ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เขียนหนังสือขายดีเกี่ยวกับหุ่นยนต์ชี้ 'เอไอ' สร้างงานใหม่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่นักวิชาการเสนอรัฐพิจารณาเงินเดือนขั้นพื้นฐานเพื่อเป็นสวัสดิการให้ประชาชนทุกคน

โลกปัจจุบันไม่ได้อยู่ในสภาวะเฝ้าระวังการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งต่อไป เพราะเราก้าวขาทั้งสองข้างเข้ามาสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว 

ความแตกต่างจากครั้งที่ 1 ในยุคที่โลกได้ยลโฉมเครื่องจักรไอน้ำ ครั้งที่ 2 เมื่อโลกรู้จักการผลิตสินค้าจำนวนมาก และครั้งที่ 3 ด้วยการมาถึงของ 'คอมพิวเตอร์' ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ มนุษย์จะตกตะลึงกับความสามารถในการสรรสร้างสรรพสิ่งขึ้นมาของตนเอง แต่การปฏิวัติครั้งที่ 4 นี้ โลกจะก้าวต่อไปด้วยความเร็วสูงอย่างทวีคูณในแบบที่ยากจะตามทันและคนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

นวัตกรรมที่ดีหลายอย่างมาพร้อมกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ 'เอไอ' ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนในสินค้าหลายประเภท การนำมาซึ่งสินและบริการใหม่ๆที่เรานึกภาพไม่ออกในปัจจุบัน นอกจากนี้การใช้ชีวิตของผู้คนก็มีความสะดวกสบายมากขึ้น ทั้งยานพาหนะไร้คนขับ รวมทั้งการค้นพบทางวิทยาศาสตร์และแพทยศาสตร์เพื่อรักษาโรคต่างๆ อาจรวมไปถึงเทคโนโลยีที่สามารถปกป้องและรักษาโลกของเราไว้ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดและทวีคูณนี้ได้นำมาซึ่งความเสี่ยงด้านความมั่นคงในชีวิตของมนุษย์เช่นเดียวกัน 


‘เอไอ’ ตัวการ ‘ตกงาน’

'มาร์ติน ฟอร์ด' นักเขียนหนังสือขายดีเรื่อง "การรุ่งเรืองของหุ่นยนต์" ที่ได้รางวัลจากทั้ง 'นิวยอร์กไทมส์' 'ไฟแนนเชียลไทม์ส' และ 'ฟอร์บส' ให้สัมภาษณ์กับวอยซ์ออนไลน์ โดยชี้ว่า โลกจะถูกแทรกแซงอย่างมหาศาลในทุกมิติ ทั้งด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ การตกงานของคนจำนวนมากจึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้

สัมภาษณ์ มาร์ติน

สาขาอาชีพที่มาร์ตินมองว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดไม่ได้มีแค่แรงงานทักษะต่ำ หรือกลุ่มอาชีพใช้แรงงาน แต่ยังรวมถึงพนักงานออฟฟิศที่ทำงานแบบซ้ำซากจำเจเช่นเดียวกัน


"ถ้าคุณเลือกทำงานน่าเบื่อและซ้ำซากเพราะแค่อยากมีงานทำ คุณกำลังพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่น่ากังวล" มาร์ติน กล่าว


มาร์ตินเสริมว่า เทคโนโลยีใหม่ย่อมนำอาชีพใหม่ๆ มาด้วย แต่คำถามสำคัญคือ อาชีพใหม่เหล่านั้นเพียงพอที่จะรองรับแรงงานที่กำลังโดนปลดหรือไม่ เหมาะสมกับทักษะของแรงงานมากน้อยแค่ไหน และต้องใช้เวลาในการอบรมนานเพียงใด ซึ่งรัฐบาลแต่ละแห่งต้องคำนึงถึงการดูแลประชาชนเหล่านี้อย่างทั่วถึงด้วย

ขึ้นทะเบียนคนจน ทำคนระแวงล้ม 30 บาท

สำหรับที่มาของเม็ดเงินที่จะมารองรับการดูแลประชาชนนั้นจำเป็นต้องมาจากภาษีของประชาชนเอง โดยมาร์ตินชี้ว่า การขึ้นอัตราภาษีก้าวหน้าเป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถกระทำได้ เนื่องจากกลุ่มบุคคลที่รวยมากในเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มจะรวยมากขึ้นจากการเป็นเจ้าของสินทรัพย์รวมทั้งเครื่องจักรและหุ่นยนต์ จึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องขึ้นภาษีกับกลุ่มบุคคลเหล่านั้นเนื่องจากนั่นคือกลุ่มบุคคลที่มีเงิน

นอกจากนี้ ในการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมเมื่อปี 2017 ก็ได้มีการพูดถึง 'เงินเดือนขั้นพื้นฐาน' หรือ Universal Basic Income หรือแนวคิดที่ว่าพลเมืองทุกคนควรได้รับเงินเดือนขั้นต่ำจากรัฐ ในฐานะสวัสดิการขั้นพื้นฐานแห่งรัฐ แต่ประเทศที่นำแนวคิดนี้ไปใช้ในโครงการนำร่อง เช่น ฟินแลนด์ ก็ตัดสินใจยุติโครงการไปเมื่อสิ้นปี 2018 โดยให้เหตุผลว่าจะหันไปทดลองโครงการสวัสดิการรัฐแบบอื่น แต่นักวิจัยโครงการระบุว่า ช่วงเวลาทดลองเพียง 2 ปีนั้นสั้นเกินไปสำหรับการเก็บข้อมูลว่าเงินเดือนขั้นต่ำช่วยหรือไม่ช่วยให้ชีวิตประชาชนดีขึ้นอย่างไร

มาตรการการขึ้นภาษีอีกอย่างหนึ่งที่มาร์ตินแนะนำคือการเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มเม็ดเงินแล้วยังเป็นสิ่งที่ดูเหมาะสมหากมองจากมิติของปัญหาภาวะโลกร้อน

แม้เรายังไม่รู้ว่าประชากรกี่คนกำลังจะตกงานและไม่รู้ว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศจะมีวิธีรับมือและแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่สิ่งที่เรารู้คือมันกำลังจะเกิดขึ้นและนี่ไม่ใช่เรื่องที่เลี่ยงได้ ดังนั้น ทุกคนจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือด้วยตนเองให้ได้มากที่สุด ขณะที่ไม่ลืมออกมาทวงถามรัฐบาลของตนว่ากำลังทำอะไรอยู่


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: