ไม่พบผลการค้นหา
ปัจจุบันมีเด็กที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยกว่าแสนชีวิต ได้รับสิทธิจากรัฐเพียงเรื่องเดียวคือ ‘การศึกษา’ ขณะที่สิทธิในมิติอื่นพวกเขายังไม่สามารถเขาถึงได้ เพราะพวกเขาไร้สถานะทางทะเบียนราษฎร์ เราเรียกเด็กกลุ่มนี้ว่า ‘เด็กรหัส G’ ชีวิต และอนาคตของพวกเขาจะดีขึ้นได้ หากถูกมองเห็น และให้ความสำคัญ

ขึ้นเหนือเลาะเลี้ยวไปตามแนวเขา กว่า 180 กิโลเมตรจากตัวเมืองเชียงใหม่ มุ่งหน้าไปยังอำเภอแม่อาย เขตติดต่อประเทศเพื่อนบ้าน บรรยากาศช่วงเช้า ในพื้นที่เล็กๆ ของโรงเรียนขนาดกลาง กลิ่นไอดินอบอวน ผสานเสียงเด็กเจี๊ยวจ๊าว เคล้าไปกับเสียงฝนที่โปรยมาไม่ขาดสาย 

ยิ่งใกล้ช่วงเวลาเคารพธงชาติ จำนวนเด็กก็เพิ่มมากขึ้น บางคนสวมชุดนักเรียนสีขาว บางคนใส่ชุดกีฬา และบางคนสวมชุดชาติพันธุ์ ทุกคนเร่งฝีเท้าเข้าอาคารหลบฝน วันนี้กิจกรรมหน้าเสาธงสั้นกระชับกว่าทุกวัน

เสียงร้องเพลงชาติ ดังไล่ตามอาคาร ช้าบ้าง เร็วบ้างตามประสาเด็ก ไม่นานทั้งหมดก็เข้าห้องเรียน เปิดหนังสือ หยิบปากกาดินสอ เรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่นี่เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีนักเรียนประมาณ 580 คน จากหลายกลุ่มชาติพันธ์ รวมทั้งเด็กสัญชาติไทยด้วย

พวกเขามีสิทธิเข้าถึงบริการด้านศึกษาของรัฐได้ไม่ต่างกัน สิทธินี้ถูกรับรองโดย พ.ร.บ.การศึกษา 2548 และมติ ครม. ปี 2548 ซึ่งให้สิทธิกับเด็กไร้สัญชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศได้รับบริการด้านการศึกษาจากรัฐ แต่สิทธิด้านอื่นกลับแตกต่าง เพราะเด็กบางคนยังไม่ถูกนับว่ามีตัวตน ภายใต้ปัญหาไร้สถานะ การศึกษาเป็นเพียงสิ่งเดียวที่พวกเขาได้รับจากรัฐ เด็กกลุ่มนี้ถูกเรียกว่า 'เด็กรหัส G' ในจำนวนเด็ก 580 คนในโรงเรียนแห่งนี้มีเด็กรหัส G อยู่ประมาณ 80 คน

อย่างไรก็ตามการขึ้นทะเบียนเด็กรหัส G เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาบุคคลไร้สัญชาติ โดยรัฐไทยได้กำหนดให้ ใช้ระบบกำหนดรหัสให้บุคคลที่ไม่มีตัวตนในทะเบียนราษฎร เพื่อรับรองตัวตนของเด็กในโรงเรียน ซึ่งมีผลต่อการจัดสรรงบประมาณด้านการเรียนการสอน และสวัสดิการอาหารกลางวัน

แน่นอนว่า G CODE ไม่ถือว่ามีสถานะเทียบเท่ากับบัตรประชาน การจะได้รับสิทธิในด้านอื่นๆ จากรัฐไทยจะต้องดำเนินการตรวจสอบสิทธิเพิ่มเติม เพื่อให้พวกเขาได้รับ 'บัตรหัวศูนย์' หรือบัตรประจำบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน โดยมีหลักเกณฑ์คือ จะต้องเป็นเด็กที่เกิดในประเทศไทย มีถิ่นอาศัยถาวรในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้รับสิทธิด้านการรักษาพยาบาลผ่านกองทุนคืนสิทธิ การเดินทางออกนอกเขตพื้นที่โดยไม่มีผิดกฎหมาย และสามารถยื่นคำร้องขอสัญชาติไทยได้ต่อไปในอนาคต

ข้อมูลที่สืบค้นได้ล่าสุดพบว่า ในปี 2564 มีเด็กรหัส G อยู่ประมาณ 72,000 คน แต่ในปี 2566 กลับพบว่ามีจำนวนสูงขึ้นถึง 130,000 คน โดยจำนวนมากกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ และจังหวัดแนวชายแดนเช่น เชียงใหม่ เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน และกาญจนบุรี  

แม้ที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานจากรัฐ แต่กลับพบว่าการดำเนินการเป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากความไม่เข้าใจรายละเอียดด้านการทำทะเบียนประวัติของเจ้าหน้าที่รัฐ และมากไปกว่านั้นคือ พวกเขายังไม่ได้รับการให้ความสำคัญมากเท่าที่ควร 

เด็กไร้รัฐเด็กไร้รัฐเด็กไร้รัฐเด็กไร้รัฐเด็กไร้รัฐ


ความล่าช้า ระเบิดเวลาที่มองไม่เห็น 

“หนูต้องพยายามไม่ป่วยหนัก เพราะถ้าต้องเข้าโรงพยาบาลพ่อแม่เขาไม่มีเงิน ที่ผ่านมาถ้าป่วยไม่สบายต้องซื้อยากินเอง ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็ไปได้แค่คลีนิค” นี่คือคำตอบของ นิด (นามสมมติ) เด็กสาววัย 15 ปี เมื่อถามถึงข้อจำกัดในสิทธิด้านการรักษาพยาบาล

เธอเป็นหนึ่งในเด็กกลุ่มเด็กไร้สัญชาติ ที่ยังคงรอการขึ้นทะเบียนเพื่อรับบัตรหัวศูนย์ นิดเล่าว่า พ่อกับแม่ของเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในประเทศไทย ปัจจุบันเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม อาศัยอยู่กับนายจ้าง ปัญหาเรื่องสถานะบุคคลของเธอเกิดจากการไม่ได้แจ้งเกิดกับทางรัฐ เธอเกิดมาโดยมีหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด ไม่ได้เกิดที่โรงพยาบาล เนื่องจากพ่อกับไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน จึงไม่กล้าเข้าไปติดต่อราชการกับทางรัฐ นั่นหมายความว่านับตั้งแต่เกิดมา เธอไม่มีเคยมีตัวตนในระบบทะเบียนใดๆ ของรัฐไทย จนกระทั่งได้เข้าเรียนหนังสือ

นิด เล่าว่า การเป็นบุคคลไร้สถานะต่อเจอกับปัญหาหลายอย่าง นอกจากเรื่องการรักษาพยาบาลแล้ว โลกของเธอก็ถูกจำจัดให้อยู่ในพื้นที่อำเภอเท่านั้น การเดินทางออกนอกพื้นที่แม้จะทำได้ แต่ก็ต้องยื่นเรื่องของใบรับรองจากทางโรงเรียน โดยต้องมีเหตุจำเป็นจริงๆ เท่านั้น เช่นการไปสอบแข่งขัน การไปทัศนศึกษากับโรงเรียน แน่นอนว่า การเดินทางออกนอกพื้นที่โดยไม่มีใบรับรองอาจจะทำให้เกิดความยุ่งยากตามมา โลกที่เธอมองเห็นผ่านดวงตาจึงมีเพียงแค่ บ้าน โรงเรียน ภูเขา เรือกสวนไร่นาของพื้นที่ไม่กี่อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ 

ด้วยโลกที่เห็น และสถานะที่ถูกจำกัด ทำให้ความฝันสูงสุดของเด็กสาวคนนี้คือ การประกอบอาชีพเป็นคุณครูสอนหนังสือ แต่นั้นก็ดูจะเป็นสิ่งที่ยากเกินไป เพราะต่อให้เธอมีเงินทุนสำหรับการศึกษา และสามารถสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย และเรียนจบหลักสูตรรับใบปริญญาได้ แต่ด้วยสถานะที่ไร้ตัวตนก็จะทำให้เธอไม่สามารถที่จะเข้ารับการบรรจุเป็นข้าราชการครูได้ตามที่หวัง

“หนูคิดว่าถ้าไม่ได้จริงๆ ก็คงเรียนต่อสายอาชีพ ปวช. ปวส. เรียนที่เกี่ยวพวกโรงแรม แล้วไปทำงานในโรงแรม รีสอร์ตแทน”

การได้รับบัตรศูนย์หรือไม่ ถือเป็นเดิมพันขั้นแรกของเด็กสาวคนนี้ แต่การขึ้นทะเบียนเพื่อขอรับบัตรหัวศูนย์สำหรับเธอ ซึ่งมีการส่งเรื่องไปตั้งแต่ปีก่อนกลับติดขัด เพราะเจอปัญหาความผิดพลาดในการกรอกข้อมูลของเจ้าหน้าที่รัฐ

