ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค เตรียมฟ้องดีลเลอร์ - บ.จีเอ็ม ประเทศไทย กรณีรับจองรถเชฟโรเลต หลังประกาศลดราคา เกินกว่าจำนวนรถที่มี ให้เวลาหาทางแก้ไข 7 วัน

สำนักข่าวไทยรายงาน นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมหารือมาตราการแก้ปัญหาให้กับผู้ซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต มีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ตัวแทนบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส ไทยแลนด์ (จีเอ็ม ประเทศไทย) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือ ว่า หลังบริษัทจีเอ็ม ประเทศไทย ประกาศปิดโรงงานและขายโรงงานผลิตให้กับจีน มีประชาชนได้รับผลกระทบจากการสั่งจองซื้อรถ โดยรถยนต์ของเชฟโรเลตมี 3 รุ่น คือ โคโลราโด แคปติวา และเทรลเบลเซอร์ โดยรุ่นแคปติวาเป็นรุ่นที่มีปัญหามากที่สุด เนื่องจากลดราคาจาก 1 ล้านบาท เหลือ 500,000 บาท 

นายเทวัญ ชี้แจงว่า ปัญหาการร้องเรียนมีทั้งหมด 3 กรณี คือ กรณีแรก ซื้อรถก่อนจะประกาศลดราคา กรณีที่ 2 คือ ไปจองไว้ในราคา 1 ล้านบาท แต่ประสงค์ให้ลดราคาเหลือ 500,000 บาท ตามที่ประกาศลดหลังวันที่ 18 ก.พ. และขอให้ได้รถตามที่จองไว้ และกรณีที่ 3 จองหลังมีการลดราคา แต่ไม่ได้รถ เพราะดีลเลอร์รับจองมากเกินจำนวนรถที่มีขาย 2,000 คัน ดีลเลอร์ทั่วประเทศ 86 ราย รับจองมา 3,000 คัน จึงจะมีผู้เสียหาย 1,000 รายที่ไม่ได้รถ  

นายเทวัญ กล่าวว่า วันนี้ จีเอ็ม ประเทศไทย ส่งฝ่ายกฎหมายกับฝ่ายปฏิบัติการมาชี้แจงว่า ผู้ปฏิบัติงานไม่ทราบล่วงหน้าเช่นกันว่าปิดบริษัท และลดราคารถ ดังนั้น พนักงานที่มาในวันนี้ เป็นกลุ่มที่ถูกเลิกจ้างเช่นกัน และได้ตอบกลับมาว่า ใน 2 กรณีข้างต้น บริษัทไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนกรณีที่ 3 ที่รับจองทั้งที่รู้ว่ารถมีไม่พอกับปริมาณการจอง เรื่องนี้ สคบ.เข้าไปดำเนินการได้ โดยกำลังดูว่า จะฟ้องทั้งดีลเลอร์ และ บริษัทแม่ คือ จีเอ็ม ด้วย แต่ผู้ประสานงานจะใช้ความพยามในการคุยกับผู้บริหารดูก่อน โดยจะใช้เวลาในการรอการตัดสินใจ 1 สัปดาห์  

ทั้งนี้ อยากให้ประชาชนที่ประสบปัญหามาร้องที่ สคบ. เพราะ สคบ.จะเป็นตัวแทนรวบรวมข้อมูลไปดำเนินคีดกับบริษัท จีเอ็ม จนถึงที่สุด จนถึงขณะนี้ตัวเลขผู้เสียหายยังไม่นิ่ง สามารถทยอยร้องได้ต่อเนื่อง และหลังจากนี้สักประมาณ1 สัปดาห์ จะติดตามทวงถามความคืบหน้าในการให้ความช่วยเหลือกับทางจีเอ็มอีกครั้ง หากไม่ได้รับคำตอบ ก็ให้ สคบ.ดำเนินการฟ้อง โดยให้เลขาฯ สคบ. ส่งเรื่อง ส่วนผลทางคดีอาจนำไปสู่การบังคับคดี เอาจากทรัพย์สินของบริษัทแ ละดูคดีทางอาญาประกอบด้วย ว่าจะสามารถเข้าข่ายทางอาญาด้วยหรือไม่