ทั้งนี้ การปะทะกันเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมากินเวลาประมาณ 2 วัน และสิ้นสุดลงด้วยการเจรจาไกล่เกลี่ยซึ่งมีรัสเซียและฝรั่งเศสเข้ามามีส่วนร่วม ตามมาด้วยข้อตกลงหยุดยิงจากฝ่ายอาร์เมเนียในวันพุธที่ผ่านมา (15 ก.ย.) โดยการปะทะกันในครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตรวมแล้วประมาณ 100 ราย เป็นนายทหารของทั้ง 2 ฝ่าย
อาร์เมเนียเป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับรัสเซีย ทำให้รัสเซียมักวางตัวเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งรวมถึงความขัดแย้งในครั้งนี้ด้วย ฮันนา นอตต์ นักวิจัยจากศูนย์วิจัยการปลดอาวุธและไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่อาเซอร์ไบจานตัดสินใจยั่วยุอาร์เมเนียจนเกิดเหตุการณ์รุนแรงในครั้งนี้มีสงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นปัจจัยหนึ่ง โดยอาร์เซอไบจานเห็นว่า รัสเซียกำลังยุ่งอยู่กับสงครามในยูเคร นและไม่น่าให้การช่วยเหลืออาร์เมเนียได้มากเท่าที่ควร ซึ่งจะทำให้ฝ่ายตนได้เปรียบมากขึ้น
ทั้งนี้ ภายหลังจากสถานการณ์บริเวณพรมแดนอาร์เมเนีย-อาเซอร์ไบจานสงบลงแล้ว แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนกรุงเยเรวาน ประเทศอาร์เมเนียโดยเพโลซีถือเป็นเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ ที่มีตำแหน่งสูงที่สุด เท่าที่เคยเดินทางเยือนอาร์เมเนีย นับตั้งแต่อาร์เมเนียแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต
ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.) เพโลซีได้ทำการประณามการกระทำของอาเซอร์ไบจาน โดยเรียกการโจมตีบริเวณชายแดนว่าเป็น “เรื่องที่ผิดกฎหมาย”
เพโลซีกล่าวว่า การเยือนอาร์เมเนียของเธอในครั้งนี้สำคัญอย่างยิ่ง หลังจาก “การโจมตีที่รุนแรงและละเมิดกฎหมายโดยอาเซอร์ไบจาน บนดินแดนของอาร์เมเนีย” เธอกล่าวว่า การโจมตีเป็น “การละเมิดอำนาจอธิปไตยของอาร์เมเนีย”
“ความขัดแย้งนี้เริ่มต้นโดยฝ่ายอาเซอร์ไบจาน ต้องระลึกถึงเรื่องนี้เอาไว้” เพโลซีกล่าว
โดยคำกล่าวของเพโลซีนี้ มาจากการที่รัฐบาลอาร์เมเนียระบุว่า รัฐบาลอาเซอร์ไบจานได้ทำการวางระเบิดชุมชนของอาร์เมเนีย 6 ชุมชน ในวันที่ 13 ก.ย. ทำให้อาร์เมเนียจำเป็นต้องตอบโต้
รัฐบาลอาเซอร์ไบจานได้มีการตอบโต้เพโลซีในเวลาต่อมา “คำกล่าวหาที่ไม่มีมูลและไม่เป็นธรรมของเพโลซีที่มีต่ออาเซอร์ไบจานนั้นเป็นสิ่งที่รับไม่ได้” กระทรวงการต่างประเทศอาเซอร์ไบจานแถลง “สิ่งนี้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความพยายามที่จะปรับความสัมพันธ์ระหว่างอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจาน”
ที่มา: