มีงานวิจัยหลายชิ้น ด้านประเมินการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการเจ็บป่วยโรค ไม่ว่าจะเป็นมะเร็ง ความดัน โรคอ้วน สูบบุหรี่ กินเหล้า อุบัติเหตุบนถนน ล้วนมีทิศทางเหมือนกันคือการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมของโรคเหล่านี้มีมูลค่าระดับแสนล้าน บางโรคพุ่งสูงเป็นห้าแสนล้านบาทต่อปี หรือมากกว่างบประมาณค่ารักษาพยาบาลของประเทศ มุมมองทางเศรษฐศาสตร์จึงเป็นเหตุผลที่สนับสนุนว่าการป้องกันดีกว่าการรักษา แต่ทว่ากระบวนการจากงานวิจัยไปสู่นโยบายสาธารณะกลับเป็นเรื่องที่ยากลำบาก มีหลายครั้งที่รัฐบาลผันเงินและงบประมาณเพื่อควบคุมป้องกันโรคแต่สุดท้ายแล้วประสิทธิผลของการรณรงค์ก็ไม่ได้เป็นไปอย่างที่คาดไว้
สี่แนวทางหลักที่รัฐใช้ในการป้องกันส่งเสริมสุขภาพ
แนวทางแรกที่รัฐใช้คือ การบังคับประชาชน จะบังคับด้วยการอกกฎหมายในรูปค่าปรับ เช่น ค่าปรับการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ การออกกฎหมายให้รัดเข็มขัดนิรภัยหรือใส่หมวกกันน็อค การกำหนดความเร็วสูงสุดบนท้องถนน เป็นต้น ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามแล้วเราก็จะถูกลงโทษ หรือจะอยู่ในรูปแบบการเพิ่มภาษีสรรพสามิต เช่นการขึ้นภาษีเหล้าบุหรี่ ภาษีน้ำตาล เป็นต้น การบังคับให้เปลี่ยนพฤติกรรมมีจุดประสงค์เพื่อลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่กินเหล้า กินอาหารหวานจัดเค็มจัด ควบคุมพฤติกรรมขับรถ โดยเพิ่มต้นทุนของปัจเจกชนในการมีพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพ ข้อดีของวิธีการนี้คือช่วยให้ประชาชนลดพฤติกรรมเสี่ยงได้เร็ว อย่างไรก็ตามการบังคับอาจจะไม่ได้สร้างแรงจูงใจแก่ประชาชนเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมเอง เมื่อใดก็ตามที่การบังคับใช้กฎหมายอ่อนแอย่อมมีโอกาสสูงที่ประชาชนกลับมามีพฤติกรรมแบบเดิม ซึ่งมักจะมีปัญหามากในประเทศที่รายได้น้อยและรัฐมีงบประมาณจำกัดในการบังคับใช้กฎหมาย หรือในประเทศที่มีความโปร่งใสและคอรัปชั่นสูง นอกจากนี้การใช้มาตรการภาษีสรรพสามิตก็ต้องพิจารณาลักษณะของสินค้านั้นๆว่ามีความยืดหยุ่นต่อราคาสูงหรือไม่ เช่นงานวิจัยหลายๆชิ้นยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่ามาตรการทางภาษีมีประสิทธิภาพมากสุดในการลดสูบบุหรี่และดื่มสุราเพราะมีความยืดหยุ่นอุปสงค์ต่อราคาสูง แต่การขึ้นภาษีสรรพสามิตก็มีเพดานจำกัดเช่นกัน ถ้าขึ้นในอัตราสูงเกินไปประชาชนก็มุ่งไปซื้อเหล้าบุหรี่ในตลาดมืดหรือยอมเดินทางไปชายแดนที่มีภาษีสรรพสามิตต่ำกว่า
แนวทางที่สองคือรัฐอุดหนุนเงินด้านบริการหรือสินค้าเพื่อป้องกันโรคส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งจะช่วยได้มากในการเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มประชากรที่ยากจน ที่ส่วนมากจะละเลยการป้องกันสุขภาพเพราะสาเหตุมาจากขาดแคลนเงินทอง การอุดหนุนด้านการเงินจากรัฐส่วนใหญ่จะเป็นระยะสั้นเพื่อให้ประชาชนได้ทดลองใช้และเมื่อพวกเขาสัมผัสถึงผลดีและเรียนรู้แล้วภายหลังก็จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเองโดยไม่ต้องบังคับ เช่นการฉีดวัคซีน การลดจำนวนเงินที่รัฐอุดหนุนทำให้ราคาวัคซีนเพิ่มขึ้นส่งผลต่อการตัดสินใจของคนจนในการรับวัคซีน เป็นต้น อย่างไรก็ตามประชาชนจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหลังจากทดลองใช้สินค้าและบริการนั้นขึ้นอยู่กับว่า เขาจะตระหนักรู้ถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับหลังจากนี้หรือไม่ทั้งที่ในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เช่น ในการรณรงค์มาลาเรีย การใช้มุ้งกันยุงช่วยลดการแพร่เชื้อจากพาหะสู่ตัวคน ซึ่งถ้ารัฐไม่อธิบายกลไกการเกิดโรคให้ประชาชนเข้าใจว่ายุงลายกับมาลาเรียเชื่อมโยงกัน ประชาชนก็อาจไม่สนใจเปลี่ยนพฤติกรรม หรือถ้าการรณรงค์ใช้ถุงยางอนามัยถ้าประชาชนเข้าใจว่าถุงยางมีเพื่อคุมกำเนิดเท่านั้นโดยไม่ทราบถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดต่อเพศสัมพันธ์ ประชาชนก็อาจจะมุ่งใช้ถุงยางเพื่อคุมกำเนิดเท่านั้นเป็นต้น อย่างไรก็ตามมาตรการราคาอาจไม่ดึงดูดใจมากนักในกลุ่มประชากรรายได้ปานกลางและสูง นอกจากนี้เพื่อให้ครอบคลุมทุกประชากรแล้วเราต้องคำนึงถึงความเพียงพอด้านอุปทานการป้องกันโรคด้วย เช่น ถ้าต้องการให้ประชาชนวัคซีนทั่วถึง ในคลังที่เก็บไว้ก็ต้องมีวัคซีนเพียงพอให้ทุกคน
แนวทางที่สามการสร้างแรงจูงใจด้วยรางวัล ในบางกรณีการอุดหนุนการป้องกันโรคจนราคาของสินค้าเท่ากับศูนย์ก็ไม่จูงใจให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมตาม เช่น การออกกำลังกายช่วยให้สุขภาพแข็งแรงและรัฐบาลลงทุนกับอุปกรณ์กีฬาและสนามกีฬาให้คนเข้าถึงฟรี แต่ทว่าประชาชนบางกลุ่มก็ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมออกกำลังกายได้ หรือแม้แต่การแจกจ่ายวัคซีนโดยไม่คิดมูลค่าก็ปรากฏว่าคนจนบางกลุ่มก็ไม่ได้มารับวัคซีนอยู่ดี การให้รางวัลเล็กน้อยแก่ประชาชนเพื่อสร้างแรงจูงใจจึงเป็นอีกวิธีหนึ่ง เพราะรางวัลที่ให้เป็นผลได้ทันตาเห็นในปัจจุบันเมื่อเทียบกับการป้องกันโรคซึ่งเป็นการลงทุนเพื่ออนาคต เช่น การให้ถั่วแก่คนมาฉีดวัคซีนช่วยให้คนจนมารับวัคซีนมากขึ้นในอินเดีย การให้เงินประสบความสำเร็จเพื่อชักชวนคนมาตรวจเลือดเอชไอวีในมาลาวี หรือการให้อาหารกลางวันและวัคซีนแก่เด็กเล็กในโรงเรียนประถมควบคู่กับการโอนเงินช่วยเหลือโดยตรงให้กับครอบครัวที่ส่งเด็กมาเรียนหนังสือ
การให้ข้อมูลและการศึกษา
แนวทางที่สี่การให้ข้อมูลและการศึกษาแก่ประชาชน ระดับการศึกษามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการมีสุขภาพดี ผู้มีระดับการศึกษาสูงมักจะมีกระบวนการย่อยข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับสุขภาพและวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ดี มีการวิเคราะห์พิจารณาการตัดสินใจด้วยเหตุผลและมีเข้าถึงข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้มากกว่า การตัดสินใจจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใดๆของมนุษย์ด้วยความสมัครใจนั้นข้อมูลข่าวสารและความรู้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ข้อมูลชนิดไหนที่จะให้ประชาชนเชื่อและเปลี่ยนพฤติกรรม ตัวข้อมูลเองและแหล่งข้อมูลก็ต้องมีความน่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน ระบบการศึกษาภาคบังคับก็ต้องสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชน
การให้การศึกษาเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลาและความอดทนกว่าการบังคับใช้ด้วยกฎหมายหรือวิธีการอื่นๆ แต่ส่งผลต่อจำนวนคนหมู่มากได้มากกว่า และช่วยให้ประชาชนพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง ตระหนักถึงความสำคัญสุขภาพได้ด้วยตนเอง