ห้องพักและเตียงสีครีมอบอุ่นสะอาดตา พร้อมกับฉากกั้นแบ่งสัดส่วนอย่างชัดเจนของโรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ สร้างความประทับใจให้กับชาวเน็ตจำนวนมาก
"การรักษาผู้ป่วยไม่ใช่แค่เรื่องของยารักษาโรคเท่านั้นค่ะ สภาพแวดล้อมใน รพ.มีผลสำคัญมาก" สมพร โล่สุวรรณรักษ์ หัวหน้างานยุทธศาสตร์ ประจำ รพ.คูเมือง กล่าวถึงโครงการพัฒนาพื้นที่ห้องผู้ป่วยสามัญด้วยน้ำเสียงปลาบปลื้ม
โครงการนี้มีหัวเรือใหญ่ที่คอยกำกับควบคุมดูแลคือ 'นพ.กิตติ โล่สุวรรณรักษ์' ผู้อำนวยการ รพ.คูเมือง ที่ได้รับไอเดียมาจาก รพ.รามัน จ.ยะลา
ย้อนกลับไปเมื่อ 2 เดือนก่อน รพ.คูเมือง เปิดโครงการผ้าป่า ระดมทุนจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์และเครื่องมือแพทย์ รวมถึงจัดสรรพื้นที่ภายในอาคารแห่งใหม่ โดยได้รับเงินบริจาคราว 8 ล้านบาท
สมพร บอกว่า ปัญหาคลาสสิคของ รพ.หลายแห่งคือ พื้นที่เตียงรวมของผู้ป่วย มักมีสภาพแวดล้อมค่อนข้างแออัด สร้างความเบื่อหน่าย ยากลำบากให้กับทั้งผู้ป่วยและญาติที่มาเยี่ยม
"ญาติไม่มีที่นั่ง ไม่มีที่นอน บางคนต้องไปนอนเฝ้าใต้เตียง เกิดอาการเหนื่อยล้า ผอ.เลยอยากสร้างพื้นที่ให้กับเขา" เธอย้ำว่า การเจ็บป่วยนั้นมีทั้งทางร่างกายและจิตใจ รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของญาติพี่น้องด้วย ฉะนั้นสิ่งแวดล้อมที่ดีจึงสำคัญมาก
'โกศล จึงเสถียรทรัพย์' สถาปนิกผู้ออกแบบพื้นที่ห้องดังกล่าว และผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบสภาพแวดล้อมสถานพยาบาลให้เอื้อต่อการเยียวยา (Healthcare Healing Environment Design) บอกว่า การออกแบบใน รพ.ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และการป้องกันการติดเชื้อ โดยมีมาตรฐานทางการแพทย์คอยกำหนด
"สมัยก่อนเราจะเห็นว่าเตียงติดกัน พอคนหนึ่งร้อนก็เปิดพัดลม เมื่อไอหรือจาม เชื้อโรคก็จะถูกดูดหรือกระจายส่งต่อไปยังเตียงข้างๆ การมีผนังกระจกกั้นช่วยลดโอกาสติดเชื้อเหล่านี้ได้" โกศล ยกตัวอย่างประโยชน์จากการออกแบบ
เขาบอกต่อว่า องค์ความรู้และแนวคิดการจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาในต่างประเทศ เป็นเรื่องที่มีการศึกษาค้นคว้ามานาน และมีงานวิจัยรองรับมากกว่า 600 เรื่อง ที่เป็นหลักฐานสำคัญเพื่อยืนยันว่าการออกแบบและจัดสิ่งแวดล้อมมีผลต่อการรักษาพยาบาลในมิติต่างๆ ทั้งต้นทุน และการทำงานของเจ้าหน้าที่
ตัวอย่างเช่น การเพิ่มพื้นที่แสงจากธรรมชาติมากขึ้น มีผลให้ผู้ป่วยร้องขอยาแก้ปวดลดลง ซึ่งในแต่ละปี หากลดลงได้ร้อยละ 10-20 ก็ช่วยประหยัดงบประมาณของ รพ.ได้มหาศาล
นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมที่ดียังมีผลให้คนไข้สามารถกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านได้เร็วขึ้น รพ.แบกรับต้นทุนลดลง รวมถึงเปิดโอกาสให้กับคนไข้ใหม่ๆ ได้เข้าถึงการรักษา ขณะเดียวกันยังทำให้เรื่องร้องเรียนลดน้อยลงไปด้วย
"ความงาม สีผ้าม่าน เบาะ เตียง เหล่านี้มีผลต่อความรู้สึกทั้งสิ้น" สถาปิกกล่าว
ปัจจุบันการออกแบบและตกแต่งพื้นที่อาคารแห่งใหม่ของ รพ.ที่ได้รับงบประมาณจากระทรวงสาธารณสุข ลุล่วงราวร้อยละ 70 โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริงมากที่สุด คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ในช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้
อาคารแห่งใหม่มีทั้งหมด 5 ชั้น รองรับผู้ป่วย 114 เตียง ภาพที่ทุกคนเห็นคือชั้น 1-3 สำหรับผู้ป่วยสามัญทั่วไป จำนวนชั้นละ 24 เตียง โดยชั้น 4 และ 5 เป็นห้องผู้ป่วยพิเศษ
ปัจจุบัน รพ.คูเมือง รองรับผู้ป่วยในประมาณ 70-80 ต่อวัน และผู้ป่วยนอก 300-400 คนต่อวัน
ภาพจากเฟซบุ๊ก โรงพยาบาลคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์