็นความผิด หากเว้นแต่จงใจปกปิดข้อมูลหรือบิดเบือนข้อมูลให้ถือมีโทษตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน


อ่านเพิ่มเติม