ไม่พบผลการค้นหา
ธปท.เตรียมปรับจีดีพีปีนี้ใหม่ หลังเผชิญมาตรการกีดกันทางการค้า ชี้ประเด็นไทยอยู่ในลิสต์สหรัฐฯ จับตาเหตุเกินดุลการค้า ผู้ว่าแบงก์ชาติยืนยัน ไม่ต้องตกใจ แจงสหรัฐฯ ได้ ย้ำไม่ได้ทำค่าเงินสร้างความได้เปรียบทางการค้า

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศ หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ในเดือนมิถุนายนนี้ ธปท.เตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยประจำปี 2562 ใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มปรับลดลงต่ำกว่าประมาณการเดิม ซึ่งเคยคาดการณ์ว่าปี 2562 จะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ที่ร้อยละ 3.8 และการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 3 

อย่างไรก็ดี การปรับประมาณการเศรษฐกิจรอบนี้ เกิดจากเห็นภาพรวมเศรษฐกิจของไทยยังเผชิญมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง และอาจจะมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยแน่นอน ดังนั้นจึงยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 

ส่วนประเด็นที่กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ จะมีการทบทวนรายชื่อประเทศที่อาจจะเข้าข่ายบริหารจัดการค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า นายวิรไท ยืนยันว่า เรื่องนี้จะไม่กระทบกับการดำเนินนโยบายการเงิน แม้ว่าประเทศไทยจะเกินดุลการค้าสหรัฐฯ อยู่ก็ตาม 

ส่วนการที่สหรัฐฯ จะขยายประเทศที่จะต้องจับตาเรื่องค่าเงินจาก 20 หรือ 25 ประเทศ และมีรายชื่อของไทยไปอยู่ในรายงาน ก็อย่าไปตกใจ เพราะที่ผ่านมาไทยได้พูดคุยทางการกับฝั่งสหรัฐฯ มาโดยตลอดว่าไทยไม่มีนโยบายที่จะบริหารจัดการค่าเงินบาทเพื่อความได้เปรียบทางการค้า แต่อาจจะมีบางช่วงที่กระแสเงินไหลเข้าประเทศแรงๆ ก็ต้องเข้าไปดูแลค่าเงินคล้ายกับประเทศอื่นๆ

หอการค้าชี้ส่งออกโตต่ำ กดดันเศรษฐกิจในประเทศ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปีนี้มาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.8 เนื่องจากคาดว่า ปีนี้การส่งออกจะโตเหลือเพียงร้อยละ 0.5 จากก่อนหน้าคาดว่าขยายตัวร้อยละ 3.9 

เนื่องจากมีปัจจัยลบจากสถานการณ์สงครามการค้าสหรัฐฯ และจีน ที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวน รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ  

อีกด้านหนึ่งศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้จะเติบโตได้ร้อยละ 3.2 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีสัญญาณบ่งชี้ในเชิงลบในช่วงไตรมาสที่ 1 และ 2 โดยจะเห็นได้จากการบริโภคยังมีความเปราะบาง เพราะแม้จะมีการจับจ่ายใช้สอย แต่ก็เป็นการจับจ่ายใช้สอยอย่างระมัดระวัง กำลังซื้อภาคต่างจังหวัดยังไม่เข้มแข็ง และเมื่อเจอสถานการณ์สงครามการค้าเข้ามารวมด้วย จึงทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการจับจ่ายใช้สอย และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมากขึ้น

นอกจากนี้ ในด้านการส่งออกของไทยเอง พบว่า ในไตรมาสแรกการส่งออกติดลบร้อยละ 1.64 โครงสร้างการส่งออกยังมีความเปราะบางจากผลพวงของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่า แต่ในภาคของการท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอยในประเทศยังพอจะไปได้ดี จึงช่วยเป็นตัวค้ำยันให้เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกนี้ไม่ทรุดตัวลง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :