ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เป็นประธานชี้แจงอาการของ น้ำตาล-บุตรศรัณย์ ทองชิว หรือ น้ำตาล เดอะสตาร์ อายุ 28 ปี โดยมี รศ.นพ.ปรัญญา สากิยลักษณ์ สาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภาควิชาศัลยศาสตร์ และพี่สาวคนโต น้ำผึ้ง - พิมพ์รดา ทองชิว, พี่เขย กิตต์ธีธัช ก้องภพจิรพัฒน์ ร่วมชี้แจง ณ ห้องสิรินธร อาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น G รพ.ศิริราช
ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า รพ.ศิริราชได้���ับการส่งตัวน้ำตาล จาก รพ.สมุทรสาครเข้ามารับการรักษาต่อ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. เวลา 08.15 น. ณ หอผู้ป่วย ICU ตั้งตรงจิตร 1 ตึกสยามินทร์ ชั้น 6 ด้วยอาการอาเจียนเป็นเลือดในปริมาณมาก ส่งผลให้มีอาการหายใจลำบาก เนื่องจากเลือดเข้าไปอุดตันทางเดินหายใจ และทำให้หัวใจหยุดเต้น และได้ทำการช่วยเหลือฟื้นคืนชีพ (CPR) จำนวน 2 ครั้ง ที่บ้านและรพ.สมุทรสาคร
หลังจากนั้นได้มีการประสานงานจากทีมแพทย์ มายังคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ โดย รศ.นพ.ปรัญญา ได้เดินทางไปยังรพ.สมุทรสาคร และทำการผ่าตัดใส่เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO) ณ รพ.สมุทรสาคร เพื่อที่จะทำให้สามารถเคลื่อนย้ายคนไข้ได้ ก่อนที่จะย้ายผู้ป่วยมารักษาต่อ ณ รพ.ศิริราช
เมื่อมาถึงหอผู้ป่วย ICU ตั้งตรงจิตร 1 ทีมแพทย์ได้ทำการตรวจ พร้อมวางแผนการรักษาผู้ป่วย เริ่มจากการปรับเปลี่ยนกระตุ้นหัวใจ และยาเพิ่มความดัน พร้อมให้ยาแก้ไขสภาวะความเป็นกรดด่างของเลือด รวมทั้งมีการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อการเฝ้าระวังสัญญาณชีพอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง จนสัญญาณชีพของผู้ป่วยคงที่ พอที่จะนำผู้ป่วยไปตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
และเมื่อเช้าวันนี้ (13 มิ.ย.) ผู้ป่วยมีสัญญาณชีพคงที่ และไม่มีเลือดออกทางท่อหายใจแล้ว แพทย์จึงได้พิจารณานำผู้ป่วยส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) สมอง และปอด เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการ เลือดออกที่ปอด และวินิจฉัยประเมินความเสียหายของสมอง ผลการตรวจพบว่า
1. ไม่พบตำแหน่งเลือดออกที่ปอดทั้งสองข้าง
2. สมองบวมมาก แต่ไม่มีเลือดออกในสมองให้เห็น
แผนการรักษาต่อไป มีดังนี้
1. เนื่องจากยังไม่พบตำแหน่งที่เลือดออก จึงต้องเฝ้าระวัง และหาสาเหตุต่อไป เพราะอาจจะมีภาวะเลือดออกได้อีก
2. แก้ไขภาวะผิดปกติของเกลือแร่ในร่างกาย และให้ยาเพื่อลดอาการสมองบวม
3. ขณะนี้ยังคงให้การรักษาแบบประคับประคองร่วมกับการใช้เครื่องช่วยพยุงการทำงานของหัวใจและปอด (ECMO)
นายแพทย์ ปรัญญา เจ้าของไข้ กล่าวว่า เท่าที่ประเมินปัญหาใหญ่คือปอด เพราะสาเหตุหลักที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นมาจากปอดที่ไม่สามารถแลกเปลี่ยนอากาศได้ สิ่งที่ต้องทำคือการเอาเลือดของผู้ป่วยออกมานอกร่างกายเพื่อแลกเปลี่ยนอากาศ โดยใช้เครื่อง ECMO ซึ่งจะทำหน้าที่แทนปอด ขณะที่หัวใจอยู่ได้ด้วยการกระตุ้น
นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโรคจำพวกนี้พบได้น้อยมาก ไม่บ่อย จึงไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นโรคอะไร แต่สาเหตุที่แน่นอนคือเส้นเลือดแตก หากสามารถประคับประคองการรักษา ทำให้สมองยุบลง และสามารถประเมินการทำงานของสมองได้ จึงสามารถสืบค้นต่อไปได้ว่าสาเหตุมาจากอะไร เลือดออกจากตรงไหน และจะรักษาอย่างไร
การรักษาเรื่องเลือดออกไม่จำเป็นต้องผ่าตัด สามาถใส่สายได้หากเราทราบจุด แต่ตอนนี้ด้วยสภาพคนไข้ยังไม่สามารถทำการรักษานอกห้องไอซียูได้ แต่อาการโดยรวมถือว่าดีขึ้น เพราะสัญญาณชีพคงที่ และไม่พบเลือดออกในทางเดินหายใจ
นพ.ประสิทธิ์ ระบุว่า ไม่อยากให้คาดการณ์เชิงบวกหรือเชิงลบมากเกินไป ต้องเฝ้าระวังติดตามอาการวันต่อวัน รอปอดฟื้นตัวจากการที่เลือดออกทั้งสองข้าง ส่วนสมองก็ใช้ยาช่วยในการลดบวม และเรื่องเลือกออก แพทย์คอยเจาะดูความเข้มข้นของเลือดอยู่เสมอ
อาการเลือดออกลักษณะแบบนี้ นายแพทย์ปรัญญา กล่าวว่ายังไม่เคยเจอ ส่วนใหญ่จะพบอาการไอเป็นเลือดมากๆ หรืออาเจียนเป็นเลือดมากๆ แต่อาการเลือดออกจนไปอุดตันทางเดินหายใจซึ่งต้องใช้เครื่องพยุงปอดมาช่วย ถือเป็นเคสแรกที่เคยเจอ
นายแพทย์ประสิทธิ์ กล่าวเสริมว่า กรณีเส้นเลือดเปราะบางอาจจะเกิดกับใครก็ได้เพียงแต่แค่ไม่รู้ว่าอยู่ในอวัยวะส่วนไหนของร่างกาย วันดีคืนดีอาจเกิดแตกขึ้นมา ตรงกับส่วนที่เป็นท่อของร่างกาย และเคสของน้ำตาลเลือดก็ไหลออกมาตรงท่อหลอดลม ซึ่งกรณีแบบนี้ไม่เคยมีบันทึกสถิติผู้ป่วยไว้เนื่องจากพบได้น้อยมาก หากให้เปรียบเทียบต้องบอกว่าการถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ยังพบง่ายกว่า และขออย่าให้ประชาชนทุกคนตื่นตระหนก
ส่วนสาเหตุของการปอดแตกด้านขวาของน้ำตาลครั้งนี้ ทางโรงพยาบาลศิริราชได้รับแจ้งว่าปอดแตกตั้งแต่การรักษาตัวที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร คาดว่าเกิดจากการที่ใส่ท่อหายใจ และต้องพยายามบีบเพื่อให้ออกซิเจนเข้าไปในปอด แต่เนื่องจากว่ามีเลือดอยู่ในปอดมากทำให้ความดันในปอดขึ้นสูงมาก จึงทำให้ปอดแตกเป็นรูเล็กๆ และมีลมรั่วออกมา
ทั้งนี้กรณีปอดแตกพบได้ไม่บ่อยนัก มักพบในผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจ และจะต้องใช้แรงดันสูงมาก เพื่อจะทำให้ออกซิเจนผ่านเข้าไปในปอด อย่างไรก็ตามกรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นภาวะรุนแรง เพียงแค่ใส่ท่อระบายลมก็ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
ส่วนประเด็นที่หลายคนสงสัยว่ามีอาการลักษณะคล้ายโรคไข้เลือดออกหรือไม่ นายแพทย์ประสิทธิ์ ชี้แจงว่าจากการตรวจเกล็ดเลือดของน้ำตาลพบว่าเกล็ดเลือดไม่ได้ต่ำ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของโรคไข้เลือดออก และหากเป็นไข้เลือดออกก็จะไม่มีอาการเลือดออกมากแบบกรณีนี้ ส่วนการที่เลือดกำเดาออกบ่อยไม่ได้ส่งผลให้เกิดอาการลักษณะแบบนี้ เพราะเลือดกำเดาสามารถไหลได้ ในกรณีที่แตกต่างกันไป เช่นอยู่ในที่ที่อากาศแห้ง, หนาว หรือร้อนจนเกินไป รวมถึงการขาดวิตามินบางอย่างก็ทำให้เลือดกำเดาออกได้
สำหรับวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากพบคนไข้มีลักษณะแบบนี้ นายแพทย์ปรัญญา กล่าวว่า กรณีแบบนี้พบไม่ได้ไม่บ่อยนัก แต่ในกรณีของน้ำตาล ถือว่าคุณแม่ทำได้ดีมาก มีการตั้งสติ และรีบตามรถพยาบาล รวมถึงมีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และมีการตามคนมาช่วย นอกจากนี้การเลือกโรงพยาบาลใกล้บ้านที่สุดก็เป็นเรื่องสำคัญ หากคุณแม่เลือกโรงพยาบาลที่ไกลออกไปซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางก็อาจจะมีผลที่ออกมาแตกต่างกันได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: