ไม่พบผลการค้นหา
เหตุใดหลายฝ่าย นักวิเคราะห์หลายคนตั้งคำถามกันว่า 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' นายกรัฐมนตรี จะยุบสภาก่อนการอภิปรายทั่วไป มาตรา 152 หรือไม่

โอกาสสุดท้ายของพรรคร่วมฝ่ายค้านในการถล่มรัฐบาลแบบจัดหนัก คือการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 แห่งรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่มีการลงมติคว่ำรัฐมนตรีคนใดเหมือนอภิปรายไม่ไว้วางใจ 

แต่ในเมื่ออายุของรัฐบาลเหลืออยู่เพียง 2 เดือนเศษ เนื้อหาในการอภิปรายก็คงหวังผลให้เชือดเนื้อเถือหนังรัฐบาลได้พอสมควร ขณะที่รัฐบาลก็พยายามยื้อการอภิปรายสุดฤทธิ์ เพื่อประคองชีวิตให้ยาวไปจนถึงกลางเดือน ก.พ. นี้

ท่ามกลางสถานะอันง่อนแง่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งคล้ายจะเริ่มถูกพรรคร่วมรัฐบาลหมางเมิน การถูกถล่มชุดใหญ่อีกรอบในสภาฯ ไม่น่าใช่เรื่องดีสำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ‘วอยซ์’ เปิด 8 เหตุผล (ไม่เกี่ยวกับวาระนายกฯ 8 ปี ) ที่ทำให้นายกรัฐมนตรีต้องหวั่นไหวกับศึกอภิปรายกลางสภาฯ ครั้งสุดท้ายนี้

อภิปรายทั่วไป ม.152

1) องครักษ์พิทักษ์ ‘ตู่’ เหลือน้อย

หลัง สิระ เจนจาคะ และ ปารีณา ไกรคุปต์ หลุดสถานะ ส.ส.เสียเก้าอี้ไป ขุมกำลังของ พล.อ.ประยุทธ์ ในสภาฯ ก็อ่อนแรงลงทุกที เวลานี้หันซ้ายแลขวา เห็นเพียง สายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ที่ยังคงภักดี พร้อมยืนหยัดสู้ ส.ส.ทั้งสภาฯ อย่างเด็ดเดี่ยว (และโดดเดี่ยว?) ก่อนจะหาจังหวะเหมาะย้ายเข้า รวมไทยสร้างชาติ ในอีกไม่นาน


2) กิโยติน-จีนสีเทา

อาวุธหนักสุดของฝ่ายค้านที่สังคมเฝ้าจับตา คือมหากาพย์ทุนสีเทาของ ตู้ห่าว ซึ่ง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตหัวหน้าพรรครักประเทศไทย เล่นใหญ่หอบหลักฐานเป็นตั้งฝากหน่วยประจันบาน รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ชำแหละต่อในสภาฯ แถมยังทิ้งระเบิดไล่หลัง แฉว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดที่พัวพันกับคดีสีเทาลือลั่นนั้น มีหุ้นส่วนเป็นหลานของนายกฯ ‘ลุงตู่’ จนเจ้าตัวถึงขั้นเหวี่ยงใส่สื่อที่กล้าถามเรื่องนี้เลยทีเดียว  


3) ขาลงองค์กรตำรวจ

‘ข่าวคาว’ ของวงการสีกากียังหลั่งไหลมาต่อเนื่อง ตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งตำรวจ 191 ที่เอื้อทุนจีนเทา หรือรถตำรวจนำขบวนนักท่องเที่ยวจีน เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน (คฝ.) สลายการชุมนุมรุนแรงจนคนตาบอด และสื่อถูกกระทืบ ไปจนถึงสารพัด ‘ตั๋ว’ ซื้อขายตำแหน่ง ทั้งหมดนี้นายกฯ ในฐานะประธาน ก.ตร. คือผู้รับผิดชอบโดยตรง จนอาจคิดว่าไม่น่าชิงมาจาก ‘พี่ชาย’ เลย


4) ขาขึ้นพลังประชารัฐ

พลันที่พี่น้อง ‘2 ป.’ แยกทางกันเดินชัดเจน พลังประชารัฐ ที่ไร้ ‘ประยุทธ์’ ก็เริ่มเนื้อหอมขึ้น พลังต่อรองเริ่มขับเคลื่อนสูบฉีด ซ้ำ ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังชูจุดแข็งพร้อมจับมือทุกฝั่งฝ่าย โดยเฉพาะ ส.ส.ที่ยังอยู่ในสภาฯ ตอนนี้ ต่างเกรงบารมี ‘พี่ป้อม’ จนนายกฯ อาจกลายเป็นหมาหัวเน่าในเวทีอภิปรายฯ


5) แผลสดยังเต็มตัว

เมื่อเก็งข้อสอบของฝ่ายค้าน ที่จ้องบดขยี้ความล้มเหลวของนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน ประเด็นร้อนที่คงหลบไม่พ้นแน่ ได้แก่ อธิบดีกรมอุทยานฯ ตบทรัพย์รับส่วย สะท้อนความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ไปจนถึงการลักหลับเปลี่ยนป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จนถึงเรือหลวงสุโขทัยล่ม ล้วนเป็นแผลสดที่รอเอาเกลือทาซ้ำทั้งสิ้น

 
6) รัฐนาวาใกล้แตก

พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มแตกแยกกันเอง เห็นได้ชัดจาก ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ ที่เปิดหน้าชกกันหลายแมตช์ กลายเป็นรอยร้าวของเสถียรภาพในรัฐบาลเด่นชัด ส.ส.ของแต่ละพรรคก็เริ่มไม่สนใจงานสภาฯ ห่วงแต่โดดประชุมไปลงพื้นที่หาเสียง เพื่อเอาตัวเองให้รอดทั้งนั้น ยากจะเห็นใครมาเป็นปากเสียงปกป้องรัฐบาลในศึกอภิปรายฯ อีก

 
7) เป็นนักการเมืองเต็มตัวแล้ว

คราว พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นนายกฯ ก็อ้างไม่ได้อยาก แต่ต้องรับเพราะจำเป็น พอประกาศตัวจะไปต่อเป็นแคนดิเดต ก็เท่ากับสมัครใจลงแข่งขันด้วยตัวเองแล้ว เมื่อเกิดใหม่เป็นนักการเมือง จะชี้แจงอะไรในสภาฯ ก็ต้องระวังให้ดี เพราะทุกคำตอบส่งผลต่อคะแนนเสียงทั้งนั้น

 
8) ไพ่สุดท้าย ยุบสภา

อายุของสภาฯ จวนจะหมดลงในวันที่ 23 มี.ค. 2566 แล้ว ปี่กลองเลือกตั้งเริ่มโหมสนั่นขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ จึงเหลือไพ่ใบสุดท้ายคือการชิงยุบสภาฯ เสียก่อนที่จะมีการจัดอภิปรายฯ ขึ้น ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านต่างก็กังวลเนื่องจากเห็นได้ว่ารัฐบาลพยายามยื้อเวลานานเกินควร การยุบสภาฯ หนีจึงอาจเป็นทางออกง่ายที่สุด เพื่อไม่ให้ถูกเปิดแผลไปมากกว่านี้

จากเหตุผลทั้งหมด ไม่ว่าจะจริงหรือไม่ ฟังขึ้นเพียงใดก็ตาม การอภิปราย 152 นี้ ก็นับเป็นศึกสุดท้ายที่สังคมควรร่วมกันจับตามอง และอาจจะเห็นภาพบทสรุปผลงานตลอดวาระของรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วย ซึ่งหากนายกฯ เลือกทิ้งไพ่ตายเพื่อยุบสภาฯ จริง ก็คงต้องชี้แจงเหตุผลต่อประชาชนให้ได้ว่าเพราะอะไร นอกจากความ ‘กลัว’

 

ชยพล มาลานิยม
18Article
0Video
0Blog