ไม่พบผลการค้นหา
หลังนิ่งเงียบมานานหลายเดือน ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ตกเป็นเป้านิ่งทางการเมืองครั้ง หลังเกิดเหตุการณ์ จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ทหารหน่วยกองพันสรรพาวุธกระสุนที่ 22 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ ก่อโศกนาฏกรรม ที่ จ.นครราชสีมา หรือ Tragedy ที่ พล.อ.อภิรัชต์ ได้นิยามไว้

แน่นอนว่า ทบ. ปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ไม่ได้ ทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ ใช้เวลาถึง 2 วัน รวบรวมข้อมูลเพื่อมาแถลงข่าว พร้อมกับร่ำไห้ ที่ตามมาด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งบวกและลบ

โดยเฉพาะประโยคที่ว่า “ณ นาที ณ วินาที ที่ผู้ก่อเหตุได้ลั่นไกสังหารคู่กรณี ณ วันนั้น ณ นาทีนั้น เขาคืออาชญากร ไม่ใช่ทหารอีกต่อไปแล้ว" 

คือประโยคที่ พล.อ.อภิรัชต์ เปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2563 ภายใน บก.ทบ. ถึงเหตุการณ์สูญเสียครั้งใหญ่ที่ จ.นครราชสีมา จนทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนักว่าเป็นการปัดความรับผิดชอบหรือไม่ 

แน่นอนว่า รอยแผลที่ฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามหยิบยกมาโจมตี พล.อ.อภิรัชต์ อยู่เสมอ โดยเฉพาะภาพการจับปืนในภารกิจยึดคืนสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมไทยคม จ.ปทุมธานี จากกลุ่ม นปช. เมื่้อช่วงปี 2553 

ทำให้ชื่อ พล.อ.อภิรัชต์ ติดแบล็กลิสต์ของคนเสื้อแดงทันที 

ทั้งนี้ เส้นทางการเติบโตในราชการทหารของ พล.อ.อภิรัชต์ จบเตรียมทหาร (ตท.) รุ่นที่ 20 หรือ จปร. รุ่นที่ 31 เป็นบุตรชาย ‘บิ๊กจ๊อด’ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทหารสูงสุด และ ประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่ทำรัฐประหารจากรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อปี 2534 

พล.อ.สุนทร ได้รับฉายา ‘นายพลเสื้อคับ’ และเป็นเจ้าของวลี “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” 

ด้วยดีเอ็นเอทหารถ่ายทอดจากรุ่นพี่มาสู่รุ่นลูก

ปฏิเสธไม่ได้ว่า พล.อ.อภิรัชต์ ได้รู้จักบุคคลทางการเมือง อาทิ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย

และ พล.อ.อภิรัชต์ ยังเป็นเพื่อนกับนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย ซึ่งเคยทำธุรกิจอาบอบนวด สถานบันเทิงชื่อดังย่านรัชดา

หากย้อนไปเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2562 พล.อ.อภิรัชต์ เคยเปิดบรรยายพิเศษต่อหน้าข้าราชการ นักการเมือง สื่อ ดาราในหัวข้อ ‘แผ่นดินของเราในมุมมองความมั่นคง’ 

อภิรัชต์ สุนทร คงสมพงษ์ กองทัพบก 79295691_5358275248573644800_n.jpg

เส้นสายคอนเน็กชันของ ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน ถือว่าไม่ธรรมดา 

เพราะการบรรยายพิเศษ ครั้งนั้น มีนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ผู้แทนจุฬาราชมนตรี ข้าราชการทหาร ตำรวจ อดีตตุลาการศาล รวมทั้งศิลปินดารา อาทิ นก สินจัย เปล่งพานิช - ฉัตรชัย เปล่งพานิช เข้ารับฟังการบรรยาย

ในการบรรยายครั้งนั้น พล.อ.อภิรัชต์ ได้ระบุตอนหนึ่งว่า ตนเคยมีส่วนไปดูแลความมั่นคงหลังการยุบพรรคการเมืองหนึ่งในอดีตที่ระบุว่ากระบวนการศาลไม่ยุติธรรม แล้วบางคนก็หนีคดีไปต่างประเทศ สำหรับคนที่หนีคดี และทิ้งให้ลูกน้องรับผิดนั้นตนเคยถาม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แกนนำพรรคเพื่อไทยถึงตอนไปอยู่ต่างประเทศ ว่ามีความลำบากอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่มีเงิน.

"ขอถามว่าปัญหาเรื่องความมั่นคงท่านจะให้ใครแก้ นักวิชาการหรืออาจารย์บางคนที่คบคิดกับพวกคอมมิวนิสต์เดิม แต่ขอเถอะครับถ้าไม่คิดล้มล้างสถาบัน ไม่คิดเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศ ผมและเพื่อนทหารตำรวจ จะยืนอยู่เคียงข้างประชาชน และขอให้นิสิตนักศึกษาจำเอาไว้ว่าทหารตำรวจก็คือลูกหลานของพวกท่านผม" พล.อ.อภิรัชต์ ระบุอย่างดุเดือด

หลังการบรรยายพิเศษจบลง พล.อ.อภิรัชต์ได้รับคำชมจากนักการเมือง โดยเฉพาะ 'ชูวิทย์' ซึ่่งระบุว่า พล.อ.อภิรัชต์ บรรยายได้ 10 เต็ม 10 เนื่องจากสามารถพูดให้ฟังตั้งแต่ต้นเหตุ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มุมมองความมั่นคงของทหารปัจจุบันไม่ได้รบในสนาม แต่เกิดจากบุคคลในประเทศที่สร้างสัญลักษณ์เพื่อต้องการอำนาจ 

อภิรัชต์ คงสมพงษ์

ทั้ง 'ชูวิทย์' และ 'พล.อ.อภิรัชต์' ต่างเป็นเพื่อนที่รู้จักกันมานาน เพราะทั้งคู่ยอมรับว่าเป็นเพื่อนกันเมื่อครั้งที่ พล.อ.อภิรัชต์ ไปศึกษาที่สหรัฐฯ

หลังจากที่ พล.อ.สุนทร บิดาของ พล.อ.อภิรัชต์ ได้เกษียณอายุราชการ ได้ใช้ชีวิตอย่างสงบ เปิดร้านขายอาหารไทยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส จนกระทั่งถึงแก่อนิจกรรม เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2542 ได้เกิดศึกฟ้องร้องชิงมรดก ระหว่าง พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ ภรรยาที่ 1 และบุตรชายสองคน (พ.ท.อภิรัชต์ ยศขณะนั้น และ พ.ต.ณัฐพร คงสมพงษ์) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร ภรรยาคนสุดท้าย ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เพื่อขอให้ศาลแบ่งทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทร ที่มีทรัพย์สินถึง 4,000 ล้านบาท

กระทั่งปลายปี 2545 ศึกชิงมรดก 4,000 ล้านบาทก็ปิดฉากลงและจบลงด้วยดี โดยศาลตั้งให้ นางอัมพาพันธ์ ภรรยาคนสุดท้าย เป็นผู้จัดการมรดกกองโตคนเดียว อีกทั้งนางอัมพาพันธ์ ยังเซ็นเช็ค 21 ล้านบาท ให้ พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร ภรรยาคนแรก ต่อหน้าศาล และ พ.อ.หญิงคุณหญิงอรชร ก็ไม่ติดใจดำเนินคดีอีกต่อไป

ขณะที่วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมาตรวจสอบทรัพย์สินของ พล.อ.สุนทร และจากการตรวจสอบพบว่ารายการทรัพย์สินที่เป็นรูปธรรมของ พล.อ.สุนทร มีจำนวนไม่มาก และไม่ปรากฏว่ามีทรัพย์สินเกินฐานะความเป็นอยู่ หรือเกินกว่าตำแหน่งหน้าที่ในราชการ คณะกรรมาธิการฯ จึงมีข้อสันนิษฐานพอเชื่อได้ว่า พล.อ.สุนทร มิได้มีทรัพย์สินร่ำรวยเกินฐานะหรือผิดปกติแต่อย่างใด

ส่วนทรัพย์สินของ พล.อ.อภิรัชต์ ซึ่งเคยแจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งสมาชิก สนช. เมื่อปี 2557 นั้น สำนักข่าวอิศรา ได้รายงานว่า พล.อ.อภิรัชต์ มีทรัพย์สินรวม 123 ล้านบาท

โดยสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า พล.อ.อภิรัชต์ ครอบครองรถยนต์ทั้งสิ้น 9 คัน

เป็นของ พล.ต.อภิรัชต์ 5 คัน 2.4 ล้านบาท ได้แก่

1.Range Rover 5.0 V8 ได้มาวันที่ 17 ก.ย. 53 1 ล้านบาท

2.Range Rover 4.6 HSE ได้มาวันที่ 21 มิ.ย. 42 4 แสนบาท

3.Jaguar Sovereign ได้มาวันที่ 31 ม.ค. 39 5 แสนบาท

4.จักรยานยนต์ BMW ได้มาวันที่ 31 มี.ค. 41 1 แสนบาท

5.จักรยานยนต์ BMW F800GS ได้มาวันที่ 28 ส.ค. 55 4 แสนบาท

ของนางกฤษติกา คงสมพงษ์ คู่สมรส 3 คัน 3 ล้านบาท ได้แก่

1.Rang Rover 2013 ได้มาวันที่ 11 ก.ย. 50 5 แสนบาท

2.Lexus LS 460 L ได้มาวันที่ 17 ส.ค. 54 1.5 ล้านบาท

3.Toyota Alphard ได้มาวันที่ 18 พ.ค. 52 1 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2557 พล.ต.อภิรัชต์ ได้แจ้งทรัพย์สินเพิ่มเติมต่อ ป.ป.ช. เป็นรถยนต์ CAYENNE S HYBRID ยี่ห้อ PORSCHE มูลค่า 3.9 ล้านบาท พร้อมระบุว่า ไม่ได้มีเจตนาจงใจไม่ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ ต่อ ป.ป.ช. แต่อย่างใด

รวมถึงครอบครองที่ดิน 4 แปลง 15,661,000 บาท เป็นของ พล.ต.อภิรัชต์ 3 แปลง แขวงบางซ่อน เขตบางซื่อ กทม. ทั้งหมด รวมมูลค่า 11 ล้านบาท ของนางกฤษติกา 1 แปลง อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้มาวันที่ 27 ก.พ. 57 มูลค่า 4 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีเงินฝากในบัญชีกว่า 24 ล้านบาท เป็นของ พล.ต.อภิรัชต์ 21,593,469 บาท ของนางกฤษติกา 3,320,667 บาท มีโรงเรือนฯ 6.1 ล้านบาท เป็นของ พล.ต.อภิรัชต์ 6 แสนบาท ของนางกฤษติกา 5.5 ล้านบาท ทรัพย์สินอื่น (ราคาตั้งแต่สองแสนบาทขึ้นไป) 3.5 ล้านบาท เป็นของ พล.ต.อภิรัชต์ 2 ล้านบาท ของนางกฤษติกา 1.5 ล้านบาท

มีหนี้สินทั้งสิ้น 2,827,200 บาท เป็นเงินกู้จากธนาคาร 1.8 ล้านบาท หนี้สินกู้ซื้อรถยนต์ 1,027,200 บาท ของ พล.ต.อภิรัชต์ ทั้งหมด

กองทัพ เหล่าทัพ พรพิพัฒน์ ชัยพฤกษ์ ลือชัย ผู้นำ อภิรัชต์ plate.jpgอภิรัชต์

ด้านชีวิตครอบครัวของ พล.อ.อภิรัชต์ มีหลังบ้านคือ ‘ดร.อ้อ’ รศ.ดร.กฤษติกา คงสมพงษ์ อาจารย์ประจำสาขาการตลาด สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาฯ ที่โด่งดังจากรายการ The Weakest Link กำจัดจุดอ่อน อีกทั้ง ‘ดร.อ้อ’ เคยเข้าประกวดนางสาวไทย ปี 2532 

ทั้งนี้ พล.อ.อภิรัชต์ มีบุตรชายและบุตรสาวที่เป็นทหารทั้งคู่ คือ ‘ผู้กองพลุ’ ร.อ.พิรพงศ์ คงสมพงษ์ นายทหารประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ และ ‘หมอเพลิน’ ร.ท.แพทย์หญิงอมรัชต์ คงสมพงษ์ ประจำ รพ.พระมงกุฎเกล้า

หลัง พล.อ.อภิรัชต์ หลังจากจบ นายร้อย จปร. ได้เข้ารับราชการเป็น นักบิน ทบ. ที่ กองปีกหมุนที่ 3 ศูนย์การบินทหารบก ก่อนโอนย้ายมาอยู่ ‘เหล่าราบ’ เติบโตมาในรั้ว ร.11 รอ. ได้ชื่อว่าเป็น ‘สายวงศ์เทวัญ’ จนได้ขึ้นเป็น ‘ผู้การ ร.11 รอ.’ นั่นเอง

วีรกรรมสำคัญของ พล.อ.อภิรัชต์ สมัยอยู่ ร.11 รอ. เคยตั้งโต๊ะแถลงข่าวโจมตี ‘เสธ.แดง’ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล แกนนำคนเสื้อแดง ที่ออกมาโจมตี ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ขณะเป็น ผบ.ทบ. เมื่อปี 2553 อีกทั้งเคยกระซิบข้างหู ‘จักรภพ เพ็ญแข’ ที่จาบจ้วงสถาบัน ว่า “อย่ามายุ่งกับ ในหลวง ของผม”

ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ถูกโยกย้ายไปเป็น ผบ.พล.ร.11 ฉะเชิงเทรา และ ผบ.มทบ.15 เพชรบุรี 

ก่อนที่ พล.อ.อภิรัชต์ หวนคืนกลับเข้าไลน์คุมกำลังสำคัญในกองทัพอีกครั้งก่อนมีการรัฐประหารเมื่อปี 2557 

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะเป็น ผบ.ทบ. ได้โยก พล.อ.อภิรัชต์ เข้ากรุงเป็น ผบ.พล.1 รอ. ในการแต่งตั้งโยกย้ายเมื่อเดือน เม.ย. 2557 ก่อนรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 เพียง 1 เดือน โดยทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ กทม. ทั้งหมด

ถือเป็นความไว้ใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีให้ รวมทั้งยังตอกย้ำความสัมพันธ์ที่แนบแน่นนี้ คือการที่ พล.อ.อภิรัชต์ นั่ง ประธานบอร์ดกองสลาก เพื่อจัดระเบียบราคาสลาก ยุค คสช. ด้วย

อภิรัชต์ สมาชิกรัฐสภา วุฒิสภา ประชุมสภา

เส้นทางของ พล.อ.อภิรัชต์ ในยุค คสช. จึงไม่ได้มีอุปสรรคเหมือนเช่นอดีต

เพราะเขาได้ก้าวขึ้นสู่แม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นเป็น ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และเป็น ผบ.ทบ. จากสายวงศ์เทวัญเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2561

หลังว่างเว้นนานถึง 15 ปี นับแต่ ‘บิ๊กเกาะ’พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ ที่เป็น ผบ.ทบ. ช่วงปี 2545-46 

อีกทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ เป็น ผบ.ทบ. ช่วงปีสุดท้ายของ คสช. ที่ต้องกรำศึกกับฝ่ายการเมือง ไม่แพ้วีรกรรมในอดีต

พล.อ.อภิรัชต์ ยังได้ชื่อว่าเป็น ‘นายทหารอเมริกันสไตล์’ เพราะเคยจบหลักสูตรต่างๆจากสหรัฐฯ เช่น ปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ Southeastern University กรุงวอชิงตัน ดีซี , หลักสูตรชั้นนายพัน เหล่าทหารราบ จาก Fort Benning รัฐจอร์เจีย และ หลักสูตรผู้บังคับหน่วยกองกำลังร่วมผสมภาคพื้นดิน วิทยาลัยการสงคราม รัฐเพนซิลเวเนีย 

อีกทั้งช่วงที่ พล.อ.อภิรัชต์ เป็น แม่ทัพภาคที่ 1 ถูกเชิญไปเยี่ยมชมกองทัพสหรัฐฯ หลายครั้ง และได้สานสัมพันธ์แลกเปลี่ยนระหว่าง ทบ.ไทย-สหรัฐฯ ผ่านหลายโครงการมาโดยตลอด ทั้ง การฝึก การศึกษา และด้านยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่เด่นชัดสุด คือ ‘ยานเกราะสไตรเกอร์’ ที่เปรียบเป็น ‘สัญลักษณ์’ ความสัมพันธ์ที่กลับมาอีกครั้ง หลังสหรัฐฯลดระดับลงในยุค คสช. ทำให้ไทยไปแนบชิดจีนมากขึ้น อีกทั้ง พล.อ.อภิรัชต์ ยังชอบแต่งกายอุปกรณ์ฟูลออฟชั่นสไตล์ทหารอเมริกันด้วย

แน่นอนความเป็น ‘อเมริกันสไตล์’ ก็มาปรากฏในแผนงานพัฒนา ทบ. ที่เด่นชัดขึ้น ด้วยกองทัพไทยยึดหลักนิยมทางทหารจากสหรัฐฯมาอยู่แล้ว เช่น หลักสูตรในสถาบันการศึกษาทางทหาร ในการฝึกและทดสอบต่างๆ เป็นต้น

อภิรัชต์ คงสมพงษ์

อย่างไรก็ตาม พล.อ. อภิรัชต์ ยังดำรงตำแหน่งเป็น นายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ทม.รอ.) และเป็น ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ผบ.ฉก.ทม.รอ. 904) ด้วย

ช่วงระยะเวลา 1 ปีครึ่งที่ พล.อ.อภิรัชต์ ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ได้เปิดหน้าท้าชนกับกลุ่มการเมือง โดยเฉพาะ ‘วายร้ายตัวใหม่-พวกชังชาติ’ ที่ฝั่งผู้สนับสนุนรัฐบาลนิยามให้กับ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ผ่านวาทะต่างๆ เช่น ‘ซ้ายจัดดัดจริต - ฮ่องเต้ซินโดรม’ เป็นต้น 

รวมทั้งการโจมตีพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงนโยบายลดงบทหารและยกเลิกเกณฑ์ทหาร ว่าเป็นพวก ‘หนักแผ่นดิน’ 

ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ ได้ร่ายยาวบทความ ‘สุนัขเปรียบกับคน’ หลังเดินจูงสุนัขทหารชื่อ ‘Zebra’ ที่เป็นสุนัขทหารที่เดินตรวจการณ์ใน บก.ทบ. โดยชี้ให้เห็นว่าสุนัข ‘รู้บุญคุณ - มีมารยาท - ไม่เห่าพร่ำเพรื่อ - มีความรับผิดชอบในหน้าที่’ และเชื่อว่า ‘Zebra’ ไม่อยากเป็น ‘เกรียนคีบอร์ด’ หากเห็นโพสต์สร้างความแตกแยกและการชังชาติ

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562 พล.อ.อภิรัชต์ ในฐานะที่เป็น ผบ.ทบ. ยังได้รับตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยตำแหน่งจากผู้นำเหล่าทัพด้วย

และต้องจับตา พล.อ.อภิรัชต์ อีก 7 เดือนในเก้าอี้ ทบ.1 จะจบอย่างไร รวมทั้งบทบาทในอนาคตของ พล.อ.อภิรัชต์ หลังเกษียณอายุราชการในเดือน ก.ย.นี้ ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปริศนา ลายพราง
164Article
0Video
39Blog