วันที่ 15 ก.ย. 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ลงพื้นที่จังหวัดชัยนาทตรวจสถานการณ์น้ำในเขื่อนเจ้าพระยาเพื่อเตรียมรับน้ำเหนือหลากและวางแผนป้องกันพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง เขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท
โดยเมื่อนายกรัฐมนตรีมาถึงยังเขื่อนเจ้าพระยาได้รับฟังการรายงานสถานการณ์ รวมไปถึงเส้นทางน้ำที่จะเข้ามายังเขื่อนเจ้าพระยา และพื้นที่เสี่ยงจุดรับน้ำต่างๆ โดยได้มีการแจ้งเตือนให้ประชาชนมีมีการยกของขึ้นที่สูง
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า วันนี้ได้มาเยี่ยมชาวชัยนาท ซึ่งนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และรัฐบาลนั้นมีความห่วงใยทั้งจังหวัดชัยนาทและพื้นที่ใกล้เคียง ที่มีผลกระทบร่วมกัน ซึ่งวันนี้ตนได้รับฟังคำชี้แจงจากสทนช. ซึ่งเป็นผู้บริหารน้ำภาพรวมของทั้งประเทศ รับฟังคำชี้แจงจากผู้ว่าราชการจังหวัด รวมไปถึงรับฟังความคิดเห็นต่างๆ จากบรรดา ส.ส ในพื้นที่ ให้รับทราบว่ารัฐบาลมีความห่วงใยอย่างไร เพราะทุกคนคือตัวแทนของประชาชนทั้งสิ้น ตนไม่มีการแบ่งแยกกับใครทั้งสิ้น เพราะเป็นรัฐบาลที่ต้องบริหารทั้งประเทศ ต้องดูแลคนทั้งประเทศอยู่แล้ว ซึ่งก็ต้องพิจารณาตามลำดับความเร่งด่วนของการทำงาน ส่วนนี้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้อำนวยการในเรื่องเหล่านี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายตามระเบียบทุกประการจะต้องไม่มีการทุจริต ต้องโปร่งใสและเป็นธรรม เพื่อให้ตรงต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่บอกไปแล้ว
นายกรัฐมนตรี ยังระบุอีกว่า วันนี้ตนก็มีความพอใจที่ทางฝ่ายการบริหาร ได้ชี้แจงตนทั้งหมดทั้งน้ำทางตอนเหนือ ตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ซึ่งมีการตัดยอดน้ำออกไปยังพื้นที่ด้านข้าง จนกระทั่งมวลน้ำเหลือมายังพื้นที่นี้ และหากมีการระบายน้ำในพื้นที่นี้ลดลง แต่สูงสุดไม่เกิน 1,500 ลูกบาศก์ เพราะหากสูงจากนี้จะส่งผลกระทบในพื้นที่ลุ่มต่ำ วันนี้ตนก็ได้สั่งเน้นย้ำให้ดำเนินการกำจัดวัชพืชที่ขวางทางน้ำ ซึ่งเขาก็กำลังดำเนินการอยู่ ยอมรับว่าเป็นอย่างนี้มาทุกปี แหล่งกำเนิดอยู่จากบนฝั่ง จากแหล่งน้ำขนาดเล็ก คูคลองไหลมารวมกันในแม่น้ำ ซึ่งต้องกำจัดต่อไปเป็นระยะ
โดยนายกรัฐมนตรี ขอฝากความห่วงใยไปยังประชาชนทุกคน แม้ว่าวันนี้จะไม่มีโอกาสพบกันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 สิ่งที่ต้องระมัดระวังที่สุดตอนนี้คือโควิด โดยต้องเน้นย้ำมาตรการ DMHTT สวมหน้ากากอนามัย
ส่วนแผนเผชิญเหตุในการบริหารจัดการน้ำในครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ได้มีการเตรียมการในช่วงหน้าฝนและเผื่อหน้าแล้งไปด้วย นี่เขาเรียกว่าแผนเผชิญเหตุ ไม่ใช่ว่าระบายน้ำพอให้ไม่ท่วม แล้วนิ่งอยู่เฉยๆไม่ใช่ ทุกคนมีบทเรียนมาแล้วในการระบายน้ำเมื่อปี 2554 ส่วนปี 2563 ก็อีกเรื่องหนึ่งปริมาณน้ำฝนมากพายุเข้าก็เรื่องธรรมดา พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่มีความเสี่ยง ซึ่งหากปริมาณน้ำตรงนี้มากก็จะไปท่วมบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยในวันนี้ต้องมีการเตรียมพื้นที่สำรองกักเก็บน้ำ ทั้งธรรมชาติและที่สร้างไว้ ขณะเดียวกันต้องมีการเตรียมแผนในกรณีที่มีการชำรุด โดยมีการประสานกับกระทรวงกลาโหมใช้เฮลิคอปเตอร์ ในการทิ้งตะกร้า หินทิ้งลงมาเพื่อให้กันน้ำได้ชั่วคราว
โดยในช่วงท้ายนายกรัฐมนตรียังระบุอีกว่า สิ่งที่พูดวันนี้ก็คือเรื่องของการเกษตร ก็ต้องมีการปรับพื้นที่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในวันนี้ให้มากเกินไปไม่น้อยเกินไปจนก็เป็นห่วงเพราะฉะนั้นทุกคนต้องปรับตัวเองด้วย รัฐบาลพยายามคิดใหม่ทำใหม่ ต้องกล้าคิดกล้าทำกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง เราถึงจะพลิกโฉมประเทศไทยได้ เข้าใจหรือไม่ พร้อมขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคน ขอให้สู้ๆ
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยระหว่างที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์อยู่นั้น ได้ฝากความห่วงใยถึงประชาชนทุกคน พร้อมระบุว่า ตอนนี้เป็นเรื่องสถานการณ์โควิดต้องระมัดระวัง สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ โควิดๆ ยึดหลัก D-M-H-T-T หน้ากาก ล้างมือ ทันใดนั้น นายกรัฐมนตรีได้จามออกมาก่อนย้ำว่า ไม่ได้ป่วยเป็นอะไร ได้ตรวจโรคแล้ว ตนแพ้อากาศ เพราะที่นี่อากาศชื้น
ขณะที่ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำเก็บกักรวม 9,800 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่าง ในปัจจุบัน สามารถรองรับน้ำได้อีก 15000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยแยกเป็นพื้นที่ 4 เขื่อน โดยในปัจจุบันเขื่อนภูมิพลมีปริมาณน้ำกว่าล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 38 ของความจุอ่าง สามารถรองรับน้ำได้อีก 8 พันล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่เขื่อนสิริกิต์ มีปริมาณน้ำ 3,834 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 40 ของความจุอ่าง สามารถรับน้ำได้อีก 5,646 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งทั้งสองคืนนี้อยู่เหนือเขื่อนลุ่มน้ำเจ้าพระยา ส่วนอีก 2 เขื่อนหลักซึ่งเป็นเขื่อนใหญ่ ของลุ่มน้ำเจ้าพระยาประกอบด้วยเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำอยู่ 537 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 51 ของความจุอ่าง รับน้ำที่อีก 400 ล้านลูกบาศก์เมตร และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปริมาณน้ำ 255 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 20 ของความจุอ่าง รับน้ำได้อีก 705 ล้านลูกบาศก์เมตร