เดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (7 ธ.ค.) ว่าหน่วยงานความมั่นคงกลางของรัสเซีย (FSB) อยู่เบื้องหลัง “ความพยายามที่ไม่ประสบผลสำเร็จในการแทรกแซงกระบวนการทางการเมืองของสหราชอาณาจักร” และเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำกรุงลอนดอนได้ถูกทางการสหราชอาณาจักรเรียกตัวเพื่อเข้าชี้แจงแล้ว
ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการของรัสเซีย 2 คน ถูกคำสั่งคว่ำบาตรโดยสหราชอาณาจักร เนื่องจากการมีส่วนร่วมในการเตรียมการดำเนินการจารกรรมทางไซเบอร์ และ "กิจกรรมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อบ่อนทำลายสหราชอาณาจักร"
“ในการคว่ำบาตรผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบและเรียกตัวเอกอัครราชทูตรัสเซียในวันนี้ เรากำลังเปิดโปงความพยายามอันชั่วร้ายของพวกเขาต่อการสร้างอิทธิพล และให้ความกระจ่างแก่อีกตัวอย่างหนึ่งของวิธีที่รัสเซียเลือกที่จะดำเนินการในเวทีระดับโลก” คาเมรอนกล่าว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรยังระบุเสริมอีกว่า การโจมตีทางไซเบอร์ของรัสเซีย “ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง และเป็นความพยายามคุกคามกระบวนการประชาธิปไตยของเรา” ทั้งนี้ มีการคาดการณ์กันว่า ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร จะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักรช่วงปีหน้า
กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรกล่าวว่า ศูนย์ 18 ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใน FSB ของรัสเซีย มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำหนดเป้าหมายโจมตีทางไซเบอร์ ต่อสมาชิกรัฐสภาจากพรรคการเมืองหลายพรรคของสหราชอาณาจักร โดยการโจมตีทางไซเบอร์บางครั้งจากทางรัสเซีย ส่งผลให้เกิดการรั่วไหลของเอกสารในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีการปฏิบัติการมาอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2558 ถึง 2566
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรยังกล่าวหาว่า ศูนย์ 18 ของรัสเซียได้แฮ็กเอกสารการค้าระหว่างสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้รั่วไหลออกมาในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักร เมื่อช่วงเดือน ธ.ค. 2562 อีกด้วย
สำนักข่าวรัสเซียรายงานอ้างคำแถลงของสถานเอกอัครราชทูตรัสเซียในกรุงลอนดอนที่กล่าวว่า ทางการรัสเซียไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะเชื่อได้ว่าคำกล่าวอ้างของสหราชอาณาจักรเกี่ยวกับการโจมตีทางไซเบอร์โดยรัสเซียนั้นเป็นความจริง หากสหราชอาณาจักรไม่มีหลักฐานยืนยันข้อกล่าวหาที่เป็นรูปธรรม
รัสเซียเคยถูกตั้งข้อสงสัยว่าทำการแทรกแซงการเมืองของสหราชอาณาจักรมาก่อน รวมถึงในช่วงของการลงประชามติเบร็กซิท ที่ก่อให้เกิดความแตกแยกกันในสหราชอาณาจักรในปี 2559 ตามมาด้วยการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรในเวลาต่อมา อย่างไรก็ดี รัฐบาลพรรคอนุรักษ์นิยมของสหราชอาณาจักรถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าล้มเหลวในการสอบสวนคดีการแทรกแซงทางการเมืองโดยรัสเซียดังกล่าว
ที่มา: