เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 17 พ.ย. 2564 ที่รัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่มี ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาเรื่องด่วน ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (ยกเลิกมาตรา 65 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 7 มาตรา 159 วรรคแรก เพิ่มมาตรา 193/1 มาตรา 193/2 แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 11 หมวด 12 มาตรา 256 หมวด16 ยกเลิกมาตรา 269 มาตรา 270 มาตรา 271 มาตรา 272 และมาตรา 279) ฉบับ 'รื้อระบอบประยุทธ์' ที่นำโดยพริษฐ์ วัชรสินธุ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในนามกลุ่ม Re-Solution จำนวน 135,247 คนเป็นผู้เสนอ
โดยผลการลงมติของที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยผลปรากฏดังนี้
โดยมติที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาถือว่าที่ประชุมมีมติไม่รับหลักการ เนื่องจากคะแนนรับหลักการน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดคือ 362 เสียง อีกทั้งคะแนน ส.ว. 1 ใน 3 จึงไม่ต้องนำมาคิด เพราะคะแนนรับหลักการน้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
3 ส.ว.แหกโผโหวตรับหลักการ - งูเห่าก้าวไกลโหวตคว่ำ
สำหรับ ส.ว. 3 คนที่ลงมติรับหลักการ คือ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ มณเฑียร บุญตัน และ พิศาล มาณวพัฒน์
ผลการลงมติไม่รับหลักการ 473 เสียงนั้น พบว่า เป็นเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดที่ลงมติไม่รับหลักการไปแนวทางเดียวกัน รวมถึงเสียงของส.ว.อีก 224 เสียง โดยมี ส.ส.งูเห่า พรรคก้าวไกล ขวัญเลิศ พานิชมาท ส.ส.ชลบุรี คารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เอกภพ เพียรวิเศษ ส.ส.เชียงราย พีระเดช คำสมุทร ส.ส.เชียงราย ส่วนการลงมติรับหลักการ 206 เสียง เป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ลงมติรับหลักการไปในทางเดียวกันทั้งหมด
สำหรับคะแนนงดออกเสียง 6 เสียง เป็นของส.ส. 3 เสียงคือ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ ศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลเมืองไทย และส.ว. 3 เสียง คือ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา เจน นำชัยศิริ และ อำพล จินดาวัฒนะ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับสมาชิกของสองสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีจำนวน 723 คน แบ่งเป็น ส.ว. 248 คน ส.ส. 475 คน โดยองค์ประชุมต้องไม่น้อยกว่า 362 คน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง