ไม่พบผลการค้นหา
'กบฏ' สะเทือนบัลลังก์ จอร์แดนขัง อดีตมกุฎราชกุมาร-กวาดล้างกลุ่มสมคบคิด อ้างวางแผนโค่นกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 ความขัดแย้งในครอบครัวที่อาจบั่นทอนเสถียรภาพตะวันออกกลาง

ไม่กี่วันที่ผ่านมา ประเทศหนึ่งซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "ราชอาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน" หรือ "จอร์แดน" (Hashemite Kingdom of Jordan) อันเป็นที่ตั้งของหนึ่งในเจ็ดสิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่อย่าง 'นครเปตรา' ได้รับความสนใจถูกรายงานข่าวจากสื่อสำนักใหญ่ๆ ทั่วโลก จาก 'ความเคลื่อนไหว' อันผิดปกติ ภายในราชสำนักและรัฐบาล จากการที่จู่ๆ รัฐบาลกรุงอัมมาน ออกมาประกาศจับกุมตัว "เจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน" (Hamzah bin Hussein) ซึ่งเคยมีฐานะเป็นถึงอดีตมกุฎราชกุมารจอร์แดนเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว (พ.ศ. 2547) โดยพระองค์มีสถานะเป็นน้องชายต่างมารดาของ "กษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2" ประมุของค์ปัจจุบัน ทั้งยังมีการกวาดล้างจับกุมกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องด้วยข้อกล่าวหา 'กบฏ' สมคบคิดกับเจ้าชายหวังโค่นล้มอำนาจกษัตริย์อับดุลลาห์ ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ถูกจับกุมมีทั้งอดีตเจ้าหน้าที่ในรัฐบาล บาสเซม อาวาดัลเลาะห์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง คนสนิทของกษัตริย์องค์ปัจจุบัน และเป็นผู้มีอิทธิพลในการปฏิรูปเศรษฐกิจของจอร์แดน สมาชิกระดับสูงราชวงศ์อย่าง ชารีฟ ฮัสซัน บิน ซาอิด พระญาติของกษัตริย์ และบาสเซม อวาดอลลาห์ อดีตประธานศาลสูง รวมทั้งสิ้นราว 14-16 คน

จอร์แดน
  • (กลาง) เจ้าชายฮัมซาห์ ที่สองจากขวา กษัตริย์อับดุลลาห์ (ขวา) ราชินีนูร์

เรื่องนี้ต้องย้อนไปรัชกาลก่อน ช่วงที่จอร์แดนอยู่ภายใต้รัชสมัยของ สมเด็จพระราชาธิบดีฮุสเซนแห่งจอร์แดน (Hussein of Jordan) ครองราชย์ พ.ศ. 2495 - 2542 พระองค์มีพระมเหสีถึง 4 พระองค์ คือ 

  • เจ้าหญิงดีนา บินต์ อับดุลฮะมีด หย่าเมื่อ พ.ศ. 2500
  • เจ้าฟ้าหญิงมูนา อัลฮุสเซน หย่าเมื่อ พ.ศ. 2514
  • สมเด็จพระราชินีอาลียาแห่งจอร์แดน สวรรคคเมื่อ พ.ศ. 2520 
  • สมเด็จพระราชินีนูร์แห่งจอร์แดน พระมเหสีชาวอเมริกัน อภิเษกสมรสเมื่อ พ.ศ. 2521 (ยังมีพระชนม์ชีพ)

