ไม่พบผลการค้นหา
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ชี้ วิกฤตสุขภาพอาจนำมาซึ่ง 'คลื่นการล้มละลาย' และ 'การว่างงาน' หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือเพียงพอ ประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่เจอศึกหนักรอบด้าน

'คริสตาลินา จอร์จีวา' ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินและการคลังระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟซี) ที่มีสมาชิกทั้งหมด 189 ประเทศว่า โควิด-19 ได้กลายเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว

"มันชัดเจนแล้วว่าเราเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่แย่เท่ากับปี 2009 หรืออาจจะแย่กว่านั้น" คริสตาลินา กล่าว

ทั้งนี้ ปี 2009 หรือ พ.ศ.2552 เป็นปีที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์หรือวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ในแวดวงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ แถบตะวันตกด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ผอ.ไอเอ็มเอฟยังกล่าวถึงหนึ่งในข้อกังวลที่จะมีผลมากที่สุดต่อเศรษฐกิจทั่วโลก คือการหยุดชะงักชั่วคราวของภาคธุรกิจที่เกิดจากมาตรการป้องกันการระบาดในหลายประเทศอาจทำให้เกิดคลื่นการล้มละลายหรือการว่างงาน ที่นอกจากจะบั่นทอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ยังทำร้ายและทำลายโครงสร้างทางสังคมด้วย

นอกจากนี้ คริสตาลินา ยังแสดงความกังวลกับประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (emerging market) ที่แบกผลกระทบอย่างมากทั้งฝั่งอุปสงค์โลกที่ลดลง การส่งออกที่หดตัว และตัวเลขนักท่องเที่ยวที่หายไป โดยไอเอ็มเอฟประเมินว่าเม็ดเงินสนับสนุนที่ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ต้องการอยู่ที่ราว 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 82.5 ล้านล้านบาท ซึ่งไอเอ็มเอฟชี้ว่าองค์กรทราบดีว่าเงินสำรองของประเทศเหล่านี้มีไม่เพียงพออย่างแน่นอน จึงแนะนำให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดต้องรีบจัดการกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ รวมถึงประสานงานร่วมกับกับทั้งธนาคารโลกและสถาบันการเงินระหว่างประเทศอื่นๆ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม ผอ.ไอเอ็มเอฟ ชี้ว่า เศรษฐกิจจะเริ่มหันหัวกลับมาในแดนบวกหรือเริ่มดีขึ้นในปี 2564 และอาจปรับตัวขึ้นมาอย่างมีนัยสำคัญ แต่นั่นหมายความว่ารัฐบาลของทุกประเทศต้องร่วมมือกันสะกัดกั้นการแพร่ระบาดให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีมาตรการบังคับใช้นโยบายทางการเงินและการคลังเพื่อลดทอนความตึงเครียดและผลกระทบลง 

สำหรับมาตรการช่วยเหลือประเทศสมาชิกจากไอเอ็มเอฟ ประกอบไปด้วยการเพิ่มวงเงินฉุกเฉินขององค์กรเอง รวมถึงการกลับมาปรับปรุงโครงสร้างการกู้ยืมที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งยังมีการผ่อนปรนหนี้ในหลายประเทศสมาชิก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ จะมีประชุมไอเอ็มเอฟขึ้นอีกครั้งเพื่อทบทวนสถานการณ์และหนทางช่วยเหลือประเทศสมาชิกในวันที่ 16 เม.ย.ที่จะถึงนี้

อ้างอิง; CNBC, ET

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;