ไม่พบผลการค้นหา
'จุรินทร์'เผยผลประชุม ศบศ.แจ้ง 'ภูเก็ต' ฉีดวัคซีนครบแล้ว พร้อมเร่งวัคซีนอีก 6.3 หมื่นโดสให้พังงา ก่อนลุยเปิด “อันดามัน แซนด์บ็อกซ์” ภูเก็ต-พังงา-กระบี่ 1 ส.ค.นี้ ด้าน โฆษก ศบศ.เผยนายกฯ ปลื้ม 'ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์' ยอดจองห้องพัก 2 แสนคืน มีรายรับกว่า 534 ล้าน

วันที่ 22 ก.ค. 2564 จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ครั้งท่ี 3/2564 ว่า ในการประชุมวันนี้ตนได้แจ้งให้ที่ประชุม ศบศ. ทราบว่ากระทรวงพาณิชย์ได้จับมือกับสภาหอการค้าไทยและสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ จัดงาน Phuket Jewelry Fair ในช่วงเดือน ก.ย.นี้ โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยประชาสัมพันธ์”ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งดึงผู้นำเข้าจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาด้วย ซึ่งการจัดงานนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการส่งออกและการท่องเที่ยวในเวลาเดียวกัน

โดยกำหนดการจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้อยู่ในช่วงการประชุมร่วมกันในรายละเอียดกับสภาหอการค้าและสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ นอกจากนั้นขณะนี้ถือว่าเป็นข่าวดีที่ภูเก็ตฉีดวัคซีนครบตามเป้าหมายแล้วจึงเปิดโครงการ ”ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ได้ ในขณะเดียวกันจังหวัดกระบี่ก็ฉีดวัคซีนได้ครบตามเป้าหมายในพื้นที่ที่จะเปิดการท่องเที่ยวได้แล้วเช่นกันคือที่ เกาะพีพี เกาะไหงและอ่าวไร่เลย์ ส่วนจังหวัดพังงายังขาดวัคซีนอยู่อีก 63,000 โดสจึงจะเปิดพื้นที่การท่องเที่ยวบางส่วนได้ เริ่มที่เขาหลัก เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ 

วันนี้ตนจึงขอให้มีการกำชับให้มีการเร่งส่งวัคซีนให้จังหวัดพังงาให้ครบตามเป้าหมาย เพื่อจะได้เปิดพื้นที่การท่องเที่ยว”อันดามัน แซนด์บ็อกซ์” 3 จังหวัด คือ ภูเก็ต กระบี่ พังงาได้ ในวันที่ 1 ส.ค. 2564 ตามกำหนดเวลาเดิม ซึ่งเหลือเวลาฉีดวัคซีนให้กับจังหวัดพังงาอีกประมาณหนึ่งสัปดาห์ โดยท่านนายกรับที่จะกำชับให้อีกทางหนึ่ง ส่วนเป้าหมายที่จะเปิดพื้นที่การท่องเที่ยวจังหวัดพังงาต่อไป คือ อ่าวพังงา โดยได้มอบให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยรับไปพิจารณาต่อไป

ประยุทธ์ ประชุม ศบศ -2A81-489E-A0B6-4DCCB6176062.jpeg

นายกฯ พอใจภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ รุกต่อ พังงา กระบี่ เริ่ม 1 ส.ค.นี้

ด้าน ธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (22 ก.ค. 2564) นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ครั้งที่ 3/2564 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

โดย พล.อ.ประยุทธ์ได้เน้นย้ำถึงความสำเร็จของโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ พร้อมชื่มชมการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชน โดยพบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมตั้งแต่วันที่ 1 – 21 ก.ค. 2564 รวม 9,358 คน ขณะที่ยอดการจองห้องพักตามมาตรฐาน SHA+ สะสมระหว่างเดือน ก.ค.ถึงเดือน ก.ย.ที่ 244,703 คืน คิดเป็นอัตราการเข้าพักร้อยละ 10.12 สร้างรายรับการท่องเที่ยว 534.31 ล้านบาท โดยที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัดในการร่วมมือกันเพื่อควบคุมการระบาดให้ดี 

ธนกร กล่าวว่า นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีฯ ได้เห็นชอบมาตรการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าร่วมภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เดินทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดภูเก็ตกับพื้นที่นำร่องอื่น (7+7) โดยนักท่องเที่ยวพำนักภายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นเวลา 7 วัน และสามารถเดินทางท่องเที่ยวและต้องพำนักในพื้นที่อื่น ๆ อีกเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า)

จังหวัดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง และไร่เล) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาวน้อย และเกาะยาวใหญ่) มีกำหนดเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดประสานภาคเอกชนและภาคประชาชนเพื่อสร้างความเข้าใจของคนในพื้นที่ร่วมกัน และพิจารณาจัดเตรียมแผนการดำเนินการบนระเบียบหลักเกณฑ์และมาตรฐานเดียวกับการดำเนินการของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพื่อมุ่งเน้นความปลอดภัยและการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่

นอกจากนี้ยังมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จัดทำรายละเอียดแผนการเชื่อมโยงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางระหว่างจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่นำร่องอื่น เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ศบค. พิจารณาต่อไป และให้พิจารณาจัดทำแผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อนำเสนอให้ที่ประชุม ศบศ. และ ศบค. พิจารณาต่อไป

ธนกร กล่าวอีกว่า ในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย ตามข้อเสนอของทีมปฏิบัติการเชิงรุกทาบทามทั้งบริษัทเอกชนไทยและต่างประเทศ โดยการปรับข้อจำกัดต่าง ๆ และอำนวยความสะดวก เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว ประกอบด้วย

(1) กลุ่มประชากรโลกที่มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy global citizen)

(2) ผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy pensioner)

(3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work-from-Thailand professional)

และ (4) กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ (High-skilled professional) โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาข้อเสนอในรายละเอียดต่อไปแล้ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง