เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ศาสตราภิชานภาควิชาประวัติศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน บรรยายออนไลน์ตลาดวิชาอนาคตใหม่ หัวข้อ ประวัติศาสตร์นอกขนบ เรื่อง "ประวัติศาสตร์ที่เป็นอุดมการรับใช้รัฐ"
โดย ศ.ดร.ธงชัย กล่าวถึงประวัติศาสต์กระบวนการศาลไทย โดยเห็นว่า ระบบกระบวนการยุติธรรมให้อภิสิทธิ์แก่รัฐบาลในเรื่องความมั่นคง ให้ถือว่าคนกระทำความผิดเรื่องความมั่นคง เป็นผู้ผิด จนกว่าจะพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ นิติศาสตร์ไทยเอื้อให้อภิสิทธิ์ต่อรัฐ โดยความผิดที่ละเมิดต่อความมั่นคง ศาลจะเข้าข้างรัฐ ถึงขนาดใช้หลักการของอดีต คือให้ผิดไว้ก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ว่าบริสุทธิ์ ในขณะที่ความผิดส่วนอื่นๆ ของกฎหมายไทย ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีแล้ว โดยให้คนที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าฝ่ายโจทก์จะพิสูจน์ว่าเขาเป็นผู้ผิด จึงกลายเป็นวัฒนธรรมที่ไม่มีการเขียนไว้ในตำรากฎหมายอาญาว่าด้วยหมวดของความมั่นคง และว่าด้วยความผิดต่อพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์
“ทำไมราชทัณฑ์ของไทยถึงไม่เห็นคนเป็นคน ซึ่งผิดหลักอย่างมาก ราชทัณฑ์เกือบทั่วโลกก็ยังมีปัญหานี้อยู่พอสมควรไม่ใช่แค่ประเทศไทย คือเห็นคนในคุกมีค่าน้อยกว่ามนุษย์เต็มๆ แต่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ไม่จับคนที่ถูกกล่าวหาเข้าคุกโดยไม่ได้รับประกัน และแก้ไขปัญหาไม่ควรจะให้คนจนติดคุกเพราะไม่มีเงินประกัน ประเทศไทยนอกจากจนแล้วติดคุกเพราะไม่มีเงินประกัน ยังมีคดีการเมือง เกี่ยวกับความมั่นคงที่ต้องติดคุกก่อน ไม่ได้รับประกัน”
ศ.ดร.ธงชัย เห็นว่า ที่ประเทศไทยมีปัญหาหนักหน่วงกว่าหลายประเทศนั้น ต้องเข้าใจประวัติศาสตร์ของราชทัณฑ์ไทย แม้จะมีการปรับเปลี่ยนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็จะเห็นว่าเป็นเหมือนกับสถาบันอื่นๆในระบบราชการไทย ที่มีความสวยหรู ในกระดาษแต่ความเป็นจริง ช่างหน้าไหว้หลังหลอก หรือไม่ตรงกับในกระดาษแทบทั้งสิ้น
“ไม่ว่าจะเป็นการไม่ให้ประกันหรือการบริหารจัดการคุก จนคนติดโควิด ก็เห็นว่าเขาเห็นคนในคุกไม่ใช่คน ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ประเทศไทยปัญหามันหนักหน่วง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของราชทัณฑ์ไทย ราชทัณฑ์ไทยเป็นสุดยอดโคตรๆ ของความล้าหลังในกระบวนการยุติธรรมไทย ใครที่ไม่พอใจศาล ผมพูดได้เลยว่าราชทัณฑ์อาจแย่กว่าศาลอีก”
ธงชัย ยังพูดถึงข่าวลือในประเทศไทยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ข่าวลือที่สร้างประวัติศาสตร์ มีมาแล้วหลายครั้ง เช่น ข่าวลือเกี่ยวกับการรัฐประหาร เป็นต้น
“ข่าวลือเรื่องเจ้าในสังคมไทยมีอยู่เยอะแยะ ใครจะบอกว่าไม่จริงคือการปฏิเสธความจริง แต่ข่าวลือเหล่านั้นมีทั้งจริงและไม่จริงเต็มไปหมด ที่สำคัญไม่มีทางตรวจสอบได้ ส่วนจะมีผลหรือไม่มีผลกับคน ก็ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมนั้นๆ ด้วย อย่างไรก็ตาม ข่าวลือในทางนักประวัติศาสตร์ ทำให้มองได้ว่าสภาพสังคมนั้นๆ เป็นแบบไหน
สังคมที่ข่าวลือจะมีผลน้อยมากคือสังคมที่เปิดเผยโปร่งใส ถ้าผู้มีอำนาจตั้งแต่ระดับกระจอกไปจนถึงเจ้านายใหญ่โตในสังคมไทย ไม่มีความสามารถในการสื่อสารข่าวที่เป็นความจริงให้คนรับรู้เข้าใจอย่างไม่ตื่นตระหนกได้ ก็หมดหวัง ยิ่งปิดข่าวคนก็ต้องฟังข่าวลือ”
ช่วงท้าย ศ.ดร.ธงชัย กล่าวถึงประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า สิ่งที่แย่ในสังคมไทยคือ อนุญาตให้มีความเชื่อในแบบหนึ่ง และอนุญาตให้ใช้อำนาจอย่างเกินเลย เพื่อกำจัดคนที่คิดต่างออกไป
“อาจจะบอกว่ากฎหมายปัจจุบันยังเป็นอย่างนั้นอยู่ ก็แก้กฎหมายสิ คุณจะพูดได้ยังไงว่ากฎหมายยังมีอยู่เลยต้องห้าม ก็เขาเรียกร้องให้แก้กฏหมายยังไงล่ะ กฎหมาย 112 ไม่ได้เขียนบนกำแพงจักรวาล พระมนูธรรมศาสตร์ไม่ได้จารึกอยู่ในพระธรรมศาสตร์ ไม่ได้มีอยู่ในพระธรรมศาสตร์มาตั้งแต่สมัยฮินดู สมัยประมาณ 2,000 กว่าปีก่อน
ศ.ดร.ธงชัย ย้ำอีกครั้งว่ามาตรา 112 ไม่เคยมีอยู่บนกำแพงจักรวาล พระมนูธรรมศาสตร์ไม่เคยบันทึกลงในพระธรรมศาสตร์ ไม่ได้อยู่ในกฎหมายตราสามดวง และกฎหมายในสมัยอยุธยา เป็นกฎหมายที่มนุษย์สมัยใหม่บังคับใช้ ขยายบทลงโทษให้รุนแรงขึ้นเมื่อปี 2519 หลัง 6 ต.ค. พระมนูธรรมศาสตร์ มาเห็นก็คงร้องไห้ เพราะกฎหมายนี้มันผิดหลักกฏหมาย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง