ไม่พบผลการค้นหา
บทบัญญัติตาม รธน.ปี 60 กำหนดเงื่อนเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้ห้ามเป็นรวมกันเกิน 8 ปี ทำให้เกิดปัญหาการตีความเงื่อนเวลาของการอยู่ในตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าควรนับหนึ่งการเป็นนายกฯ ในปีไหน โดยนักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญมองว่าควรเริ่มนับตั้งแต่ รธน.ปี 60 ประกาศใช้ และท้ายที่สุดเรื่องคงต้องจบที่ศาล รธน.อีกครั้ง

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่ กำหนดไว้ว่า "นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง"

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 171 วรรคท้าย กำหนดว่า "นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้"

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาตรา 201 ไม่ได้กำหนดเงื่อนเวลาของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ยังกำหนดเหตุของการสิ้นสุดรัฐมนตรีไว้ในมาตรา 170 โดยระบุความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว โดยกำหนดในวรรคสองว่า "ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ด้วย"

นอกจากนี้มาตรา 170 ยังกำหนดให้นำมาตรา 82 ที่กำหนดให้ ส.ส.หรือ ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อต่อประธานแห่งสภา เพื่อส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี มาใช้บังคับในการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีตาม (2) (4) หรือ (5) หรือวรรคสองโดยอนุโลมด้วย และยังให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

ประยุทธ์ เพชรบุรี 4517000000.jpg

ประเด็นร้อนว่าด้วยคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2562 และเข้าสู่การดำรงตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้ลงมติให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2562 ให้แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

เรื่องนี้ทำให้ฝ่ายค้านนำโดย 'พรรคเพื่อไทย' หยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นใหญ่ว่าคุณสมบัติความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังมีปัญหา

ทั้งนี้ 'สุทิน คลังแสง' ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เห็นว่า ควรตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญคือ นายกฯควรจะเป็นติดต่อกันไม่เกิน 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์จึงจะเป็นนายกฯ ได้อีกเพียง 1 ปีเท่านั้น 

ณรงค์เดช สรุโฆษิต นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 7247.jpg

ประเด็นการตีความดังกล่าว รศ.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุกับ 'วอยซ์' ว่า เงื่อนเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถตีความได้ 3 แนวทาง คือ

1.เริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศใช้ คือวันที่ 6 เม.ย. 2560 เพราะกติกานี้ เพิ่งเกิดขึ้น ไม่ใช้ย้อนหลังกับการดำรงตำแหน่งก่อนหน้านั้น หมายความว่าจะพ้นตำแหน่งในวันที่ 5 เม.ย. ปี 2568 หรือถ้าพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ครบวาระ 4 ปีในปี 2566 เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้าได้อีกเพียง 2 ปีเท่านั้น

2.เริ่มนับตั้งแต่ 5 มิ.ย. 2562 วันที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาลงมติเห็นชอบให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นนายกฯ ต่อเนื่องได้จนถึง 8 ปีในวันที่ 4 มิ.ย. 2570 หรือเป็นนายกรัฐมนตรีได้ใน 2 วาระเต็ม ( ประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 9 มิ.ย. 2562 )

ส่วนการดำรงตำแหน่งนายกฯ ก่อนหน้านั้น เป็นการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2557 และต่อเนื่องมายังบทเฉพาะกาล ซึ่งจะไม่ถูกนำมาใช้ 

3.เริ่มนับตั้งแต่ 24 ส.ค. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 หากตีความตามนี้โดยยึดตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ที่ไม่ต้องการให้นายกฯ อยู่เกิน 8 ปี ถ้านับตามนี้จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ เหลือเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรี เพียง 1 ปี โดยจะพ้นนายกรัฐมตรีในวันที่ 23 ส.ค. ปี 2565 เพราะดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี (ตามประกาศแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2557 โดยพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับสนองพระบรมราชโองการ)  

"เอาแฟร์ๆ (ยุติธรรม) ทุกอย่าง การเริ่มเป็นนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ควรนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560 (วันที่รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้) เพราะเป็นกติกาปัจจุบันที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งตามมาตรา 158 วรรคสี่ พูดง่ายๆว่า การเป็นนายกฯ ตลอดชีวิตจะอยู่ในตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีไม่ได้" รศ.ณรงค์เดช ระบุ

นักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญยังให้ความเห็นอีกว่า ส่วนตัวเห็นว่าควรยึดเงื่อนเวลาการดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เพราะการตีความกฎหมายจะไม่ใช้ย้อนหลัง เงื่อนไขการเป็นนายกฯ ควรนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญบังคับใช้ คือ 6 เม.ย. 2560 หากจะให้ยึดเงื่อนเวลาตั้งแต่ปี 2557 ตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการเป็นนายกฯ รวมกัน 8 ปีไว้ อีกทั้งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก็ถูกยกเลิกไปแล้ว

"เรื่องนี้กฤษฎีกาเคยมีแนววินิจฉัยการดำรงตำแหน่งตำแหน่งตามพ.ร.บ.ต่างๆ ไว้ โดยการนับการดำรงตำแหน่งอธิบการดีให้นับตามเงื่อนเวลาของกฎหมายใหม่ คือ ถ้าต้องการให้นับต่อเนื่องจะต้องเขียนกำหนดเอาไว้ แต่ถ้ากฎหมายใหม่ไม่ได้มีการเขียนไว้ ก็ให้ถือว่าเริ่มนับหนึ่งใหม่" 

ถ้าหาก ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาฯ เพื่อขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคุณสมบัติรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ นั้น รศ.ณรงค์เดช มองว่าหากเหตุยังไม่เกิด ศาลรัฐธรรมนูญก็สามารถพิจารณาไม่รับคำร้องไว้ตีความได้ ซึ่งจะต้องรอให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นก่อน ในกรณีเกิดมีการตีความว่าการเป็นนายกรัฐมนตรีรวมกันครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2557 ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์จะต้องพ้นนายกฯ ในปี 2565 ซึ่งเหลืออีก 1 ปี ดังนั้นในปีหน้าจะช่วงที่เหตุเกิดแล้วก็สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ 

ประยุทธ์  สมศักดิ์  สุโขทัย 42728000000.jpg

อย่างไรก็ตาม หนังสือ "ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560" ซึ่งจัดทำโดย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เมื่อ พ.ค. 2562 ไว้อธิบายเจตนารมณ์ของบทบัญญัติ มาตรา 158 วรรคสี่ ไว้ว่า "ได้กำหนดหลักการใหม่เกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการนับระยะเวลา กล่าวคือ การนับระยะเวลา 8 ปีนั้น แม้บุคคลดังกล่าวจะมิได้ดำรงตำแหน่งติดต่อกันก็ตาม แต่หากรวมระยะเวลาทั้งหมดที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของบุคคลดังกล่าวแล้วเกิน 8 ปี ก็ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี"

"แต่อย่างไรก็ตาม ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ว่าการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างรักษาการภายหลังจากพ้นจากตำแหน่ง จะไม่นำมานับรวมกับระยะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไป อันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้"

เมื่อดูสถานะการเป็นนายกฯของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ดังนั้น เส้นทางในอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ นับจากนี้ไม่ว่าจะเลือกหนทางการ 'ยุบสภา' หรืออยู่ครบวาระ 4 ปี ก็มีผลต่อการดำรงตำแหน่นายกรัฐมนตรีในสมัยถัดไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

และประเด็นการตีความจะต้องจบลงที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง เพียงแต่ว่าจะตีความให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกัน 8 ปี โดยสิ้นสุดการดำรงตำแหน่งในปี 2565 หรือจะต้องพ้นในปี 2568 หรือให้หมดเวลาไกลกว่านั้นคือ ปี 2570

ไม่ว่าจะเลือกปี พ.ศ.ใด แต่ชั่วโมงนี้ 'พล.อ.ประยุทธ์' ก็เริ่มรู้อนาคตทางการเมืองของตัวเองในเก้าอี้นายกฯ ว่าเริ่มมีเวลาเหลือไม่มากแล้ว การลงพื้นที่อย่างหนักหน่วงในช่วงนี้ จึงเปรียบเสมือนรอสัญญาณการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง