นักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง (NTU) ประเทศสิงคโปร์ พยายามแก้ปัญหาขยะอาหารด้วยการเปลี่ยนเปลือกทุเรียนเป็นพลาสเตอร์ปิดแผลแบบไฮโดรเจล
กระบวนการนี้เริ่มจากการนำเปลือกทุเรียนไปแช่แข็ง แล้วนำมาสกัดแป้งเซลลูโลสออกจากเปลือกของทุเรียน จากนั้นผสมกับกลีเซอรอลเพื่อให้กลายเป็นไฮโดรเจล แล้วจึงตัดเป็นแผ่นๆ ทำเป็นพลาสเตอร์ปิดแผล เมื่อเปรียบเทียบที่ปิดแผลธรรมดากับที่ปิดแผลไฮโดรเจลที่มหาวิทยาลัยนันยางผลิต พลาสเตอร์ปิดแผลจากทุเรียนนอกจากจะฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้แล้ว ยังช่วยให้บริเวณบาดแผลเย็นและชุ่มชื้น ส่งผลให้แผลสมานเร็วขึ้น
“ที่สิงคโปร์เรากินทุเรียนกันประมาณ 12 ล้านลูกต่อปี นอกจากกินเนื้อทุเรียน เราก็ไม่ได้ทำอะไรกับเปลือกและเมล็ดที่ถูกทิ้งกลายเป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม”
วิลเลียม เชน ผู้อำนวยการโครงการวิทยาศาสตร์การอาหารและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง กล่าวว่า เทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจลนี้ยังสามารถใช้กับขยะอาหารชนิดอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ถั่วเหลืองและธัญพืชต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศลดปริมาณขยะอาหารได้
สำนักข่าวรอยเตอรส์รายงานว่าการใช้ขยะอาหารและยีสต์ในการผลิตที่ปิดแผลกันเชื้อโรคคุ้มค่ากว่าการผลิตที่ปิดแผลแบบทั่วไปที่ใช้ส่วนประกอบจากโลหะอย่างเงินและทองแดงในส่วนของการป้องกันเชื้อโรค อย่างไรก็ตามรอยเตอรส์ไม่ได้รายงานเรื่องกลิ่นของพลาสเตอร์ปิดแผลที่ทำจากทุเรียน
ที่ผ่านมาสิงคโปร์อยู่ใน Top 20 อันดับของประเทศที่ลงทุนพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนาสูงที่สุดในโลก ปีที่แล้วรัฐบาลสิงคโปร์จัดสรรงบประมาณกว่าหกแสนล้านบาท ลงทุนในแผนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่คาดว่าจะช่วยให้สังคมและเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์พ้นวิกฤตโควิด-19 และอุปสรรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยแผนนี้มุ่งพัฒนา 4 ประเด็นหลักภายในระยะเวลาห้าปี ได้แก่ สุขภาพ ความยั่งยื่น เศรษฐกิจดิจิทัล และการผลิต
อ้างอิง:
https://statisticsanddata.org/data/top-countries-by-research-and-development-expenditure/