นายนพดล ปัทมะ ส.ส. พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองในปี 2568 ว่า สำหรับการเมืองในสภาครึ่งปีแรก ก็คงจะมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้าน รัฐบาลนายกฯแพทองธารทำงานมาไม่กี่เดือน แต่ก็ได้ผลักดันงานสำเร็จหลายเรื่อง น่าจะสามารถชี้แจงการอภิปรายได้ ส่วนการเมืองนอกสภา ถ้าเคลื่อนไหวในกรอบรัฐธรรมนูญก็ไม่น่ากังวล เพราะเป็นสิทธิ์
ส่วนการคัดค้าน MOU 44 ของแกนนำกลุ่มพันธมิตรเดิมนั้น รัฐบาลรับฟังความเห็นต่าง คุยกันด้วยเหตุผล โดยให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจากกองทัพและกระทรวงการต่างประเทศให้ข้อมูล แต่ตนไม่ค่อยสบายใจกับท่าทีของแกนนำผู้คัดค้าน ขอถามว่านายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ใช่ไหมที่โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งคำถามในเชิงด้อยค่ากระทรวงการต่างประเทศว่าเพลี้ยงพล้ำและเสียท่าให้เขมรมาโดยตลอด และกล่าวว่ากัมพูชาชนะสติปัญญาข้าราชการและนักการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนถามว่าเป็นทัศนคติดูแคลนต่อคนที่ถูกพาดพิงหรือไม่ ซึ่งข้าราชการคงไม่เสียเวลามาตอบโต้ทางการเมือง และโดยมารยาททางการทูต เขาคงไม่ป่าวประกาศว่าตนชนะการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร เพราะการทูตและการต่างประเทศนั้นใช้ความรู้ สติปัญญาและมารยาท แต่ที่พวกเขาขาดคือการยกตนข่มท่าน
นายนพดล กล่าวต่อว่า ตัวอย่างผลงานที่ชัดเจนอันหนึ่ง ในปี 2549 กัมพูชาได้ยื่น
1) ตัวปราสาทพระวิหาร
2) พื้นที่รอบตัวปราสาทหรือพื้นที่ทับซ้อน ไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่กระทรวงการต่างประเทศสมัยผมเป็นรัฐมนตรีเจรจาสำเร็จ จนกัมพูชายอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก เพราะไทยอ้างสิทธิ์ และยอมขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารอย่างเดียว
แต่นักการเมืองกลุ่มหนึ่ง นายสนธิ ลิ้มทองกุล และแกนนำกลุ่มพันธมิตรในขณะนั้น โจมตีกล่าวหาใส่ร้ายตนด้วยความเท็จว่า การที่ตนได้ลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชานั้น
1) ตนได้ทำให้ไทยเสียดินแดน
2) ทำให้ไทยเสียสิทธิในการทวงคืนปราสาทพระวิหาร
3) พวกตนขายชาติ
4) การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาได้รวมพื้นที่ทับซ้อนรอบปราสาทไปด้วย
ซึ่งกลุ่มพันธมิตรนำเรื่องไปยื่นเอาผิดตนต่อ ปปช. และต่อมา คณะกรรมการ ปปช.ไปยื่นฟ้องตนต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และในวันที่ 4 กันยายน 2558 คดีหมายเลขแดงที่ อม. 63/ 2558 ศาลฎีกาฯได้พิพากษายกฟ้องตน และในคำพิพากษายังได้ระบุว่า การลงนามในคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ของจำเลย (นายนพดล) ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จึงสมเหตุผลและถูกต้องตรงตามสถานการณ์ ทั้งมิได้กระทบกระเทือนถึงสิทธิในดินแดนของประเทศไทย การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาไม่ส่งผลให้ไทยเสียดินแดนหรือเสียสิทธิในการทวงคืนปราสาท ไทยจะได้ประโยชน์จากข้อตกลงในคำแถลงการณ์ร่วม
'กระบวนการยุติธรรมพิสูจน์แล้วว่าข้อกล่าวหา 4 ข้อข้างต้นที่เคยใส่ร้ายผมนั้นเท็จและผิดทุกประเด็น ขอให้ไปอ่านคำพิพากษาในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 132 ตอนที่ 111ก วันที่ 23 พฤศจิกายน 2558 ตนจึงอยากให้ถอดบทเรียนว่าควรดำเนินการคัดค้าน mou 44 อย่างไร? ควรสำนึกถึงการใส่ร้ายเท็จคนอื่นและความเห็นที่ผิดในเรื่องเขาพระวิหารบ้าง แต่ก็ยังมาแสดงความคิดเห็นอีกว่า mou 44 ไปยอมรับเส้นไหล่ทวีปของ กพช และจะทำให้เสียดินแดน ทั้งๆ ที่กรมสนธิสัญญาฯบอก 'ไม่ใช่' ก็ยังด้อยค่าเขาอีก ทำเช่นนี้ใครได้ประโยชน์ครับ'