ไม่พบผลการค้นหา
'สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ' ปาฐกถา Mobility Infrastructure for Sustainability’s Journey 'คมนาคม' พร้อมขับเคลื่อนทุกโครงการเพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “Mobility Infrastructure for Sustainability’s Journey” ในงาน Sustainability Forum 2025 : Synergizing for Driving Business ณ พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

นายสุริยะ กล่าวว่า รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ต้องการเปลี่ยน “ความท้าทาย” ให้กลายเป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม” ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม รัฐบาลจึงเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ โดยส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางถนน และลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ สร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงควบคู่กับการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ ยกระดับท่าเรือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการการขนส่งสินค้าทางทะเล เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค (Logistics Hub) พัฒนาสนามบิน และเปิดเส้นทางการบินใหม่ ๆ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค (Aviation Hub) 

กระทรวงคมนาคมพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง ซึ่งตนได้มอบนโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมใช้เป็นกรอบในการทำงาน เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลและสร้างโอกาสให้กับประชาชน ทั้งด้านการเดินทางของคนและการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ ยังให้ทุกหน่วยงานเพิ่มประสิทธิภาพและเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งในประเทศในทุกมิติ ครอบคลุมทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาค” อย่างยั่งยืน ซึ่งการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะเร่งด่วน เร่งรัดการก่อสร้างโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนดเวลา มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการให้บริการและมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่สามารถทำได้ทันทีและใช้งบประมาณไม่สูง รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สถานี และยานพาหนะ ให้สะอาด สวยงาม และเป็นระเบียบเรียบร้อย

ระยะกลาง ขับเคลื่อนการลงทุนและก่อสร้างโครงการที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง เพื่อเปิดให้บริการได้ตามแผน

ระยะยาว ขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนแม่บท ซึ่งมีขั้นตอนในช่วงเตรียมการตามระเบียบหลายขั้นตอน ให้สามารถเริ่มก่อสร้างได้ เพื่อเป็นรากฐานการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศอย่างยั่งยืน

นายสุริยะ กล่าวต่ออีกว่า กระทรวงคมนาคมยังมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากการขนส่งทางถนนเป็นทางรางและทางน้ำที่มีต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ส่วนการเดินทางต้องการส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะในทุกรูปแบบ ด้วยมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีระบบคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ช่วยแก้ไขปัญหาและสร้างโอกาสของประเทศ อาทิ แก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด ปัญหามลพิษ และฝุ่น PM 2.5 สร้างโอกาสในการค้าขาย สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน หากผู้ประกอบการเปลี่ยนมาขนส่งสินค้าทางรถไฟและทางน้ำแทนการขนส่งด้วยรถบรรทุก จะทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าของไทยลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าไทยสามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ได้ ขายของได้มากขึ้น มีกำลังการผลิตและการจ้างงานมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น

นอกจากนี้ ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบคมนาคมในทุกมิติ ประกอบด้วย การคมนาคมทางราง มีแผนพัฒนารถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้วประมาณ 280 กิโลเมตร อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ อยู่ระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ 3 โครงการ และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมอีก 12 โครงการ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งจะเร่งการใช้ระบบตั๋วร่วมและนโยบายรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายทุกเส้นทาง คาดว่าจะเริ่มในเดือนกันยายน 2568 สำหรับการขนส่งระหว่างเมืองได้เร่งรัดการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 เส้นทาง ก่อสร้างแล้วเสร็จ 5 เส้นทาง และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 เส้นทาง ส่วนรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง ประกวดราคาแล้ว 1 เส้นทาง และอีก 6 เส้นทาง อยู่ระหว่างเตรียมเสนอ ครม. อนุมัติ นอกจากนี้ ได้พัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่ อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ และช่วงบ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม สำหรับแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูง อยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 เส้นทาง ได้แก่

1) รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

2) รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา

ทั้งนี้ อยู่ระหว่างนำเสนอขออนุมัติต่อ ครม. 1 โครงการ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงช่วงนครราชสีมา - หนองคาย พร้อมก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว เพิ่มอีก 1 สะพาน ที่จังหวัดหนองคาย เพื่อเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงของไทยกับ สปป.ลาว - จีน และในอนาคตมีแผนจะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ ไปเชียงใหม่ และจากกรุงเทพฯ ไปปาดังเบซาร์ การคมนาคมทางน้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ มีแผนพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็น Smart Pier 29 ท่า เปิดให้บริการแล้ว 11 ท่า และจะเร่งผลักดันให้เปิดบริการภายในปี 2568 อีก 5 ท่า และจะเปิดให้บริการครบ 29 ท่า ภายในปี 2570 ส่วนแผนพัฒนาท่าเรือสำราญ (Cruise Terminal) เพื่อรองรับการท่องเที่ยว มีแผนจะก่อสร้าง 3 แห่ง ที่ชลบุรี เกาะสมุย และภูเก็ต โดยจะเริ่มก่อสร้างแห่งแรกที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี 2568 แผนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ปัจจุบันกำลังดำเนินโครงการในระยะที่ 3 เพื่อเพิ่มจำนวนท่าเทียบเรือ และติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบครัน รวมถึงแก้ไขปัญหาจราจรภายในและภายนอกท่าเรือแหลมฉบังให้เกิดความสะดวก การคมนาคมทางบก ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงข่าย       

การคมนาคมและบริการขนส่งทางบกให้มีความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการเชื่อมต่อการขนส่งรูปแบบต่าง ๆ อย่างไร้รอยต่อ นำเทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาและให้บริการ ปรับปรุงกฎหมายให้มีทันสมัย โดยจะเร่ง “ปิดตำนานถนน 7 ชั่วโคตร” บนถนนสายพระราม 2 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2568 รวมทั้งเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์ M6 สายบางปะอิน - นครราชสีมา ตลอดเส้นทางในช่วงปีใหม่ 2569 และ M81 ตลอดเส้นทาง ภายในปี 2568 การคมนาคมทางอากาศ มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็น Aviation Hub ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านการบินของเอกชนในประเทศ และสนับสนุนการเชื่อมโยงการให้บริการด้านการบินกับการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น โดยมีแผนการพัฒนาด้านคมนาคมทางอากาศ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวก สร้างรอยยิ้มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้มาใช้บริการสนามบิน เช่น การนำระบบการออกบัตรโดยสารด้วยตัวเอง (CUPPS) หรือการนำระบบโหลดกระเป๋าด้วยตัวเอง (CUBD) มาใช้ รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทางจากสนามบินกับการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ระยะกลาง มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินของท่าอากาศยานหลักของประเทศให้สามารถรองรับผู้โดยสารและเที่ยวบินได้มากขึ้น ระยะยาว ก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานล้านนา และท่าอากาศยานอันดามัน ซึ่งทั้ง 2 สนามบิน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2573 รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งระบบ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต

ในส่วนของโครงการ Mega Project กระทรวงคมนาคมมีแผนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การขนส่งสินค้าทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน โครงการแลนด์บริดจ์จะเป็นประตูการนำเข้าและส่งออกแห่งใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย และเป็นเส้นทางขนส่งตู้สินค้าทางทะเลทางเลือกใหม่ของภูมิภาค นอกเหนือจากการที่ต้องไปขนถ่ายตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งจากการศึกษาพบว่าจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งได้ 15 - 20% และช่วยประหยัดเวลาในการขนส่งได้ 3 - 5 วัน

“กระทรวงคมนาคม จะเร่งรัดขับเคลื่อนทุกโครงการเพื่อประโยชน์ของประชาชนคนไทย และสอดคล้องตามนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป” นายสุริยะ กล่าว