เด็กไร้รัฐเด็กไร้รัฐเด็กไร้รัฐ


เด็กติด G ตกค้าง ‘โรงเรียน-โรงพยาบาล-ฝ่ายปกครอง’ ขาดความเข้าใจ

สุมิตร วอพะพอ องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นเนล ประเทศไทย เคยให้สัมภาษณ์ระบุว่า เมื่อปี 2560 กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดแนวปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร์ของกลุ่มเด็กรหัส G ตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0309.1/ว. 7167 ลงวันที่ 21 ธ.ค. 2560 แต่ในทางปฏิบัติพบว่า อุปสรรคหลายประการในขั้นตอนการปฎิบัติงานจากหลายส่วน เนื่องจากต้องมีการประสานงานร่วมกันระหว่างกรมการปกครอง กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ลงนามรับรองสถานะของเด็ก จึงทำให้ใช้ระยะเวลานานในการกรอกข้อมูลเพื่อดำเนินการทางทะเบียนราษฎร์ จนทำให้เกิดภาวะตกค้าง คือ มีเด็กจำนวนหนึ่งสำรวจการศึกษาไปจากโรงเรียนเดิมแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้การแก้ไขปัญหาสถานะบุคคล โดยปัญหาที่พบประกอบด้วย 

1. รายชื่อเด็กบางรายที่เคยขึ้นทะเยีบนรหัส หายไปหลังจากมีการอัพเดทฐานข้อมูลรายปี 

2.แบบฟอร์มตรวจสอบสถานะเด็กนักเรียนที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยอักษร G มี 3 หน้า ทางอาจารย์ในโรงเรียนไม่เชี่ยวชาญด้านการซักประวัติ ทำให้ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อน 

3.ข้อมูลบิดามารดาที่นำเด็กไปเรียนในสถานศึกษามีความสับสน ปีหนึ่งใช้บัตรอย่างหนึ่ง พอปีต่อมากลับมีการเปลี่ยนสถานะหรือเปลี่ยนชื่อ 

4.ผู้อำนวยการบางโรงเรียนไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ 

5.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางแห่งไม่กล้าลงนามรับรองเพราะไม่รู้จักเด็ก กลัวว่าลงนามแล้วจะมีความผิด 

6.ผู้นำชุมชนบางรายไม่ยอมลงนามเพราะผิดใจกับผู้อำนวยการโรงเรียน หรือเพราะไม่ได้เป็นกรรมการสถานศึกษา 

7.ด้วยจำนวนเด็กที่มีมากและต้องตรวจสอบค่อนข้างละเอียด แต่ฝ่ายทะเบียนที่อำเภอมีเจ้าหน้าที่น้อยจึงทำไม่ทัน

อย่างไรก็ตามในปี 2562 ได้มีการออกหนังสือกระทรวงมหาดไทย ที่ มท 0309.1/ว.5784 ลงวันที่ 30 ก.ย. 2562 เพื่อปรับปรุงแก้ไขกระบวนการตรวจสอบยืนยันความถูกต้องในการรับรองการขึ้นทะเบียนให้รวดเร็วขึ้น แต่ปัญหาในระดับพื้นที่ยังมีอยู่ เช่น ภาระงานของครูในโรงเรียนต้องสอนตั้งแต่เช้าจนเย็น การต้องกรอกแบบฟอร์มตรวจสอบสถานะเด็กจึงคล้ายเป็นงานฝากของหน่วยงานอื่น ไม่ใช้ภารกิจหลัก ครูอาจไม่มีเวลามาทำได้เต็มที่หรือใช้วิธีให้การบ้านเด็กไปกรอกข้อมูลเองจนอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน หรือจำนวนของเจ้าหน้าที่ด้านทะเบียนในแต่อำเภอมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนข้อมูลที่ต้องบันทึกลงในระบบคอมพิวเตอร์

เช่นเดียวกันกับ สันติพงษ์ มูลฟอง มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล ซึ่งเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ ได้ชี้ให้เห็นปัญหาของขั้นตอนการลงทะเบียนขอรับบัตรหัวศูนย์ในปัจจุบัน ซึ่งทางโรงเรียนจะต้องกรอกข้อมูลสำหรับขึ้นทะเบียนรับบัตรหัวศูนย์ทั้งหมด 15 รายการ ต่อเด็ก 1 คน จากจะต้องส่งข้อมูลต่อไปยังอำเภอเพื่อทำการตรวจสอบ

แต่ด้วยภาระงานของอำเภอมีหลายส่วน และการจัดการตรวจสอบเอกสารต้องใช้เวลานาน หรือบางครั้งทางอำเภอก็ไม่กล้าที่จะรับรองสถานะของเด็ก เนื่องจากมีความกังวลว่า หากให้การรับรองแ้วก็ความผิดพลาดจะทำให้เกิดปัญหาทางคดีตามมา หรือบางครั้งก็เกิดปัญหาจากการกรอกข้อมูลผิดพลาดจากทางโรงเรียน ทั้งหมดนี้คือสภาพปัญหาปัจจุบันที่ทำให้การรับรองสถานะของเด็กรหัส G เป็นไปด้วยความล้าช้า

สันติพงษ์ จึงเห็นว่า หากมีการผสานความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ และภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสถานะบุคคล จะเครื่องมือที่ทำให้เด็กๆ ได้รับสิทธิ และศักดิ์ศรีกลับคืนมา

เด็กไร้รัฐเด็กไร้รัฐ


‘ห้องทะเบียนเคลื่อนที่’ ก้าวสำคัญแก้ปัญหาเด็กไร้รัฐ

กระทั่งในปี 2564 ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรปและยูนิเซฟ โรงเรียน องค์กรท้องถิ่น และภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสถานะบุคคล ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการลงทะเบียนและพัฒนาสถานะบุคคลให้แก่เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่ภาคเหนือ เนื่องจากเห็นว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีจำนวนเด็กรหัส G สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ 

โดยร่วมกันจัดทำโครงการห้องทะเบียนเคลื่อนที่ ซึ่งเริ่มต้นจากความร่วมมือระหว่าง  ครู เจ้าหน้าที่อำเภอ และตัวแทนจากภาคประชาสังคม เพื่อช่วยให้เด็กมีโอกาสได้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้เร็วยิ่งขึ้น โดยโรงเรียนทำหน้าที่เป็น “เจ้าบ้าน” ที่รับรองการมีตัวตนของเด็กในสถานศึกษาอย่างถูกกฎหมาย สร้างความไว้วางใจระหว่างครูและเด็ก ตลอดจนลดช่องโหว่จากการหาผลประโยชน์จากการทำบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน โดยมีองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่มาช่วยจัดเตรียมเอกสารข้อมูลของเด็ก ๆ เพื่อส่งมอบให้ทางอำเภอเพื่อ พิจารณา และอนุมัติต่อไป

ทั้งนี้หลังการเลือกตั้งปี 2566 ภายใต้การนำของ พันตำรวจเอก ทวี สออดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ดำเนินโครงการนำความยุติธรรมเข้าหาประชาชน แก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสัญชาติ พร้อมทั้งสนับสนุนเจ้าหน้าที่จากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกรมคุ้มครองสิทธิเด็กและเสรีภาพ ในการดำเนินการร่วมกับโครงการห้องทะเบียนเคลื่อนที่ด้วย  จึงทำให้ทิศทางการและประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลของเด็กรหัส G มีความเป็นไปที่ดีขึ้น 

สำหรับโรงเรียนต้นเรื่องก็ได้มีการเปิดจะกิจกรรมห้องทะเบียนเคลื่อนที่ไปแล้วเช่นกัน ในช่วงกลางเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา โดยครั้งนั้นเป็นการร่วมมือระหว่างกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคลล และ องค์การยูนิเซฟประเทศไทย ซึ่งถือเป็นความร่วมมือในการจัดทำโครงการห้องทะเบียนเคลื่อนที่กับหน่วยงานภาครัฐเป็นครั้งแรกโดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสถานะให้แก่เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในเขตจังหวัดเชียงใหม่ นับตั้งแต่ปี 2020 ยูนิเซฟให้การสนับสนุนเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ เช่น มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสถานะบุคคลให้กับเด็กกลุ่มเปราะบางในหลายพื้นที

ความร่วมมือในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ รมต.ทวี สอดส่อง ได้เข้ามารับตำแหน่งและมีนโยบายคืนสิทธิให้กับคนตกหล่น เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยให้ทุกกรมกองมาร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนเพื่ออำนวยความเป็นธรรมให้กับทุกคน

ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในครั้งนี้ถือเป็น การทำงานเชิงรุกที่ทำให้การทำงานเป็นไปได้อย่างรวดเร็วแ ละมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากได้กำลังเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐ เช่น ดีเอสไอ และ กรมคุ้มครองสิทธิเด็กและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ช่วยในการทำ case filing, review, fact finding (จากที่เคยมีเพียงอาสาสมัครชุมชนปฏิบัติในขั้นตอนดังกล่าว) อีกทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือในการกรอกแบบเอกสารต่างๆ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมาสามารถจัดการช่วยเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติขอเลข 13 หลักได้มากถึง 50 เคสในหนึ่งวัน

โดยขั้นตอนของโครงการเชิงรุกการขอ สำหรับเด็กที่มี G code student ดังนี้

1. สำรวจบัญชีรายชื่อของเด็ก G

2. รับคำร้อง ทร 31 แบบ 89 (ห้องทะเบียนเคลื่อนที่)

3. แยกประเภทกลุ่มเด็กตามรายเคส

4. ส่งคำร้องของเคสที่มีคุณสมบัติให้กับสำนักทะเบียนอำเภอ

(ความร่วมมือระหว่างองค์กรพันธมิตรในคร้้งนี้ ได้แก่ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล และภาคีเครือข่าย DSI กรมคุ้มครองสิทธิฯ และยุติธรรมจังหวัด และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน)