ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ ลงมติไม่ต่อใบอนุญาตให้กับ ‘เอบีเอส-ซีบีเอ็น’ (ABS-CBN) เครือข่ายโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่ของประเทศที่มักรายงานข่าววิพากษ์วิจารณ์นโยบายของประธานาธิบดี ‘ดูแตร์เต’ ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่านี่คือการใช้อำนาจจำกัดเสรีภาพสื่อ

คณะกรรมาธิการด้านสัมปทานของสภาผู้แทนราษฎรฟิลิปปินส์ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยพันธมิตรทางการเมืองของประธานาธิบดี ‘โรดริโก ดูแตร์เต’ ลงมติด้วยคะแนน 70-11 ปฏิเสธคำร้องขอต่อใบอนุญาตสัมปทานอีก 25 ปี ให้กับเอบีเอส-ซีบีเอ็น คอร์ป ด้วยเหตุผลว่าเป็นการไม่สมควร โดยก่อนหน้านี้ เอบีเอส-ซีบีเอ็น ซึ่งดำเนินกิจการกิจการสถานีวิทยุและโทรทัศน์นับสิบแห่งได้ถูกสั่งจอดำยุติการออกอากาศหลังใบอนุญาตหมดอายุเมื่อวันที่ 4 พ.ค.

ฝ่ายวิจารณ์รัฐบาลมองว่าการตัดสินใจไม่ยอมต่อใบอนุญาตสัมปทานกิจการครั้งนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการที่ช่องดังกล่าววิพากษ์วิจารณ์ดูแตร์เต รายงานข่าวของเอบีเอส-ซีบีเอ็น เกี่ยวกับปฏิบัติการสงครามปราบปรามยาเสพติดของรัฐบาลดูแตร์เตที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปนับพันคนได้สร้างความไม่พอใจให้กับผู้นำฟิลิปปินส์ และสถานีดังกล่าวยังเคยถูกดูแตร์เตกล่าวหาว่าเข้าข้างคู่แข่งของเขาหลังสื่อใหญ่ปฏิเสธออกอากาศโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของเขาเมื่อปี 2559 อีกด้วย ซึ่งนักกิจกรรมเพื่อสิทธิพลเมืองชี้ว่า การตัดสินใจไม่ต่อใบอนุญาตครั้งนี้เป็นเหมือนสัญญานเตือนไปยังนักข่าวในประเทศว่าจะมีการกลั่นแกล้งทางการเมืองรออยู่ข้างหน้าหากพวกเขาวิจารณ์ดูแตร์เต รัฐบาล รวมถึงพันธมิตรและครอบครัวของผู้นำฟิลิปปินส์มากเกินไป 

‘ฟิล โรเบิร์ตสัน’ รองผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชียระบุว่า นี่เป็นวันอันมืดมนของเสรีภาพสื่อในฟิลิปปินส์ซึ่งก่อนหน้านี้เคยถูกมองเป็นป้อมปราการแห่งเสรีภาพสื่อและประชาธิปไตยในภูมิภาค การโหวตไม่ต่อใบอนุญาตเป็นการแสดงออกที่น่าตกใจถึงพฤติกรรมสอพลอของสมาชิกรัฐสภา เป็นการคุกเข่าให้ดูแตร์เตด้วยการเห็นชอบจำกัดเสรีภาพสื่ออย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตาม โฆษกของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ยืนยันว่า ดูแตร์เตมีจุดยืนเป็นกลางในกรณีการต่อใบอนุญาตของเอบีเอส-ซีบีเอ็น และปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของรัฐสภา

เอบีเอส-ซีบีเอ็น ก่อตั้งเมื่อปี 2496 เคยถูกปิดไปในช่วงการปกครองของอดีตผู้นำเผด็จการ ‘เฟอร์ดินาน มาร์กอส’ ก่อนจะกลับมาเปิดอีกครั้งหลังมาร์กอสถูกโค่นอำนาจในปี 2529 โดยเอบีเอส-ซีบีเอ็น สามารถเข้าถึงประชากรกว่า 15 ล้านครัวเรือนในประเทศผ่านสื่อทีวี วิทยุและออนไลน์ และมีพนักงานในเครือราวๆ 11,000 คน อย่างไรก็ตาม สื่อยักษ์ใหญ่แห่งนี้ยังสามารถยื่นอุทธรณ์มติของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ 

แม้เสรีภาพสื่อได้รับการรับรองภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่องค์กรฟรีดอมเฮ้าส์ได้จัดให้ฟิลิปปินส์เป็นหนึ่งในประเทศที่อันตรายที่สุดสำหรับนักข่าว ข้อมูลจากองค์การนักข่าวไร้พรมแดนระบุว่านักการเมืองในท้องถิ่นมักจ้างมือปืนปิดปากสื่อโดยที่ผู้จ้างลอยนวลจากการรับผิดโดยสิ้นเชิง ส่วนเมื่อเดือนที่แล้วศาลฟิลิปปินส์ก็ได้ตัดสินให้ ‘มาเรีย เรสซา’ บรรณาธิการเว็บไซต์ข่าว 'แรปป์เลอร์' (Rappler) มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ซึ่งถูกมองจากหลายฝ่ายว่าเป็นความพยายามในการปิดปากสื่อดังกล่าวที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล

ทั้งนี้ ผลการจัดอันดับเสรีภาพสื่อขององค์กรนักข่าวไร้พรมแดนชี้ว่าฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับ 136 จาก 180 ประเทศ 

อ้างอิง BBC / AP / The Straits Times