ไม่พบผลการค้นหา
เลขาธิการ กสทช. แถลงผลการจ่ายเงินเยียวยาชดเชยให้ช่องทีวีดิจิทัลที่คืนใบอนุญาตโดย 3 ช่องแรกสามารถมาขอรับเงินคืนได้ในวันที่ 16 ส.ค. นี้ ส่วนการประมูลคลื่น 2,600 เมกะเฮิร์ตคาดดำเนินการได้ปลายปี 2562

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด กสทช. ซึ่งที่ประชุมมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินเยียวยาชดเชยให้ช่องทีวีดิจิทัลที่คืนใบอนุญาต โดยในส่วนของช่องสปริง 26 สำนักงาน กสทช. จะต้องจ่ายเงินเยียวยาจำนวน 675.764 ล้านบาท, ช่องสปริงนิวส์ 19 จำนวน 500.951 ล้านบาท ส่วนช่องไบรท์ทีวีจำนวน 371.983 ล้านบาท ซึ่งการช่วยเหลือเยียวยาพนักงานที่ออกจากงานนั้น จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายแรงงานและเพิ่มเติมอีก 1 เดือน โดยทีวีดิจิทัลทั้ง 3 ช่องดังกล่าวสามารถมาขอรับเงินคืนจาก กสทช. ได้ในวันที่ 16 ส.ค. 2562

อย่างไรก็ตามขณะนี้สำนักงาน กสทช. ได้เตรียมการขอยืมเงินจากกองทุน กสทช. แล้วเป็นเงินค่าชดเชยที่ต้องจ่ายให้กับทีวีดิจิทัลทั้ง 7 ช่อง (ไบรท์ทีวี20, วอยซ์ทีวี21, MCOTFamily14, สปริงนิวส์19, สปริง26 (Now26เดิม), ช่อง3แฟมิลี่13, และช่อง 3SD28) ที่ได้มีการคืนใบอนุญาตแล้วฯประมาณการไว้ทั้งหมด 2,962.798 ล้านบาท

สำหรับเงินค่าธรรมเนียมงวดที่ 5 ขณะนี้มีทีวีดิจิทัล 3 ช่องที่จ่ายให้กับสำนักงานกสทช.แล้วคือ ช่อง7 บริษัทไทยบรอดคาสติ้งจำกัด และสปริงนิวส์เป็นเงิน 986.6ล้านบาท ส่วนค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นที่ดินตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. – 30 ก.ย. 2563 เมื่อถึงวันที่ 1 ต.ค. 2563 จะใช้เงินจากการประมูลในการจ่ายแทนซึ่งในระหว่างนี้จะยืมเงินจากกองทุน กสทช. ก่อนซึ่งเป็นเงินประมาณ 552.8 ล้านบาท การปรับเปลี่ยนอุปกรณ์โครงข่ายของกองทัพบก 2 Mux, อสมท 1 Mux, กรมประชาสัมพันธ์ 1 Mux, ไทยพีบีเอส 1 Mux ซึ่งจะใช้วงเงินในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ดังกล่าวประมาณ 345 ล้านบาท

เมื่อรวมเงินทั้งหมดในค่าชดเชยเกี่ยวกับใบอนุญาต 7 ใบค่าคืนธรรมเนียมใบอนุญาตในงวดที่ 5 ที่ ทีวีดิจิทัล 3 ช่องชำระเกินมาค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดินในระยะเวลา 1มิ.ย. - 30 ก.ย. 2563 ค่าปรับเปลี่ยนอุปกรณ์เป็นเงินรวม 4,847.198 ล้านบาท โดยสามารถมารับเงินได้ในวันที่ 16 ส.ค. 2562 พร้อมยืนยันจะดำเนินการให้เร็วที่สุด ส่วนอีก 4 ช่องที่ยังไม่ได้ส่งเรื่องเข้ามาที่ กสทช. ขอให้รีบส่งเข้ามาเพื่อที่จะได้พิจารณาเรื่องเงินชดเชยเยียวยา

ทั้งนี้ วันจันทร์ที่ 1 ก.ค. 2562 คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ จะพิจารณาเยียวยาของวอยซ์ทีวี 21 ที่ส่งเรื่องเข้ามาแล้ว โดยจะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุม กสทช. ในวันที่ 9 ก.ค. 2562 จากนั้นจะมีมติเยียวยาต่อไป

นอกจากนี้ เลขาธิการ กสทช. กล่าวอีกด้วยว่า กสทช.จะมีการขับเคลื่อนการประมูลคลื่นย่าน 2,600 เมกกะเฮิร์ต ซึ่งได้มีการแต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาทดแทนชดใช้และจ่ายค่าตอบแทนในกรณีการเรียกคืนคลื่นความถี่ในย่าน 2,500–2,690 เมกกะเฮิร์ต จาก อสมท โดยวานนี้ (25มิ.ย.)ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตามระเบียบที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มีผู้แทนจากอัยการสูงสุดเป็นประธานอนุกรรมการมีผู้แทนจากสำนักงาน กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอนุกรรมการ

สำหรับการประเมินมูลค่าคลื่นและการชดเชยเยียวยาต่างๆ จะเป็นไปตามที่ได้มีการจ้างและลงนามกับ 3 มหาวิทยาลัยแล้ว ทั้งนี้ การประมูลจะดำเนินการให้ได้ภายในปลายปี 2562 นี้โดยคลื่นความถี่ในย่าน 190 เมกกะเฮิร์ตจะมีการประมูลคู่กับคลื่นความถี่ในย่าน 26 และ 28 กิ๊กกะเฮิร์ต (มัลติแบรนด์) ส่วนคลื่นความถี่ในย่าน 700 เมกกะเฮิร์ตที่เหลืออีก 15 เมกะเฮิรตซ์ ทางสำนักงาน กสทช. กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะนำไปประมูลรวมหรือไม่ พร้อมย้ำประเทศไทยจะเดินหน้าก้าวไปสู่ยุค 5G ได้ในช่วงประมาณปลายปี 2563 – ต้นปี 2564 โดยประชาชนจะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเป็นโครงสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมและความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน