นัดหารือระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื้อรังของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ทางออกที่ถูกเลือกคือ "การยื่นศาลเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ"
รมว.สาธารณสุข ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจกำกับดูแลการบินไทย เปิดเผยภายหลังการหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ว่า แนวทางการให้กระทรวงการคลังค้ำประกันให้การบินไทยกู้ยืมเงินมาเสริมสภาพคล่องคงจะลำบาก จึงน่าจะเหลืออยู่วิธีการเดียวคือ "การฟื้นฟูการบินไทย" ซึ่งการฟื้นฟูกิจการจะต้องมีขั้นตอนทำไปพร้อมๆ กันกับการปรับโครงสร้างการบริหาร แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นใหญ่ของการบินไทยซึ่งมีกระทรวงการคลังเป็นหลักจะเป็นผู้ตัดสินใจ
"นายกรัฐมนตรีมีความเห็นไปในทางเห็นด้วยที่จะให้มีการฟื้นฟูกิจการการบินไทย ซึ่งถือเป็นวิธีการที่สวยที่สุด ถ้าทุกคนและทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ การบินไทยก็จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้" นายอนุทิน กล่าว
หลังการหารือนัดสำคัญผ่านพ้น การประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด ก็ถูกกำหนดขึ้นทันทีในช่วงเช้าของวันจันทร์ที่ 18 พ.ค. 2563 ที่จะถึงนี้ ซึ่งคาดการณ์ได้ไม่ยากว่าวาระสำคัญคงอยู่ที่การพิจารณาเคาะหรือไม่เคาะให้การบินไทยยื่นศาลขอฟื้นฟูกิจการ หากเคาะเลือกทางออกให้การบินไทยเดินเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการโดยกระบวนการทางศาล คาดว่าผลประชุมดังกล่าวจะถูกส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันถัดไปทันที
แม้ทางเลือกให้การบินไทยเดินเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการตามขั้นตอนทางศาล จะเป็นทางออกที่เปิดเผยตามหน้าสื่อสารมวลชนมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ดูเหมือนสังคมจะมีความสับสนอยู่พอสมควรเกี่ยวกับแนวทางนี้ เนื่องจากหลายฝ่ายที่ออกมาให้ความเห็นต่างได้ใช้ศัพท์แสงชวนสับสน ไม่ว่าจะเป็น "ปล่อยให้ล้มละลายแล้วเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ" หรือ "ฟ้องให้ล้มละลายแล้วฟื้นฟูกิจการ" ทั้งที่ในความจริงแล้ว "การล้มละลาย" กับ "การฟื้นฟูกิจการ" มีความหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ทั้ง 2 เรื่องนี้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกันคือพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้มละลาย พ.ศ.2498 เท่านั้น
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ กิจการใดที่ถูกฟ้องให้ "ล้มละลาย" หมายถึงกิจการนั้นๆ ไม่มีทางที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้แล้ว ทั้งจากหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถที่จะชำระหนี้ได้ เจ้าหนี้จะเป็นผู้ฟ้องให้กิจการนั้นล้มละลาย เมื่อกระบวนการขึ้นสู่ศาล หากกิจการที่ถูกฟ้องไม่สามารถประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ได้สำเร็จ ศาลจะสั่งให้เป็นนิติบุคคลล้มละลาย ต้องหยุดประกอบกิจการให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามารวบรวมทรัพย์สินทั้งหมดที่เหลืออยู่ นำออกขายทอดตลาดนำเงินไปคืนแก่เจ้าหนี้
ส่วน "การฟื้นฟูกิจการ" เป็นกระบวนการที่นำไปสู่ผลในทางตรงกันข้ามกับล้มละลาย กล่าวคือเป็นการขออำนาจศาลเป็นที่พึ่งเพื่อหาทางให้กิจการสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีการคาดการณ์กันว่า ทั้ง คนร.และ ครม.จะพิจารณาทางเลือกแก้ปัญหาของการบินไทยด้วยแนวทางที่สอง คือ การฟื้นฟูกิจการ ในต้นสัปดาห์ที่จะถึงนี้
สำหรับผู้ที่เฝ้าติดตามมหากาพย์การบินไทยมายาวนาน คงจะสนใจไม่น้อยว่า เมื่อต้องฟื้นฟูกิจการตามกระบวนการทางศาล ขั้นตอนตามกฎหมายถัดจากนี้จะเกิดอะไรขึ้น มีจุดไหนที่ต้องจับตาว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอนาคตการบินไทยภายใต้การฟื้นฟูกิจการบ้าง
การขอฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ ผู้ที่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มีทั้งตัวเจ้าหนี้ และตัวลูกหนี้เอง ซึ่งกรณีของการบินไทยที่กำลังดำเนินการอยู่ขณะนี้จะเป็นการยื่นศาลโดยฝ่ายของลูกหนี้คือการบินไทยเอง
เมื่อยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มละลายกลางแล้ว ทันทีที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ การบินไทยจะเข้าสู่ "สภาวะพักการชำระหนี้" (Automatic Stay) ซึ่งเป็นสภาวะที่คุ้มครองไม่ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายฟ้องคดีแพ่งเพื่อบังคับเอาทรัพย์สินต่างๆ ของบริษัท รวมถึงกรณีที่หากมีการฟ้องร้องเป็นคดีจนมีคำพิพากษาแล้วก็ห้ามไม่ให้บังคับคดีเอากับทรัพย์สินของการบินไทย โดยสภาวะพักการชำระหนี้นี้จะคงอยู่ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเรื่อยไปจนกว่าจะดำเนินการฟื้นฟูกิจการเสร็จสิ้นลง หรือสิ้นสุดการฟื้นฟูกิจการไม่ว่าจะด้วยกรณีใดๆ
แต่ระหว่างที่บริษัทตกอยู่ภายใต้ "สภาวะพักการชำระหนี้" ผลของกฎหมายตาม พ.ร.บ.ล้มละลายนี้ ไม่ห้ามเจ้าหนี้ หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่จะบังคับเอากับผู้ค้ำประกันที่ค้ำประกันหนี้ให้กับการบินไทยแต่อย่างใด ซึ่งก็มีความเป็นไปได้สูงว่าพร้อมๆ กับการยื่นขอรับชำระหนี้ตามกระบวนการล้มละลาย เจ้าหนี้ในรายที่มีผู้ค้ำประกันคงจะเดินหน้าฟ้องร้องเอากับผู้ค้ำประกันไปพร้อมกัน เพราะเป็นช่องทางที่จะได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน ซึ่งก็ต้องไปติดตามกันอีกครั้งว่าเจ้าหนี้แต่ละรายการของการบินไทยมีใครเป็นเจ้ามือใหญ่รับค้ำประกันให้บ้าง จะเป็นกระทรวงการคลัง หรือสถาบันการเงินแห่งใด ที่ต้องตกเป็นเป้าหมายที่บรรดาเจ้าหนี้ไปไล่เบี้ยเอาหนี้คืนอย่างเลี่ยงไม่พ้น
อีกด้านหนึ่ง เมื่อศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้แล้ว ศาลล้มละลายจะนัดไต่สวนเพื่อให้ได้ความจริงว่าบริษัทเข้าเกณฑ์ที่สามารถฟื้นฟูกิจการได้หรือไม่ โดยมีเกณฑ์พิจารณาเบื้องต้นคือเป็นกิจการที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ เป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนเกินกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป มีเหตุอันควรที่จะฟื้นฟูกิจการเช่นบริษัทประสบปัญหาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ หรือโรคระบาด แต่เหนืออื่นใดทั้งหมดทั้งมวลบริษัทต้องชี้ให้ศาลเห็นว่า บริษัทมีช่องทางที่จะฟื้นฟูให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ในอนาคต
นอกจากรายละเอียดเงื่อนไขความจำเป็น โอกาสที่ธุรกิจจะอยู่รอดแล้ว พร้อมกับการยื่นขอฟื้นฟูการบินไทยจะต้องเสนอ 'ผู้ทำแผน' ให้ศาลพิจารณาด้วย ซึ่งน่าติดตามว่าการบินไทยจะมีการเสนอใครหรือกลุ่มใดเข้ามาเป็นผู้ทำหน้าที่นี้ ทั้งนี้เพราะ 'ผู้ทำแผน' ถือเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่ง หรือจะกล่าวว่าอนาคตการบินไทยจะไปรอดไม่รอดก็อยู่ที่ขั้นตอนนี้ เพราะนอกจากต้องเข้ามาเจรจาต่อรองกับบรรดาเจ้าหนี้ จัดกลุ่มเจ้าหนี้แล้ว ผู้ทำแผนยังเป็นผู้วางแผนทั้งหมดว่าหากจะให้การบินไทยอยู่รอดอย่างเข้มแข็งในธุรกิจการบินที่แข่งขันดุเดือดจะต้องดำเนินการเรื่องใดบ้าง
อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นไปได้ที่การยื่นฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ ผู้ทำแผนคงจะได้รับการเสนอชื่อจากผู้ถือหุ้นใหญ่ซึ่งก็คือกระทรวงการคลัง แต่การเสนอดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ก็เปิดช่องให้ฝ่ายเจ้าหนี้สามารถคัดค้านตัวผู้ทำแผน และเสนอผู้ทำแผนจากฝ่ายเจ้าหนี้เข้ามาแข่งขันได้ ส่วนสุดท้ายผู้ทำแผนจากฝ่ายใดจะได้รับเลือกเพื่อเสนอต่อศาลในที่สุดก็ขึ้นอยู่ที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นผู้เลือก
เมื่อได้ข้อสรุปเกี่ยวกับผู้ทำแผนเพื่อเสนอต่อศาลแล้ว และศาลไต่สวนได้ความจริงว่าบริษัทมีเหตุอันสมควรที่จะฟื้นฟูกิจการได้ ศาลจะมีคำสั่ง "ให้ฟื้นฟูกิจการ" พร้อมกับการแต่งตั้งผู้ทำแผน และพลันที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าวคณะกรรมการและผู้บริหารของการบินไทยชุดเดิมจะสิ้นสุดอำนาจการบริหารลงทันที หน้าที่ทั้งหมดจะถูกส่งต่อไปยังผู้ทำแผน พร้อมกันนั้นผู้ทำแผนจะใช้เวลา 3 เดือนในการจัดทำแผน
โดยเดือนแรกจะเป็นการเปิดให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ซึ่งจะทำให้เห็นหนี้ที่แท้จริงทั้งหมดของบริษัทว่ามีอยู่เท่าใด เพื่อเจรจาและจัดกลุ่มเจ้าหนี้ อีก 2 เดือนหลังจากนั้นเป็นการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ระยะเวลาดังกล่าวสามารถขยายได้โดยการเสนอขออนุมัติจากศาล
สำหรับแผนฟื้นฟูกิจการจะประกอบด้วยหลักการและวิธีการฟื้นฟูกิจการ เช่น ขั้นตอนการฟื้นฟูกิจการ การชำระหนี้ การยืดกำหนดเวลาชำระหนี้ การลดจำนวนหนี้ลง การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ การลดทุนและเพิ่มทุน การก่อหนี้ การระดมทุน ตลอดจนการหาแหล่งเงินทุนและเงื่อนไข การหาประโยชน์จากทรัพย์สินต่างๆ เงื่อนไขการจ่ายเงินปันผลและประโยชน์อื่นๆ แนวทางการแก้ไขปัญหาขาดสภาพคล่องในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ การไม่ยอมรับทรัพย์สินหรือสิทธิตามสัญญากรณีมีภาระเกินควร รวมถึงระยะเวลาดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งไม่เกิน 5 ปี
ตามแผนการฟื้นฟูกิจการจะมีหนึ่งขั้นตอนที่หลายฝ่ายคงเฝ้าจับตามอง เพราะจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการบินไทย นั่นคือต้องมีการ 'ลดทุน' เพื่อล้างขาดทุนสะสมในทางบัญชีและตามด้วยการ 'เพิ่มทุนใหม่' แม้ตามขั้นตอนปกติการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจะเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน ซึ่งในกรณีนี้ก็คือกระทรวงการคลัง คำถามจึงมีอยู่ว่าท่ามกลางกระแสสังคมที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักต่อกรณีที่กระทรวงการคลังเข้าไปอุ้มการบินไทยไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้งนั้น จะเป็นแรงเสียดทานให้กระทรวงการคลังไม่อาจเพิ่มทุนในรอบนี้ หรือหากเพิ่มก็จะมีสัดส่วนที่ต่ำกว่าร้อยละ 50 หรือไม่
อย่างไรก็ดี หากเป็นไปในทิศทางนั้น ก็หมายความว่าการบินไทยต้องสิ้นสุดการเป็นรัฐวิสาหกิจ เปิดทางให้กลุ่มทุนที่มีความพร้อมเข้ามาถือหุ้นและเป็น "เจ้าของคนใหม่การบินไทย" ได้ ซึ่งกลุ่มทุนที่มีความพร้อมและมีผลประโยชน์เชื่อมโยงกับธุรกิจการบินในเมืองไทยก็คงมีอยู่ไม่กี่กลุ่มที่พอจะคาดเดาได้
ลำดับต่อมา ทันทีที่ผู้ทำแผนจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสร็จสิ้น ผู้ทำแผนจะเสนอแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เพื่อเรียกประชุมเจ้าหนี้มาร่วมกันพิจารณาและตัดสินใจว่า จะยอมรับหรือไม่ยอมรับแผนที่ผู้ทำแผนทำเสนอขึ้นมา หากเกิดกรณีไม่ยอมรับแผนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะรายงานต่อศาลเพื่อพิจารณามี "คำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ" ซึ่งหมายความว่ายกเลิกกระบวนการที่ดำเนินการมาทั้งหมด ทุกฝ่ายกลับสู่สถานะเดิม หากบริษัทไม่สามารถชำระหนี้หรือดำเนินกิจการต่อไปได้ก็อาจไปสู่กระบวนการฟ้องเพื่อให้ "ล้มละลาย" ต่อไป
ในทางตรงข้ามหากที่ประชุมเจ้าหนี้เห็นชอบกับแผนที่ผู้ทำแผนเสนอ ขั้นตอนต่อไปคือการเสนอแผนให้ศาลล้มละลายอนุมัติ พร้อมกับแต่งตั้ง 'ผู้บริหารแผน' เข้ามารับไม้ต่อจาก 'ผู้ทำแผน' เพื่อบริหารงานและฟื้นฟูกิจการของบริษัทให้เป็นไปตามแผนต่อไป หากทางปฏิบัติผู้บริหารแผนพาการบินไทยเดินหน้าไปได้แผนหารายได้มาชำระหนี้ได้ตามกำหนด เป็นบริษัทที่แข็งแกร่งทุกอย่างจบลงด้วยดี ศาลก็จะมี "คำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ" แต่หากไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้ ระหว่างทางเจ้าหนี้ก็สามารถยื่นขอให้ศาลสั่ง "ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ" ทุกฝ่ายกลับคืนสู่สถานะเดิม ผลักการบินไทยเข้าสู่การล้มละลายได้
กระแสการวิพากษ์วิจารณ์ต่อปัญหาของการบินไทยในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาผ่านหน้าสื่อต่างๆ ทั้งสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์ สะท้อนให้เห็นความคิดที่หลากหลายของคนไทยต่อปัญหาของ 'สายการบินแห่งชาติ' หลายเสียงบอกอยากปล่อยให้ล้มละลายไปเสียจะได้ไม่ต้องกลับไปสู่วังวนเดิมๆ แต่จำนวนไม่น้อยก็ยังอยากเห็นการบินไทยยืนหยัดอยู่ต่อไป ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ คนร.จะได้พิจารณาหารือกันในวันจันทร์ 18 พ.ค.นี้
ครั้งนี้คงจะเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์สำคัญของการบินไทย จะเป็นโอกาสในวิกฤตตามที่หลายฝ่ายคาดหวังหรือไม่ น่าติดตามด้วยใจระทึกยิ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :