ท่ามกลางสถานการณ์เเพร่ระบาดของ 'ไวรัสโคโรนา' ซึ่งพบผู้ติดเชื้อกลุ่มแรกๆ ในเมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน มาตรการรับมือและตอบสนองของรัฐบาลไทยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว กลายเป็นคำถามและที่มาของเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั่วสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะประเด็นการอพยพพาคนกลับบ้าน
โดยเช้าวันนี้ 29 ม.ค. ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ กลายเป็น 2 ประเทศแรกที่อพยพพลเมืองของตัวเองกลับบ้านอย่างปลอดภัย ขณะที่เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และสหภาพยุโรปเองก็จ่อคิวเตรียมนำเครื่องบินลงจอดในจีนเช่นกัน
คำถามก็คือ ทำไมไทยเราถึงได้ล่าช้าหรือคล้ายกับไม่มีแผนรองรับที่แน่ชัด ?
โอกาสนี้ 'วอยซ์ออนไลน์' ชวนพลิกปฏิทินย้อนกลับไปดู 'ปฏิบัติการโปเชนตง' หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการรับมือกับเหตุการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล
เมื่อวันที่ 29 ม.ค.2546 หรือ 17 ปีก่อน ชาวกัมพูชาได้ก่อเหตุจลาจลในกรุงพนมเปญ สาเหตุเริ่มต้นจากบทความในหนังสือพิมพ์ 'รัศมี อังกอร์' ของกัมพูชา กล่าวหาด้วยความเข้าใจผิด ว่านักแสดงหญิงไทยอ้างว่านครวัดเป็นของประเทศไทย สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุกัมพูชาอื่นๆ ได้หยิบยกเอารายงานดังกล่าวปลุกความรู้สึกชาตินิยมเพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดความวุ่นวาย
สถานทูตไทย ริมถนนนโรดมสีหนุ และโรงแรมของคนไทย เช่น รอยัล พนมเปญ , รีเจ้นท์ ปาร์ค ถูกเผา มีการปล้นสะดมทรัพย์สินของธุรกิจไทยในกัมพูชา พี่น้องชาวไทยตกอยู่ในความหวาดกลัว เหตุการณ์รุนแรงถึงขนาดมีชาวกัมพูชาบางคนเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ประมาณ 4 ทุ่มของคืนวันที่ 29 ม.ค. ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือเครียดร่วมกับฝ่ายความมั่นคง โดยมี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์
'ทักษิณ' ยกหูโทรศัพท์เจรจากับ นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน ของกัมพูชา ว่าต้องเอาคนไทยออกมาให้หมด ก่อนสั่งเปิด "ปฏิบัติการโปเชนตง" (Operation Pochentong) ซึ่งเป็นชื่อท่าอากาศยานนานาชาติของพนมเปญ หวัง "พาคนไทยกลับบ้าน"
ทักษิณส่งเครื่องบิน C-130 หน่วยคอมมานโด ชุดลาดตระเวน-ยุทธวิธี เหินฟ้าไปรับคนไทยราว 700 คน ที่หนีไฟแค้นในเขมร ส่วนเรือหลวงจักรีนฤเบศร์ กองเรือรบ เครื่องบินขับไล่ F-16 และเฮลิคอปเตอร์ ประจำการเตรียมพร้อมเช่นกัน
หลังจากผสานกับ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ทีมงานได้นัดแนะผู้คนเพื่อเตรียมไปขึ้นเครื่องบินกลับบ้าน ทันทีที่รุ่งเช้าของพนมเปญ โดยอดีตนายกฯ ทักษิณ กำชับว่า ทุกคนต้องกลับบ้านอย่างปลอดภัย และให้ทำทุกอย่างเพื่อปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของไทย
หนึ่งในข้อความของนายกรัฐมนตรีที่ถูกพูดถึงผ่านสื่อมวลชนอย่างมากเวลานั้นคือ "ความสัมพันธ์ว่ากันทีหลัง ผมถือว่าเรื่องศักดิ์ศรีและชีวิตรับไม่ได้" หลังสั่งการโดยไม่สนว่ารัฐบาลกัมพูชาจะยินดีหรือไม่
เวลาราว 05.00 น.ของวันที่ 30 ม.ค. เครื่องบิน C-130 ลำแรก ตามด้วย 2 - 3 - 4 และ 5 ทะยานขึ้นฟ้า มุ่งสู่สนามบินโปเชนตง โดยมีคอมมานโดและหน่วยรบพิเศษ กระจายกันอยู่ทุกลำ พร้อมเผชิญสถานการณ์ฉุกเฉิน
เมื่อไปถึงโปเชนตง เครื่องบิน C-130 ทั้ง 5 ลำ ที่ลงจอดไม่มีการดับเครื่อง หน่วยคอมมานโดและทหารรบพิเศษ ไม่ต่ำกว่า 100 คน พร้อมอาวุธครบมือและรถฮัมวี่ วิ่งลงจากเครื่องบินด้วยสมาธิและวินัย ออกกระจายโดยรอบสนามบินเพื่อรักษาความปลอดภัย ในขณะที่คนไทยเดินเรียงแถวตอน 1 ขึ้นเครื่อง มีเจ้าหน้าที่ตรวจนับจำนวน
ครบจำนวน กัปตันเดินเครื่อง !
C-130 ทยอยขึ้นแหวกอากาศในกรุงพนมเปญและกลับมาลงจอดที่สนามบินกองทัพอากาศดอนเมือง ลำเเรกเวลาประมาณ 7.50 น. และครบทั้ง 5 ลำ ในเวลา 9.40 น. คนไทยชุดแรก 511 คน และ ชุดที่ 2 จำนวน 192 คน รวมทั้งเอกอัครราชทูตไทย ผู้ช่วยทูต และเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย เดินลงเครื่องอย่างปลอดภัย ท่ามกลางเสียงปรบมือดังกระหึ่มและความดีใจของคนทั้งประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรีมารอรับด้วยตนเอง
หลังเหตุวุ่นวายสงบลง รัฐบาลไทยได้สั่งปิดพรมแดนของประเทศที่ติดกับกัมพูชา และได้มีการเปิดอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2546 หลังจากรัฐบาลกัมพูชาจ่ายเงิน 6 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นค่าชดเชยสำหรับสถานทูตไทยที่ถูกทำลาย
ทั้งหมดนี้ คือ เหตุการณ์ตัวอย่างในอดีตที่แสดงให้ถึงศักยภาพของรัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคง ยามเจอกับสถานการณ์ฉุกเฉิน