ไม่พบผลการค้นหา
ผลสำรวจชี้ ประชาชนได้รับผลกระทบทุกฝ่าย แม้แต่กลุ่มที่มีรายได้สูงกว่า 50,000 บาท/เดือน ย้ำวิธีการเยียวยาแบบคัดคนเข้า ทำคนเดือดร้อนตกหล่นเกินครึ่ง

ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ สะท้อนคำแนะนำจากการจัดทำผลสำรวจเรื่อง 'แนวทางการจัดระบบสวัสดิการสังคมเพื่อรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ โควิด-19' ว่าหากย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการเยียวยาได้ ตนอยากให้ภาครัฐเปลี่ยนจากกระบวนการคัดคนเข้ารับการเยียวยาเป็นการให้ทุกคนได้รับการเยียวยาแล้วคัดออกแทน 

เดชรัต เสนองานวิจัยสวัสดิการถ้วนหน้า
  • ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์

นอกจากนี้ ผลสำรวจสะท้อนว่าประชาชนยังมีความเปราะบางอีกมากในระยะต่อไป จึงเห็นควรให้รัฐบาลเยียวประชาชนเพิ่มเติมในระบบถ้วนหน้า ช่วยเหลือทุกคนอีกอย่างต่ำ 3 เดือน ในวงเงินประมาณเดือนละ 3,000 บาท ซึ่งเป็นการอ้างอิงจากเส้นความยากจน (Poverty Line) จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในที่ 2561 ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 2,710 บาท/ราย/เดือน 

นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์อธิบายข้อมูลจากการสำรวจแบบสอบถามทั้งหมด 1,998 ราย ระหว่างวันที่ 14 - 24 พ.ค.ที่ผ่านมาว่า แท้จริงแล้วสถานการณ์ทางการเงินของครัวเรือนไทยในทุกระดับมีปัญหาตั้งแต่ก่อนมีการแพร่ระบาดแล้ว โดยผลการสำรวจสะท้อนว่า ช่วงก่อนโควิด-19 ครัวเรือนส่วนมากมีรายได้ใกล้เคียงกับรายจ่ายเป็นหลัก โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาท/เดือนลงมา พบว่ามากกว่าร้อยละ 50 มีกันชนทางการเงินน้อยกว่า 3 เดือน ขณะที่อีกร้อยละ 20 ไม่เคยประเมินสถานะทางการเงินของครอบครัว

แม้แต่ในกลุ่มผู้ที่มีรายได้สูง ในช่วง 50,000 - 70,000 บาท/เดือน ก็ยังมีสัดส่วนไม่ถึงครึ่งหนึ่ง หรือเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่มีกันชนทางการเงินไว้ใช้จ่ายตั้งแต่ 4 เดือน - 1 ปี ซึ่งข้อค้นพบดังกล่าวสอดคล้องกับผลการวิจัยของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (2563) ที่พบว่าร้อยละ 60 ของครัวเรือนไทยมีรายได้น้อยและมีกันชนทางการเงินไม่เกิน 3 เดือนเท่านั้น 

อย่างไรก็ตาม แม้หลายฝ่ายจะเริ่มตระหนักถึงความเปราะบางดังกล่าวตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขหรือปรับตัวได้ทัน เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ที่เปรียบเสมือนเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ทุกปัญหาระเบิดออกมา

สิงห์อาสาช่วยคนไร้บ้าน

อีกทั้งการช่วยเหลือของรัฐบาลควรจะเป็นแบบถ้วนหน้า เนื่องจากจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนทุกคน ไม่ใช่แค่หวังจะเจาะไปช่วยผู้มีรายได้น้อยอย่างเดียว เพราะจากผลการสำรวจชี้ว่าครัวเรือนที่มีรายได้ตั้งแต่ 70,000 บาท/เดือน ลงมา มีรายได้ลดลงในสัดส่วนร้อยละ 50 ขึ้นไป ยกเว้นครัวเรือนที่มีรายได้ตั้งแต่ 70,000 บาท/เดือน ขึ้นไป ที่มีผู้ได้รับผลกระทบรายได้ลดลงกว่าร้อยละ 50 ในสัดส่วนต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง หรือในอัตราร้อยละ 40 ซึ่งก็ยังนับว่าเป็นเกณฑ์ที่สูงอยู่ดี จึงอาจกล่าวได้ว่าผลกระทบในระดับรุนแรงเกิดขึ้นกับทุกกลุ่มรายได้ โดยมีครัวเรือนที่มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด 

เท่านั้นยังไม่พอ ระบบวิธีคิดแบบพยายามคัดคนเข้าตั้งแต่แรกของเงินเยียวยา 5,000 บาท ยังทำให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่าครึ่งในแต่ละกลุ่มรายได้ตกหล่นจากการช่วยเหลือครั้งนี้ โดยเฉพาะในฝั่งประชาชนที่มีรายได้ลดลงมากกว่าร้อยละ 75 จากรายได้เดิมที่ตกหล่นจากการช่วยเหลือมากถึงร้อยละ 53 

ขณะเดียวกันแบบสอบถามยังสะท้อนว่า ประชาชนมีความเห็นในการเยียวยาให้ครอบคลุมทุกคน โดยร้อยละ 34 มองว่าเงินเยียวยาควรครอบคุลมคนไทยทุกคน ขณะที่อีกร้อยละ 47 มองว่าควรครอบคลุมคนไทยทุกคน เว้นแค่เพียงประชากรที่มีรายได้ประจำ เช่น ช้าราชการ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามแค่ร้อยละ 14 เท่านั้น ที่เห็นว่ารัฐบาลควรเยียวยาเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบทางลบเท่านั้น 

ดร.เดชรัต ปิดท้ายว่า การเยียวยาประชาชนนั้นควรใช้ระบบสวัสดิการถ้วนหน้าคือให้ทุกคนก่อน แล้วค่อยไปคัดกรองออก เพราะจะใช้ต้นทุนต่ำกว่า โดยเฉพาะต้นทุนด้านเวลาและความล่าช้าของการเยียวยา ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดกับชีวิตของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพราะการปล่อยให้เวลาในการเยียวยาล่วงเลยออกไป ยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการบั่นทอนสถานะทางการเงินของประชาชน ทั้งการขายสินทรัพย์เลี้ยงชีพไปจนถึงการกู้เงินนอกระบบ