ไม่พบผลการค้นหา
บนจักรวาลอันกว้างใหญ่ของโลกธุรกิจ การมีแสงสว่างจากดาวดวงเล็กๆ ซึ่งอาจหมายถึง ธุรกิจรายย่อยๆ ได้ปล่อยแสงสว่างไสว เป็นดาวดวงเล็กๆ ที่เพิ่มแสงให้ทั่วผืนฟ้าสว่างเพิ่มขึ้น อย่างความหวังกับธุรกิจ "คราฟท์ เบียร์ไทย" อีกหนึ่งธุรกิจที่มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากต้องการปล่อยแสง รอเวลาเติบโต หากข้อกฎหมายในประเทศไทยเปิดกว้างพอสำหรับผู้ผลิตรายย่อย

'กาญจน์ เสาวพุทธสุเวช' ผู้ผลิตเบียร์ 'สเปซ คราฟท์' ผู้ผลิตคราฟท์เบียร์แบรนด์ไทย แต่ต้องนำไปบรรจุขวดในโรงงานที่กัมพูชาเหมือนกับอีกหลายแบรนด์คราฟท์เบียรไทยที่ถูกตีกรอบด้วยกฎหมายไทยที่กำหนดให้ผู้ผลิตเบียร์ที่สามารถบรรจุขวดในประเทศต้องผลิตไม่น้อยกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี 

"เราเป็นคราฟท์เบียร์ไทย แต่เราไม่สามารถผลิตในประเทศไทยได้ เพราะด้วยข้อกำหนดของกฎหมายที่ทำให้ผู้ผลิตเบียร์รายเล็กต้องออกไปผลิตที่กัมพูชา ซึ่งเขาก็ไม่แย่ และก็ค่อนข้างใกล้บ้านเรา การขนส่งก็ใช้เวลาไม่นาน แต่ถ้าวันหนึ่ง เราสามารถทำเบียร์ได้เองในประเทศไทย ก็น่าจะดีกับหลายคน ซึ่งผมมองว่าไม่ใช่ดีแค่ผู้ผลิต แต่จะเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ของชุมชน เป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนได้ เช่น ในญี่ปุ่น แต่ละจังหวัดและเมืองก็มีเบียร์เป็นสินค้าของตัวเอง แทบจะโอทอปของตัวเอง และสร้างรายได้ให้ชุมชนนั้นพอสมควร" กาญจน์ กล่าว

ดังนั้น ในเวลาที่ภาครัฐ รวมถึงพรรคการเมืองทั้งหลาย พูดถึงการสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ การทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สามารถอยู่ในตลาดโลกได้ กาญจน์ ยืนยันว่า การต้มเบียร์กินเองก็เหมือนการทำอาหาร ไม่จำเป็นต้องมีข้อจำกัดเรื่องปริมาณขั้นต่ำในการผลิต เขาจึงตั้งคำถามว่า "สาโท เหล้าพื้นบ้าน ปัจจุบันก็ผลิตและจำหน่ายในปริมาณน้อยๆ ได้ แต่พอเป็นคำว่าเบียร์บั๊ป กลับมีการกำหนดขั้นต่ำของปริมาณการผลิตซึ่งมหาศาลมาก" 

ผลที่ตามมาคือ ผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ไทยกว่าร้อยละ 80-90 ต้องนำเบียร์สูตรที่ตัวเองคิดค้นไปผลิตและบรรจุที่กัมพูชา แล้วนำกลับมาขายในประเทศในราคาที่แข่งขันได้ และด้วยการเป็นเบียร์สูตรใครสูตรมัน ที่ผลิตไม่มาก จึงทำให้ราคาต่อหน่วยสูง ดังนั้นในฐานะผู้ผลิต เขาจึงหวังว่า หากกฎหมายไทยเปิดให้ผลิตคราฟท์เบียร์บรรจุขวดขายในประเทศในปริมาณที่น้อยลงได้ ก็น่าจะทำให้ราคาขายคราฟท์เบียร์ในประเทศไทยถูกลง และคนเข้าถึงได้มากขึ้น 


กาญจน์ เสาวพุทธสุเวช-สเปซ คราฟท์-คราฟเบียร์-ทองหล่อ

(กาญจน์ เสาวพุทธสุเวช ผู้ผลิตเบียร์ สเปซ คราฟท์)

"ตอนนี้ราคาเบียร์ไทย หรือ เบียร์อิมพอร์ต ภาษีสรรพสามิตสูง มันทำให้ราคาขายสูงมาก คนปกติจะกินได้ต้องจ่ายแก้วละ 300-400 บาท ซึ่งในฐานะผู้ผลิตเบียร์ คราฟท์ ถ้าเราผลิตและบรรจุในไทยได้ เราก็อยากจะนำเสนอเป็นทางเลือกสำหรับนักดื่มเบียร์"

โดยปัจจุบัน 'สเปซ คราฟท์' ผลิตและบรรจุขวดโรงงานในพนมเปญ โดยมีปริมาณการผลิตประมาณเฉลี่ย 3,500-10,000 ลิตร แต่ด้วยกฎหมายไทยที่กำหนดว่า หากเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายตามร้าน ต้องผลิตได้ในปริมาณ 1 แสน-1 ล้านลิตรต่อปี แต่ถ้าจะบรรจุขวดต้องทำขั้นต่ำ 10 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งข้อกำหนดแบบนี้ ไม่มีทางที่จะทำให้ผู้ผลิตรายเล็กๆ ผลิตและบรรจุขวดในประเทศไทย ทุกคนก็ต้องวิ่งไปผลิตที่ประเทศเพื่อนบ้านแล้วนำกลับมาขาย หรือ ต้องทำเป็น 'เบียร์เถื่อน' ทั้งที่ไม่ได้ต้องการทำผิด 

ดังนั้น ในเร็วๆ นี้ อาจได้เห็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ผลิตคราฟท์ เบียร์ร่วมตัวเป็นองค์กร หรือ สมาคม เพื่อผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย เปิดพื้นที่ให้ผู้ผลิตรายเล็กๆ ได้ผลิต บรรจุ และจำหน่ายในประเทศ แม้จะทำในปริมาณไม่มากนักได้ เพราะถ้าคนที่ไม่ใช่ของจริง สักพักก็จะจากไป แต่สำหรับผู้ผลิตที่พิถีพิถันตั้งใจผลิตเบียร์คุณภาพดีให้กับผู้บริโภค ก็ควรมีโอกาสได้เติบโต 


สเปซ คราฟท์-คราฟเบียร์-ทองหล่อ

'กาญจน์' เล่าด้วยว่า ในช่วง 3-4 ปี นับตั้งแต่เริ่มต้มทานเองในบ้าน แบ่งเพื่อนชิม จนมาถึงคิดสูตร ผลิต และจ้างโรงงานในกัมพูชาบรรจุให้ เขาได้เห็นผู้ผลิตคราฟท์เบียร์รายเล็กๆ หลายรายต้องปิดตัวไป หลายคนเริ่มจากการทำเป็นงานอดิเรกเหมือนเขา และลาออกจากงานประจำมาผลิตคราฟท์เบียร์เต็มตัว แต่เมื่อเวลาผ่านไป กลับมีไม่กี่รายที่อยู่รอด (ถ้าทำแบบถูกกฎหมายไทย ยิ่งต้องใช้ทุนมากจึงรอดได้) ซึ่งคนที่อยู่รอดได้ ต้องเก่งเรื่องการตลาด และมีความอดทนระดับหนึ่ง 

อย่างไรก็ตาม 'กาญจน์' บอกว่า สำหรับเขาแล้ว ทำเพราะเป็นสิ่งที่ชอบส่วนตัว แต่เขาก็ยังต้องทำงานประจำเป็นธุรกิจของครอบครัวด้วย และอยากสื่อสารว่า เบียร์ ถ้าไม่มองว่ามันเป็นของมึนเมา และยิ่งเป็นคราฟ์ เบียร์ ที่คนทำต้องลองผิดลองถูกคิดสูตรก่อนจำหน่าย ถ้ามองว่ามันคือศิลปะแขนงหนึ่ง และเป็นการลิ้มรสชาตที่คนผลิตใส่ส่วนผสมต่างๆ เข้า การกินด้วยความรู้สึกแบบนั้น ก็น่าจะสร้างอรรถรสที่ดีกว่าได้


"เหมือนเราจิบไวน์ เราคงไม่จิบกันจนเมามาย เบียร์ถ้าเราไม่ได้กินเพื่อหวังจะเมา แต่ต้องการลิ้มรสว่าคนผลิตต้องการใส่อะไรเข้ามา ถ้าเกิดกินด้วยความรู้สึกแบบนั้น อาจให้อรรถรสที่ดีกว่า" กาญจน์ กล่าวทิ้งท้าย

พร้อมความหวังว่า เมื่อการเมืองเปลี่ยน กฎกติกาในประเทศไทยจะเปิดให้ผู้ผลิตเบียร์รายย่อยได้ส่องแสงสว่างและเติบโตในประเทศได้มากกว่าที่ผ่านมา