สนามกีฬาเวิร์ทเทอร์ซี (Wörthersee Stadium) ในประเทศออสเตรียมีที่นั่งจุคนได้ 32,000 คน ครั้งหนึ่งเคยเป็นหนึ่งในสนามแข่งฟุตบอลยูฟ่าปี 2018 ทว่าในวันนี้ถูกปกคลุมไปด้วยต้นไม้นานาพันธุ์ถึง 300 ต้น
ต้นไม้เหล่านี้ถูกขนย้ายมาจัดแสดงเป็นผลงานชื่อ 'ฟอร์ฟอเรสต์' (For Forest) หรือแปลเป็นภาษาไทยว่า 'เพื่อผืนป่า' โดยเปิดให้สาธารณชนเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ถึง 27 ตุลาคมนี้
เคลาซ์ ลิตมันน์ ศิลปินชาวสวิสเจ้าของโปรเจกต์ย้ายป่ามาไว้ในสนามฟุตบอลนี้ กล่าวว่านี่เป็นศิลปะจัดวาง (installation art) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาดป่ากลางสนามฟุตบอลฝีมือแม็กซ์ ไพนต์เนอร์ ศิลปินชาวออสเตรีย ตั้งแต่ลิตมันน์เห็นภาพนี้เมื่อ 30 กว่าปีก่อน เขาก็ตั้งใจว่าสักวันจะเนรมิตรภาพที่ราวกับโลกดิสโทเปียนั้นให้กลายเป็นความจริง
ภาพวาดดังกล่าวชื่อ ‘เสน่ห์ไม่รู้จบของธรรมชาติ’ (The Unending Attraction of Nature) เป็นภาพผู้คนเรียงรายกันแน่นสนามฟุตบอลเพื่อชมต้นไม้ ขณะที่พ้นจากสนามฟุตบอลไฟจะเห็นควันพิษจากโรงงานและอาคารต่างๆ ไพนต์เนอร์ผู้วาดรูปนี้ด้วยดินสอในปี 1970 ต้องการสร้างความตระหนักต่อภัยคุกคามสิ่งแวดล้อม ด้วยการแสดงภาพของโลกอนาคตที่วันหนึ่งต้นไม้จะหมดไปจากธรรมชาติ และต้นไม้ที่เหลืออยู่ถูกนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการในสนามฟุตบอล ให้ผู้คนพากันมาดูต้นไม้ซึ่งหาชมได้ยากยิ่ง
วิตมันน์ กล่าวว่าเป้าหมายของโปรเจกต์นี้ คือการท้าทายมุมมองที่เรามีต่อธรรมชาติและตั้งคำถามต่ออนาคตของผืนป่า
ขณะที่ภาพวาดของไพนต์เนอร์ถูกวาดขึ้นมาแล้วเกือบ 50ปี นิทรรศการซึ่งลิตมันน์ได้จัดแสดงขึ้นในจังหวะที่โลกกำลังเสียผืนป่าแอมะซอนไปด้วยไฟป่าและการลักลอบตัดไม้
เว็บไซต์ของโปรเจกต์ระบุว่า โปรเจกต์นี้ต้องการสร้างความตระหนักว่าธรรมชาติซึ่งเราไม่เห็นค่านั้น วันหนึ่งอาจกลายเป็นของหาอย่างต้องดั้นด้นไปชมเหมือนกับสัตว์บางชนิดที่เหลือให้เห็นแค่ในสวนสัตว์เท่านั้นแล้ว
ผู้สนใจนิทรรศการนี้สามารถเข้าชมได้ที่สนามกีฬาเวิร์ทเทอร์ซี ตั้งแต่เวลา 10 โมงเช้า ถึง 4 ทุ่มโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
สำหรับสนามกีฬาเวิร์ทเทอร์ซีนี้ ตั้งชื่อตามทะเลสาบเวิร์ทเทอร์ซีของเมือง และเป็นสนามเหย้าของทีมคลาเกินเฟิร์ต (Klagenfurt) ทีมฟุตบอลออสเตรีย โดยบรรดานักเตะของทีมจะย้ายไปเล่นเกมเหย้าที่สนามคาราวังก์เอินบลิก (Karawankenblick Stadium) ซึ่งอยู่ใกล้กัน จนกว่าจะสิ้นสุดการจัดแสดงในวันที่ 27 ตุลาคม
หลังสิ้นสุดการจัดแสดง ต้นไม้ทั้ง 300 ต้นจะถูกย้ายไปลงดินในพื้นที่ใกล้เคียงในลักษณะเดิม เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจและแหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ
ที่มา: For Forest / Guardian / Dezeen