ไม่พบผลการค้นหา
แม้ผู้นำฉีดโชว์สื่อสร้างความมั่นใจ แต่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอินโดนีเซียยังแคลงใจ ไม่เชื่อประสิทธิภาพ 'ซิโนแวค'

บรรดาบุคลากรการแพทย์ของอินโดนีเซียส่วนใหญ่แสดงความกังวลต่อการเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากบริษัทซิโนแวคของจีน หลังสถานบันชีวการแพทย์ในบราซิลออกมาเปิดเผยว่ามีประสิทธิภาพแค่ 50.4% 

เมื่อ 13 ม.ค. อินโดนีเซียเริ่มต้นโครงการแจกจ่ายวัคซีนให้แก่บุคลากรกลุ่มเสี่ยงจำนวน 1.5 ล้านคน ทั่วประเทศเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับวัคซีนของซิโนแวค หลังอินโดนีเซียรับวัคซีนล็อตแรกจำนวน 3 ล้านโดสจากจีน และอนุมัติใช้งานฉุกเฉินเป็นชาติแรก 

แม้ว่าประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ผู้นำอินโดนีเซียพยายามสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนด้วยการฉีดวัคซีนซิโนแวคผ่านสื่อเพื่อหวังสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน แต่กระแสตอบรับวัคซีนดังกล่าวกลับไม่เป็นไปตามคาด โดยเฉพาะบรรดากลุ่มแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเข้ารับวัคซีนก่อน 

"ผมไม่ได้ปฏิเสธการฉีดวัคซีน แต่ผมปฏิเสธวัคซีนซิโนแวค" ยูสเดนีย์ ลานะศักติ แพทย์รายหนึ่งในชวาตะวันออก กล่าว

เช่นเดียวกับโดมินิคัส ฮูซาดา กุมารแพทย์ในเขตชวาตะวันออก เผยกับรอยเตอร์ว่า เขาพร้อมสำหรับการฉีดวัคซีน แต่ "มีบางประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนเช่น เมื่อฉีดแล้วภูมิคุ้มกันจะนานแค่ไหน และจะลดลงหรือไม่หลังจากเวลาผ่านไป"

ตรี มหารานี แพทย์ชาวชวาตะวันออกอีกราย ซึ่งเคยติดเชื้อโควิด-19 เผยตรงกันว่า ยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับซิโนแวค และจะไม่เข้ารับวัคซีนชนิดนี้เนื่องจากยังทดสอบไม่ครบตามขั้นตอน

ขณะที่ เอ็กเนส คริสตี ซูปังกัต แพทย์ในกรุงจาการ์ตา กล่าวว่า เธอไม่มั่นใจและจะไม่รับการฉีด โดยตั้งข้อสังเกตว่า "วัคซีนถูกรีบเร่งดำเนินการเพื่อระงับการระบาด ทั้งๆที่มีการทดลองเพียงไม่กี่ครั้ง"

ก่อนหน้าที่อินโดนีเซียจะอนุมัติใช้วัคซีนซิโนแวค หน่วยงานด้านยาของอินโดนีเซียแถลงยืนยันว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพราว 65.3% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวไม่สอดคล้องกับรายงานผลการทดสอบในตุรกีที่เผยว่ามีประสิทธิภาพราว 91.25% ต่างกับบราซิลที่ตัวเลขล่าสุดระบุว่าอยู่ที่ 50.4% เท่านั้น

ดิกกี บูดิแมน นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยกริฟฟิธในออสเตรเลียกล่าวว่า ถ้ายังมีความกังขาในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข หมายความว่ามันเกิดปัญหาที่ระดับรากเหง้า ซึ่งหมายถึงวัคซีนอาจมีปัญหาตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ดี บัมบัง เฮริยานโต จากบริษัทไบโอ ฟาร์มา ผู้ผลิตยาของอินโดนีเซียที่ร่วมทดสอบวัคซีนซิโนแวค กล่าวว่า แม้ประสิทธิภาพของซิโนแวคจากข้อมูลของบราซิลจะแค่เพียง 50.4% แต่ก็ยังถือว่าเกินระดับที่ 50% ซึ่งเป็นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 

เช่นเดียวกับสมาคมการแพทย์และสมาคมพยาบาลแห่งชาติอินโดนีเซีย ต่างสนับสนุนให้ใช้วัคซีนนี้ เพื่อหวังลดอัตราการเสียชีวิตของแพทย์และบุคลากรการแพทย์ ซึ่งสละชีวิตกับโควิดไปแล้วอย่างน้อย 259 ราย โดยทางสมาคมแพทย์อินโดนีเซียยืนยันว่า การรับวัคซีนในกลุ่มบุคลากรการแพทย์เป็นเรื่องสมัครใจ หากแพทย์รายใดไม่ประสงค์รับก็ให้ใช้ความระมัดระวังป้องกันการติดเชื้อตามขั้นตอนที่รัฐแนะนำ

ทั้งนี้ ผลสำรวจเมื่อเดือน ธ.ค. พบว่ามีชาวอินโดนีเซียเพียง 37% ที่เต็มใจรับการฉีดวัคซีน ขณะที่ 40% ยังลังเล และอีก 17% ปฏิเสธรับวัคซีน

ที่มา : CNA