นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. เปิดเผยว่า ในวันที่ 8 เม.ย. 2563 จะเกิดปรากฏการณ์ "ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี" หรือ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) ห่างจากโลก 357,022 กิโลเมตร หากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าร้อยละ 7 และสว่างกว่าร้อยละ 16 สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลา 17:52 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า ผู้สนใจสามารถรอชมและเก็บภาพความสวยงามของดวงจันทร์ได้ในวันและช่วงเวลาดังกล่าว
ดวงจันทร์จะโคจรรอบโลกเป็นรูปวงรี 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้น ในแต่ละเดือนจะมีตำแหน่งที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดเรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะทางเฉลี่ย 357,000 กิโลเมตร และตำแหน่งที่ไกลโลกที่สุดเรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อยในคืนที่ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี นับเป็นเหตุการณ์ปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกทุกเดือน แต่อาจไม่ปรากฏเต็มดวงทุกครั้ง
ทั้งนี้ ดวงจันทร์เต็มดวงและใกล้โลกที่สุดในรอบปี ครั้งต่อไปจะตรงกับวันที่ 26 พ.ค. 2564 ห่างประมาณ 357,454 กิโลเมตร