ไม่พบผลการค้นหา
'นารีขี่ม้าขาว' มาจากไหน ใครนำมันมาเชื่อมโยงเพื่อผลทางการเมืองบ้าง

แทบทุกครั้งที่การเมืองร้อนระอุ และมี 'ผู้หญิง' โดดเด่นบนสมรภูมิ คำทำนายเรื่อง 'นารีขี่ม้าขาว' ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลอน 'คำทำนายอนาคตประเทศไทย' ที่อ้างกันว่าเป็นของ 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าซุง จ.อุทัยธานี ก็มักจะถูกนำมาพูดถึงเสมอ

แต่เอาเข้าจริงแล้วคำกลอนบทนี้มีที่มาไม่ชัดเจน และทีมงานวัดท่าซุงก็เคยออกมาชี้แจง (อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2551) แล้วว่า คำกลอนทำนายทั้งหมด “ไม่ใช่ของหลวงพ่อฯ” ถึงขนาดเคยส่งเรื่องให้คอลัมนิสต์ดังคนหนึ่งเขียนแก้บทความของตัวเองมาแล้ว แถมทีมวัดยังยืนยันชัดๆ ด้วยว่า ...ท่านไม่เคยพูดไม่เคยกล่าวไว้ที่ไหนเลย

คำกลอนทำนายนี้มาจากไหน คงหาทางสืบเสาะได้ยากอยู่ แต่ที่แน่ๆ มันไม่ได้เพิ่งถูกแชร์ในสมัยคุณปู ยิ่งลักษณ์ หรือล่าสุดในการเปิดตัว Candidate นายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ เพราะสำหรับคนอายุ 30 อัพ น่าจะเคยเห็นคำกลอนนี้กันมาตั้งแต่ยุคคุณหญิงหน่อย สุดารัตน์ ลงสมัครผู้ว่า กทม.ปี 2543 หรือเผลอๆ อาจจะนานกว่านั้น เรียกว่าเป็นกลอนเก่าที่ไม่เคยเก่า เอามา Reuse ได้ทุกยุค


ศิลปะในเพลงยาว

จริงๆ แล้วการทำนายทายทักบ้านเมืองในรูปแบบคำกลอน มีมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ ชัดๆ ก็ “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” ซึ่ง “คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ” ให้ความเห็นไว้ว่าเป็น “ข่าวลือทางการเมือง” ที่ฝ่ายตรงข้ามสร้างขึ้นเพื่อดิสเครดิตสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยาถือว่าผู้แต่งเล่นกับจิตวิทยาผู้คนอย่างมีศิลปะมาก โดยศิลปะอย่างที่หนึ่งก็คือ “ศิลปะในโวหาร” มีการประดิษฐ์คำเปรียบเปรยที่ดูเป็นปริศนามากมาย ทั้ง “กระเบื้องเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม” หรือ “เทวดาผู้รักษาซึ่งศาสนา จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล” สร้างความน่าสนใจ ดึงดูดให้คนฟังได้ตีความ และยิ่งเป็นเรื่องการเมืองพูดดังไม่ได้ ยิ่งต้องใช้วิธี “กระซิบ” ขยายความกันต่อแบบปากต่อปาก

ส่วนศิลปะอีกอย่างคือการเลือกวิธีเล่าที่ “ตรงจริต” โดยคำกลอนนี้มีตอนหนึ่งที่บอกว่ากรุงศรีฯ จะ “เกิดเข็ญเป็นมหัศจรรย์สิบหกประการ” ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานน่าจะล้อมาจากการทำนายฝัน 16 อย่างของพระเจ้าปเสนทิโกศล ใน “มหาสุบินชาดก” ซึ่งในยุคกรุงศรีฯ เรื่องจากชาดกอยู่ในความเชื่อถือของสังคมอยู่แล้ว ถ้าอ้างเรื่องนี้การโฆษณาชวนเชื่อก็คงติดหูคนได้ไม่ยาก

ไม่ว่าเวลาจะเปลี่ยนไปนานขนาดไหน เทคนิคการเล่าเรื่องอิงความเชื่อ และการทิ้งคำให้ตีความ กระตุ้นสัญชาติญาณนักเชื่อมโยง ก็เป็นจุดร่วมของเพลงยาว เพราะแม้แต่กลอนคำทำนายอนาคตประเทศไทยก็นำเทคนิคนี้มาใช้ไม่ต่างกัน

โดยนอกจากอ้างว่ามาจากถ้อยคำของพระเกจิดัง ยังมีถ้อยคำเชิงสัญลักษณ์มากมายให้ผู้อ่านได้ลับสมองไขคำใบ้

ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็ขึ้นอยู่กับการตีความ บางครั้งประโยคเดียวกันเอามาตีความต่างเวลา ต่างกลุ่มความคิด คำทำนายที่ได้รับกลับต่างกันสุดขั้ว... 

วิฬาร์ ลิขิต
เสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ตามแต่ปากอยากจะแกว่ง เรื่องที่คนทั่วไปสนใจ หรือใครไม่สนใจแต่ฉันสนใจฉันก็จะเขียน การตีความที่เกิดขึ้นไม่ใช่ที่สุด ถ้าจุดประเด็นให้ถกเถียงได้ก็โอเค แต่ถึงจุดไม่ติดก็ไม่ซี เพราะคิดว่าสิ่งที่ค้นๆ มาเสนอ น่าจะเป็นประโยชน์กับใครบ้างไม่มากก็น้อยในวาระต่างๆ จะพยายามไม่ออกชื่อด่าใครตรงๆ เพราะยังต้องผ่อนคอนโด แต่จะพยายามเสนอ Hint พร้อมไปกับสาระประวัติศาสตร์ที่คิดว่าน่าสนใจและเทียบเคียงกันได้
2Article
0Video
66Blog