ไม่พบผลการค้นหา
โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เชื่อการอภิปรายในการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยฝ่ายที่เกี่ยวข้องตกลงแบ่งเวลาในการอภิปรายกันเอง จึงแจ้งประธาน "ชวน หลีกภัย" รับทราบ

ราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 26-27 ต.ค.นี้ ว่า การตกลงเวลาในการอภิปรายของทั้ง 4 ฝ่าย คือการตกลงร่วมกันระหว่าง รัฐบาล วุฒิสมาชิก ส่วน ส.ส.คือ วิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้าน เป็นการประชุมร่วมกัน เรื่องเวลาในการอภิปรายของแต่ละฝ่ายเป็นไปตามที่ได้ประชุมตกลงกัน แล้วนำกำหนดเวลาดังกล่าวแจ้งประธานรัฐสภา นายชวน หลีกภัย เพื่อทราบ ประธานไม่ได้มีส่วนในการกำหนดกรอบเวลาของแต่ละฝ่าย ฝ่ายค้านได้เวลาไป 8 ชั่วโมง ส่วนอีก 3 ฝ่าย ฝ่ายละ 5 ชั่วโมง ก็จะเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกันของทุกฝ่าย 

ราเมศ กล่าวว่า ในส่วนของญัตติตามมาตรา 165 รัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดว่า ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควรจะรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา นายกรัฐมนตรีจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ในกรณีเช่นว่านี้รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายไม่ได้

ราเมศ กล่าวว่า จากหลักการดังกล่าว ไม่ได้มีแบ่งว่าจะเป็น ส.ส. ฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล หรือ จะเป็น ส.ว. สมาชิกรัฐสภาทุกคนมีสิทธิในการแสดงความเห็น เพื่อให้ข้อคิดเห็นที่เกิดประโยชน์ในการแก้ปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ไม่อยากให้มองว่าเป็นฝ่ายค้านหรือรัฐบาล สาระสำคัญคือความคิดความเห็นในการหาทางออกให้กับประเทศเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า 

ราเมศ กล่าวว่า ข้อเท็จจริงในญัตติก็คือความจริงที่รัฐบาลยื่นมา ทางออกจากข้อเท็จจริงดังกล่าวสมาชิกรัฐสภาเห็นอย่างไรก็แสดงข้อคิดเห็นได้ เชื่อว่าถ้ามุ่งแก้ไขปัญหาให้กับประเทศรายละเอียดความจริงในญัตติ ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เนื้อหาสาระในการอภิปรายเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า

ส่วนกรอบในการอภิปราย ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 45 ราเมศ กล่าวว่า ระบุไว้ชัดเช่นกันว่า ในการอภิปรายต้องอยู่ในประเด็นหรือเกี่ยวกับประเด็นที่กำลังปรึกษากันอยู่ต้องไม่ฟุ่มเฟือย วนเวียน ซ้ำซากหรือซ้ำกับผู้อื่นและห้ามนำเอกสารใดมาอ่านในที่ประชุมรัฐสภาโดยไม่จำเป็น และห้ามนำวัตถุใดเข้ามาแสดงในที่ประชุมรัฐสภา ทั้งนี้เว้นแต่ประธานจะอนุญาต ห้ามผู้อภิปรายแสดงกิริยาหรือใช้วาจาอันไม่สุภาพ ใส่ร้ายหรือ เสียดสีบุคคลใด และห้ามกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์หรือออกชื่อสมาชิกรัฐสภาหรือบุคคลใดโดยไม่จำเป็น

"เชื่อว่าสมาชิกทุกคนจะปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุม โดยเฉพาะการกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ หากมีการอภิปรายในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง ไม่ตรงไปตรงมา สังคมก็เฝ้าดูอยู่ แต่เชื่อว่าการประชุมจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี" ราเมศ กล่าว