ไม่พบผลการค้นหา
เวทีสัมมนาในเรื่องความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ จำเป็นต้องกลับมามุ่งเน้นในเรื่องของสมุททานุภาพ ในการใช้พลังอำนาจของชาติทางด้านทะเล เพื่อป้องกันทะเลในทุกมิติ

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. เว็บไซต์ ThaiArmedForce.com เว็บไซต์ข่าวสารด้านการทหารไทย จัดสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ "หลากมิติ ทะเลไทย" เพื่อสร้างความเข้าใจในบทบาทความสำคัญของทะเล ทั้งในฐานะแหล่งทรัพยากร เศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว

พล.ร.ต.เอกสิทธิ์ วุฒิเผ่า สำนักนโยบายและแผน กรมยุทธการทหารเรือ กล่าวว่า ทะเลมีมูลค่ามหาศาล มูลค่าทางเศรษฐกิจของท้องทะเลไทย อยู่ที่ 24 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งหากเกิดความไม่มั่นคงขึ้นในพื้นที่หนึ่ง แม้จะห่างไกลทะเลไทย แต่ก็จะส่งผลกระทบต่อเราอย่างแน่นอน ดังนั้น สมุททานุภาพ หรือกำลังอำนาจทางทะเลและกำลังการป้องกัน จึงมีความสำคัญ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทุกบริบท เพื่อจะได้ใช้สิทธิ อำนาจและผลประโยชน์ทางท้องทะเล โดยความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติ จำเป็นต้องกลับมามุ่งเน้นในเรื่องของสมุททานุภาพ ในการใช้พลังอำนาจของชาติทางด้านทะเล เพื่อป้องกันทะเลในทุกมิติ

เอกสิทธิ์ วุฒิเผ่า.JPG


ขอให้มั่นใจว่าทหารเรือเราเป็นมืออาชีพ เรามีบทบาทในเรื่องของความมั่นคงมาตั้งแต่อดีต งานที่เราทำนี้ไม่แตกต่างจากทหารเรือทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น บทบาททางทหาร การรบ การรักษากฎหมาย และบทบาททางการทูต อยากเน้นย้ำว่าทหารเรือไทยไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าใครในโลกนี้ เราฝึกฝนกำลังพลตั้งแต่ในยามปกติให้มีความพร้อม ทำเหล็กในคนให้แกร่งกว่าเหล็กในเรือ ขอให้มั่นใจว่าเราเป็นมืออาชีพ เราพร้อมที่จะปรับตัวเรียนรู้และเชื่อมโยงกับทุกส่วนและทุกบริบทของความมั่นคง

ดร.วิลาสินี พิบูลย์เศรษฐ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงความไม่มั่นคงในสถานการณ์ทะเลจีนใต้ว่า เมื่อเกิดปัญหาที่ทะเลจีนใต้ ย่อมจะกระทบต่อประเทศไทยอย่างแน่นอน ขณะที่ประเทศในอาเซียนเองก็มีจุดยืนที่ไม่ตรงกัน ซึ่งบางประเทศอาจเอนเอียงไปทางประเทศจีน ขณะที่บางประเทศก็ต้องการให้สหรัฐฯเข้ามาในพื้นที่ เพื่อช่วยปกป้องและคานอำนาจกับจีน จึงทำให้เกิดความปั่นป่วน ดังนั้น ปัญหานี้จึงจะกระทบในเรื่องของความมั่นคงทางทะเล กระทบผลประโยชน์ทางทะเล ไม่ว่าจะเป็นการ ประมง การเดินเรือ เป็นต้น

วิลาสินี พิบูลย์เศรษฐ์.JPG


แม้ประเทศไทยจะไม่ได้กระทบโดยตรง แต่น่านน้ำอ่าวไทย เป็นส่วนหนึ่งของทะเลจีนใต้ ที่มีความเชื่อมโยงกัน ซึ่งเราต้องใช้ขนส่งสินค้าทางเรือ ก็จะกระทบไม่มากก็น้อย และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นมา ขณะที่ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งประเทศในอาเซียน จะปฏิเสธไม่ได้ว่าเราจะไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเราจะต้องถูกดึงเข้าไปในเกมการเมืองนี้อย่างแน่นอน ถึงวันหนึ่งก็ต้องเลือกข้างหรือแถลงนโยบายบางอย่างออกมา เพื่อแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งผลกระทบนี้เป็นเรื่องที่เราจะต้องระวังด้วย

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า รายได้เกินครึ่งหนึ่งของประเทศไทยมาจากทะเลทั้งสิ้น และการใช้ทรัพยากรทางท้องทะเลนั้นมีความเสี่ยงทั้งสิ้น เช่น การประมง ที่ชาวโลกเห็นว่ากระบวนการจับปลานั้น ต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักสากล นั่นจึงทำให้เมื่อ 5 ปีก่อน สหภาพยุโรป สั่งแบนการประมงไทย เช่นเดียวกับสหรัฐฯ ที่สั่งแบนอาหารทะเลจากประเทศไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า เรารักษาทรัพยากรทางทะเลไม่ยั่งยืน เพราะเขาเห็นว่าทรัพยากรทางทะเลนั้นเป็นของโลก

ผศ.ดร.ธรณ์ กล่าวว่า ส่วนตัวค่อนข้างมั่นใจกับกองทัพเรือ เพียงแต่การปรับบทบาทนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของโลก ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลัน โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยกองทัพเรือจะต้องปรับบทบาทของตัวเอง ที่สำคัญคือการบริหารความเสี่ยง ซึ่งกองทัพเรือจะต้องร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อทำงานอย่างบูรณาการให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ประเทศไทยเป็นประเทศเล็กๆ มีงบประมาณอย่างจำกัด แต่มีทรัพยากรทางทะเลมูลค่ามหาศาล ดังนั้น จึงไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง ที่จะสามารถปกป้องดูแลได้ทั้งหมด จะต้องเป็นการช่วยกันคนละไม้คนละมือ ซึ่งกองทัพเรือก็คงจะต้องเป็นหลักในการปกป้องท้องทะเลไทยต่อไป ท่ามกลางความซับซ้อนและสับสน

ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์.JPG