อดีตกษัตริย์ฮุสเซน มีพระโอรสและพระธิดารวมกัน 12 พระองค์ หนึ่งในนั้นคือเจ้าชาย "เจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน" วัย 41 ชันษา โอรสที่กำเนิดจากมเหสีองค์ที่ 4 คือ สมเด็จพระราชินีนูร์แห่งจอร์แดน ด้วยเหตุผลด้านลำดับมเหสีในข้างต้น ส่งผลให้ตามลำดับการสืบสันตติวงศ์ "เจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน" ทรงมีสิทธิสืบราชบัลลังก์จากการได้รับการแต่งตั้งเป็นเป็นมกุฏราชกุมารเมื่อปี 2541 โดยพระองค์ยังเป็น "ลูกรัก" ของกษัตริย์ฮุสเซน แต่ทว่าเมื่อกษัตริย์ฮุสเซนสวรรคตในปี 2542 เจ้าชายฮัมซาห์ซึ่งยังมีอายุน้อยในขณะนั้น ยังไม่เหมาะสมที่ขึ้นครองราชย์ได้ "เจ้าชายอับดุลลาห์" (พระยศในขณะนั้น) ซึ่งถือเป็นพระโอรสองค์แรก ที่ประสูติจากเจ้าฟ้าหญิงมูนา อัลฮุสเซน มีพระชันษามากกว่า จึงขึ้นครองราชย์เป็น"กษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2"

จอร์แดน
  • กษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2

ศึกชิงบัลลังก์วังจอร์แดน

ช่วง 5 ปีแรกที่ "กษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2" ครองราชย์ พระองค์ยังคงให้น้องชายต่างมารดามีสถานะเป็นมกุฎราชกุมาร แต่ทว่าปี 2552 พระองค์ปลดน้องชายต่างมารดาออก แล้วแต่งตั้งให้พระโอรสองค์โตของพระองค์เองคือ เจ้าชายฮุสเซน บิน อับดุลลาห์ ขึ้นเป็นมกุฎราชกุมารองค์ปัจจุบันแทน เวลาผ่านล่วงเลยมานับสิบปี ไม่ว่าด้วยความขัดแย้งภายในราชวงศ์ หรือปัจจัยเสริมอื่นใดก็ตาม มีรายงานว่า เมื่อ 3 เม.ย. ที่ผ่านมา เจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน ถูกกองทัพเข้าจับกุมพร้อมขังพระองค์ไว้ภายในบ้านพัก เช่นเดียวกับ 'กลุ่มบุคคล' สำคัญระดับสูงรายอื่นๆ ที่ถูกกักขังบริเวณเช่นกัน ในฐานะผู้ที่พยายามก่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือ "รัฐประหาร" เพื่อโค่นล้มประมุขอย่าง "กษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2" ให้หมดสภาพลงไปในแบบฉับพลัน

คลิปวิดีโอที่หลุดและถูกเผยแพร่ผ่านสำนักข่าวบีบีซี เป็นภาพของเจ้าชายฮัมซาห์ที่กล่าวผ่านคลิปวิดีโอ ใจความสำคัญระบุว่า พระองค์กำลังถูกจับกุมคุมขังภายในบ้านพัก ด้วยข้อกล่าวหาที่ว่า พระองค์ได้กำลังร่วมมือกับกลุ่มบุคคล และหลายชนเผ่า ให้ลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลอัมมาน ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีคือ บิเชอร์ อัล-ขาสัวเนห์ (Bisher Al-Khasawneh) คนสนิทที่กษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 ทรงไว้ใจ แน่นอนว่าในคลิปวิดีโอดังกล่าว เจ้าชายฮัมซาห์ ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ แต่ถึงกระนั้นพระองค์ยังกล่าวเป็นนัยยะว่า "บรรดาผู้ปกครองของจอร์แดนในช่วงเวลานี้ ไร้ประสิทธิภาพ และทุจริตเป็นวงกว้าง" ในคลิปวิดีโอ พระองค์ยังบอกว่า "ถูกห้ามออกไปไหน และห้ามพยายามสื่อสารกับใครทั้งสิ้น" ทั้งยังว่า "พระองค์ไม่ใช่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการปกครองอันล้มเหลว และการไร้ประสิทธิภาพของระบบการปกครองที่มีมานานกว่า 15 ปี ของจอร์แดน ทั้งเลวร้ายลงทุกปี" 

จอร์แดน
  • เจ้าชายฮัมซาห์ บิน ฮุสเซน

คำกล่าวลักษณะวิพากษ์วิจารณ์ลักษณะนี้ แทบไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในบรรดาสมาชิกระดับสูงของราชวงศ์ แม้เจ้าชายจะไม่ได้กล่าวพาดพิงถึงผู้ใดตรงๆ แต่ชัดเจนว่า ทรงกำลังโจมตีพี่ชายต่างมารดา ซึ่งก็คือกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 รวมถึงรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง เจ้าชายยังได้ปฏิเสธทฤษฏีสมคบคิดที่ว่า ทรงเข้าร่วมการประชุมที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวกษัตริย์อับดุลลาห์โดยการประชุมนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนต่างชาติ

หลังการจับกุม นายกรัฐมนตรี บิเชอร์ อัล-ขาสัวเนห์ ออกแถลงกล่าวหาเจ้าชายฮัมซาห์ว่า ทรงสมคบคิดกับต่างชาติเพื่อบั่นทอนความมั่นคงและทำให้จอร์แดนไร้เสถียรภาพ ทั้งโจมตีว่า คลิปวิดีโอของพระองค์ที่หลุดออกไป เป็นการสื่อสารที่บิดเบือนข้อเท็จจริง รัฐบาลกรุงอัมมานอ้างว่าที่ผ่านมาได้ จับตาเจ้าชายเป็นพิเศษนานแล้ว โดยพระองค์พยายามหาแนวร่วมจากชนเผ่าต่างๆ ให้การโค้นล้มเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยอาศัยความร่วมมือจากองค์กรต่างชาติ แต่ในแถลงการณ์ไม่ได้บอกว่าชาติใด เสนอให้ความช่วยเหลือพระองค์ลี้ภัยออกจากจอร์แดน

สถานการณ์ที่กษัตริย์อับดุลลาห์ปลดน้องชายต่างมารดาพ้นจากสถานะรัชทายาท ได้สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับ "พระราชินีนูร์แห่งจอร์แดน" เป็นอย่างมาก เนื่องจากอดีตกษัตริย์ฮุสเซนผู้ล่วงลับ คาดหวังให้เจ้าชายฮัมซาห์ครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ต่อไป โดยมีพี่ชายเป็นผู้สำเร็จราชการชั่วคราว โดยหลังจากเหตุการณ์จับกุมเกิดขึ้น พระราชินีนูร์ ทรงออกมาแถลงผ่านทวิตเตอร์ว่า ขออธิษฐานให้ความเป็นจริงบังเกิดต่อเหยื่อของผู้บริสุทธิ์ทั้งหมดต่อเหยื่อใส่ร้ายอันชั่วช้านี้ ที่ผ่านมาเจ้าชายฮัมซาถูกมองว่ามีความสนิทสนมกับชนเผ่าต่างๆ เนื่องจากพระองค์มักเสด็จพบปะกับผู้นำชนเผ่าต่างๆ ซึ่งให้การสนับสนุนพระองค์เป็นอย่างดี ทั้งยังทรงเป็นที่รักของประชาชนจอร์แดนเนื่องจาก มีหน้าตา บุคลิกท่าทางคล้ายอดีตกษัตริย์ฮุสเซน

นักวิเคราะห์ของเอเอฟพีมองว่า แม้เจ้าชายจะสูญเสียโอกาสขึ้นครองบัลลังก์ถึงสองครั้ง จากครั้งแรกตอนสูญเสียพระบิดา กับครั้งสองที่ถูกพี่ชายต่างมารดาปลด แต่กับความเคลื่อนไหวนี้ นักวิเคราะห์มองว่า พระองค์ไม่น่าถูกจำคุก แต่อาจถูกเพียงแค่ลดบทบาทในด้านต่างๆลงเท่านั้น


เงื่อนงำ "อัมมาน"

นอกจากบุคคลสำคัญอย่างเจ้าชายแล้ว ยังมีบุคคลระดับสูงทั้งอดีตรัฐมนตรีและพระญาติรวมอยู่ด้วย นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า เหตุการณ์นี้สะท้อนความแตกร้าวในหมู่ชนชั้นปกครองของกรุงอัมมาน ท่ามกลางประเทศซึ่งเผชิญสภาพปัญหาการเมืองภายในและระหว่างประเทศ โดยประเด็นปัญหาภายในประเทศคือ สภาพเศรษฐกิจอันฝืดเคืองมาตั้งแต่ก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงปัญหาระหว่างประเทศจากประเด็นด้านความมั่นคงในภูมิภาค จากการที่กลุ่มไอซิส-ไอซิล (ISIS-ISIl) เริ่มกลับมาขยายอำนาจในพื้นที่อย่างลับๆ อีกครั้ง ทั้งยังต้องรองรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากจากสงครามกลางเมืองในซีเรียในครั้งก่อนด้วย

จอร์แดน


รัฐกันชน

สำหรับจอร์แดนเป็นประเทศที่หลายชาติในกลุ่มอาหรับด้วยกันให้ความสำคัญและเป็นพันธมิตรใกล้ชิด ทั้งสหรัฐฯ ยังใช้บทบาทนี้ของจอร์แดนเสมือนประตูเข้าสู่ตะวันออกกลาง จอร์แดนยังถือเป็น "รัฐกันชน" ที่สำคัญมากๆ ต่อแนวรบตะวันออกกลาง เนื่องจากมีอาณาเขตติดกับทั้ง อิสราเอล เขตเวสต์แบงก์ฉนวนกาซา ซีเรีย อิรัก และ ซาอุดิอาระเบีย โดยไม่นานหลังเกิดกระแสรัฐประหาร บรรดาชาติอาหรับเหล่านี้ต่างออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยและเข้าข้าง กษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 พอสมควร 

จอร์แดนได้ชื่อว่าเป็นพันธมิตรตะวันออกกลางที่ใกล้ชิดสหรัฐฯ เป็นชาติอาหรับที่มีเสถียรภาพมากที่สุดชาติหนึ่ง แม้ว่าก่อนหน้านี้ กษัตริย์อับดุลลาห์ทรงไม่พอใจนัก ต่อหลายเรื่องในแนวรบตะวันออกลาง โดยเรื่องการผนวกดินแดนเขตเวสต์แบงก์เป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอล จากการสนับสนุนของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็อาจทำให้กษัตริย์อับดุลลาห์ในฐานะผู้นำประเทศอยู่ในสภาวะ ลำบากและอึดอัดใจอยู่ไม่น้อย

เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า กำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดรวมถึงพูดคุยกับเจ้าหน้าที่จอร์แดน เนื่องจากกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 ทรงเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐ

"เรากำลังติดต่อกับเจ้าหน้าที่จอร์แดนกษัตริย์อับดุลลาห์ ซึ่งเป็นพันธมิตรที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา และให้การสนับสนุนเขาอย่างเต็มที่" 

ไม่ต่างจากซาอุดีอาระเบีย เพื่อนบ้านและเป็นพันธมิตรใกล้ชิด ตอบสนองอย่างรวดเร็วต่อสถานการณ์นี้ว่า "ซาอุดิอาระเบียสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่ออาณาจักรฮัชไมต์จอร์แดน ... และต่อการตัดสินใจ มาตรการที่ดำเนินการโดยกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 และมกุฎราชกุมารฮุสเซน เพื่อปกป้องความมั่นคงและความมั่นคง"

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เจ้าชายได้โพสต์คลิปวิดีโอ กล่าวแสดงความ "สวามิภักดิ์" ต่อกษัตริย์อับดุลลาห์ที่ 2 เพื่อยุติวิกฤตที่เกิดขึ้นในราชวงศ์แล้ว ทั้งยังให้คำมั่นว่าจะทรงปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 'อย่างเคร่งครัด'

เรื่องนี้ อาจจบลงเพียงแค่ความขัดแย้งในครอบครัว หรือ อาจเป็นชนวนที่จุดประเด็นความขัดแย้งอื่นๆ ทั้งภายในภายนอกจอร์แดน โดยเฉพาะเสถียรภาพในภูมิภาคให้เกิดขึ้น ล้วนเป็นไปได้หมดทั้งสิ้น

ที่มา: BBC , NBC , France24